"...ทั้งหมดคือฉากชีวิตทางการเมืองของ ‘บิ๊กป้อม’ ตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.ยุค ‘ทักษิณ’ นั่ง รมว.กลาโหมยุค ‘อภิสิทธิ์’ กระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจเมื่อรัฐประหารปี 2557 ผ่านมา 10 ปี ต้องตกระกำลำบากกลายเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ ครั้งแรก ขณะที่ ‘มือไม้’ ในองค์กรอิสระต่าง ๆ ทยอยเกษียณอายุราชการกันไปเกือบหมดแล้ว..."
ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่ผ่านมา บุคคลที่เรียกได้ว่า ‘บอบช้ำ’ ทางจิตใจมากที่สุดหนีไม่พ้น ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูก ‘พรรคเพื่อไทย’ ไสส่งไล่พ้นสถานะ ‘พรรคร่วมฯ’ กลายเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ ครั้งแรกในทางการเมือง
นอกจากเรื่องนี้ ยังถูก ‘ลูกน้องหัวแก้วหัวแหวน’ ดีดตัวออก เดินเกมลับร่วมจับมือกับ ‘ค่ายสีแดง’ ส่งคนไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอีกถึง 4 คน ทั้งที่ในอดีตเคยออกตัวกางปีกปกป้อง เมื่อครั้งเกิดรอยบาดหมางใน พปชร. กับปฏิบัติการ ‘ลับ ลวง พราง’ เลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ เมื่อปี 2564 มาแล้ว
ชื่อของ ‘บิ๊กป้อม’ ถูกพูดถึงครั้งแรกในช่วงปี 2547 เมื่อเขาถูกเสนอชื่อเป็น ผบ.ทบ. ในยุคที่นายกฯชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หลังจากนั้นเขาได้คอยสนับสนุนรุ่นน้อง ‘บูรพาพยัคฆ์’ ให้เติบโตเจริญก้าวหน้าในทางทหารเรื่อยมา กระทั่งเขาเกษียณราชการทหาร ได้ไปสมัครเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าวว่ากันว่า ‘นายใหญ่’ ไม่เห็นด้วยที่มีชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นผู้สมัครประธานกรรมการ ป.ป.ช. โดยอ้างว่า เป็นทหาร ไม่น่าจะมีความรู้ด้านกฎหมายมากนัก ทำให้ ‘คนสนิท’ คาบข่าวมาบอก ‘บิ๊กป้อม’ จึงถอนตัวจากการสมัคร และกลายเป็น ‘รอยแค้น’ ฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูก ‘ทักษิณ’ นำมาเล่าอีกครั้งในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วย
สำหรับฉากชีวิต ‘บิ๊กป้อม’ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในยุครุ่งโรจน์ทางการเมืองมาโดยตลอด นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 เขาถูกเชิญมานั่งเก้าอี้รองหัวหน้า คสช. แม้แต่การจัดตั้ง ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘บิ๊กป้อม’ ก็ถูกเชิญมาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ควบ รมว.กลาโหม คุมสรรพกำลังในกองทัพเบ็ดเสร็จ
ถ้าหลายคนยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554) ที่พลิกขั้วเป็นรัฐบาล หลังพรรคพลังประชาชน เครือข่าย ‘ค่ายสีแดง’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปนั้น นอกเหนือจาก ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ ที่เป็นก๊วนการเมืองสำคัญในการตีจาก ‘นายใหญ่’ ไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ด้วยวาทกรรม “มันจบแล้วครับนาย” แล้ว อีกหนึ่งคีย์แมนสำคัญหนีไม่พ้น ‘ลุงบ้านป่า’ ที่ดีลสารพัดบิ๊กเนมกองทัพมาสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังจากนั้น ‘บิ๊กป้อม’ ถูกแต่งตั้งเป็น รมว.กลาโหม
นับเป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก และกลายเป็นยุค ‘บูรพาพยัคฆ์’ เรืองอำนาจในกองทัพ และ ผบ.ทบ.ยุคถัดมาหลังจากนั้นเป็นนายทหารสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ รวมแล้วถึง 4 นาย เป็นเวลากว่า 8 ปี ระหว่างปี 2551-2559 จนมาสิ้นสุดในยุค พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.จากสาย ‘หมวกแดงรบพิเศษ’ และมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ‘ทหารคอแดง’ ยุคแรกขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่อ
ตัดภาพกลับมาในยุค ครม.ประยุทธ์ 1 ระหว่างปี 2558-2562 ช่วง 4 ปีแรก เรียกได้ว่า ‘บ้านป่ารอยต่อฯ’ ที่เป็นฐานบัญชาการหลักของ ‘บิ๊กป้อม’ หัวบันไดไม่เคยแห้ง มี ‘บิ๊กเนม-นักเลือกตั้ง’ เข้านอกออกใน ไปปรึกษาหารือ-เดินเกมทางการเมืองโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ ‘นักธุรกิจใหญ่’ หลายคน
ในช่วงเวลานั้นอยู่ในยุค ‘แม่น้ำ 5 สาย’ ได้แก่ คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ต่อมา สปช.หมดอายุ ได้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.) คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ได้ตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.มาดำเนินการต่อ) ได้ครอบคลุมการบริหารประเทศทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่การจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ที่เปรียบเสมือน ‘คัมภีร์’ ในการพัฒนาประเทศไทย ที่แกมบังคับให้รัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปต้องทำตาม
นอกจากแม่น้ำ 5 สายแล้ว พูดกันให้แซ่ดไปหมดว่า สนช.ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลไปนั่งเก้าอี้องค์กรอิสระต่าง ๆ ล้วนเห็นชอบ ‘คนใกล้ชิด-ลูกน้องเก่า’ ของ ‘ลุงบ้านป่าฯ’ แทบทั้งสิ้น ทำให้สารพัดคดีความที่มีการกล่าวหาคนใน คสช. แทบจะไม่เคยถูกหยิบยกมาพิจารณาเลยแม้แต่น้อย หรือถ้ามีก็รอดพ้นไปทุกราย
ถัดมาแม้ในยุค ครม.ประยุทธ์ 2 ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารปี 2557 ชื่อชั้นของ ‘บิ๊กป้อม’ ยังคงกระแสสูงอยู่ดี มีนักการเมืองหลายคนเข้านอกออกในบ้านป่ารอยต่อฯเช่นเดิม รวมถึง ‘ลูกน้องแสนรัก’ ที่คอย ‘เป่าหู’ เขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า มีสิทธิ์คว้าดาวฝันถึงเก้าอี้ ‘นายกฯ’ ได้ ทำให้ ‘ลุงบ้านป่าฯ’ ยังคงเดินหน้ากรุยทางให้ตัวเอง มีโอกาสไปถึงจุดนั้น แม้ว่า ‘2 น้องรัก’ จะเคยออกโรงเตือนแล้วหลายครั้งก็ตาม
สุดท้ายนำไปสู่จุดแตกหักและกลายเป็นรอยร้าวระหว่าง ‘พี่ใหญ่’ ที่ยึด พปชร. ส่วน ‘น้องคนเล็ก’ แตกออกมาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ห้ำหั่นกันทางการเมือง โดยเฉพาะในศึกเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา โดย พปชร. หอบ สส.เข้าสภาฯได้ 40 คน ส่วน รทสช. มี 36 คน โดยบทสรุปสุดท้ายของ ‘พี่น้อง 3 ป.’ หนีไม่พ้น ‘พี่ใหญ่’ ยังเดินหน้าเส้นทางการเมือง ส่วน 2 น้องรักถอยหลบฉากออกมาจนถึงปัจจุบัน
แม้จะมีจำนวน สส.ลดลงกว่าครึ่งหากเทียบกับปี 2562 แต่ ‘ลุงบ้านป่าฯ’ ยังคงเดินหน้าทำงานการเมืองต่อ ซึ่งช่วงเวลานั้นยังมี ‘ลูกน้องแสนรัก’ เคียงข้างคอยรับใช้ดูแลไม่ห่างเหินตั้งแต่ ครม.ประยุทธ์ 1 รวมถึงคอยวางแผนเดินเกมการเมือง หวังให้ ‘กลับขึ้นหลังเสือ’ อีกครั้ง
ทว่าความลับไม่มีในโลก เมื่อแวดวงการเมืองเมาท์กันให้แซ่ดว่า ‘ลูกน้อง’ คนนี้ ที่แท้คาบข่าวเอาแผนไปบอก ‘นายใหญ่’ เสียหมดสิ้น เพื่อหวังปูทางให้ตัวเองกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง เพราะดูทิศทางลมแล้ว หากยังปักหลักอยู่ พปชร.ต่อไปคงไม่รอด เมื่อ ‘ลุงบ้านป่าฯ’ รู้ข่าวก็ ‘ควันออกหู’ และเสียใจมาก ทำให้ต้อง ‘ตัดขาด’ กับลูกน้องคนดังกล่าวออกไป
ปัจจุบัน พปชร. มี สส.พปชร. ในมือของ ‘บิ๊กป้อม’ หลงเหลืออยู่ราว 25 คน จากทั้งหมด 40 คน โดยส่วนใหญ่ยังเป็น ‘กลุ่มบ้านใหญ่’ บางจังหวัด เช่น บ้านใหญ่สมุทรปราการ บ้านใหญ่เพชรบูรณ์ บ้านใหญ่สิงห์บุรี บ้านใหญ่สระแก้ว (สายขวัญเรือน เทียนทอง) เป็นต้น ที่เหลือเป็น สส.ภาคใต้บางส่วน ขณะเดียวกัน 2 ใน ‘4 กุมาร’ ได้คัมแบ็กกลับมานำพรรคอีกเป็นครั้งที่ 3 ได้แก่ อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา พปชร.ได้ประชุมใหญ่ และเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ โดย ‘บิ๊กป้อม’ ยังนั่งแท่นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม มีไพบูลย์ นิติตะวัน มือไม้ด้านกฎหมาย เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ส่วนบรรดารองหัวหน้าพรรคคือ ‘บ้านใหญ่’ ที่ยังอยู่ เช่น สันติ พร้อมพัฒน์ ตรีนุช เทียนทอง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รวมถึง ‘2 กุมาร’ อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นต้น
ทั้งหมดคือฉากชีวิตทางการเมืองของ ‘บิ๊กป้อม’ ตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.ยุค ‘ทักษิณ’ นั่ง รมว.กลาโหมยุค ‘อภิสิทธิ์’ กระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจเมื่อรัฐประหารปี 2557 ผ่านมา 10 ปี ต้องตกระกำลำบากกลายเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ ครั้งแรก ขณะที่ ‘มือไม้’ ในองค์กรอิสระต่าง ๆ ทยอยเกษียณอายุราชการกันไปเกือบหมดแล้ว
บทสรุปสุดท้าย ‘บิ๊กป้อม’ ยังจะประคับประคองเดินหน้าทางการเมืองต่อไปได้จนจบสมัย ‘รัฐบาลแพทองธาร’ หรือถึงจุดหนึ่งแล้วพร้อมจะปิดฉาก ‘พรรคเฉพาะกิจ’ ที่ตั้งมาหลังรัฐประหารปี 2557 ลงไป ต้องติดตาม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ ถึงจุดตกต่ำครั้งนี้ หนีไม่พ้น ‘นายใหญ่’ ที่คอนโทรลเกมอยู่หลังฉาก จนทำ พปชร.แตกร้าวได้สำเร็จนั่นเอง นับเป็นการ ‘ล้างแค้น’ 10-20 ปีก็ยังไม่สาย?