"...เหล่านี้คือข้อมูลโดยสังเขปของรัฐมนตรีหน้าใหม่ทั้ง 11 ราย บางรายเคยมีประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีมาก่อน แต่บางรายก็เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกไม่มีประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งบางรายยังมีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับรายการบัญชีทรัพย์สินซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ..."
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 1 จำนวน 35 ราย 41 ตำแหน่ง เป็นทางการ
- โปรดเกล้าฯ ครม.แพทองธาร 1 'ภูมิธรรม'ควบกลาโหม-'เฉลิมชัย' ทส.-น้องธรรมนัส ช่วยเกษตรฯ
- ผ่า ครม.ครอบครัว 'แพทองธาร' ใครเป็นใครส่งพี่น้อง-ลูก-เครือญาตินั่ง รมต.บ้าง?
ในบรรดารายชื่อ คณะรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 1 ทั้ง 35 รายดังกล่าว ถ้าไม่นับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใหม่ ที่เข้ามาแทน นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิฉัยให้พ้นตำแหน่งจากกรณีเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
จะพบว่ามีรัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐามาก่อน จำนวน 11 ราย ได้แก่
1. พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
2. นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5. นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
8. นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
9. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
10. นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
11. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นประวัติรัฐมนตรีหน้าใหม่ทั้ง 11 ราย มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
1. พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ภาพพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ จาก springnews
พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เกิด 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ชื่อเล่น เล็ก จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 31 (รุ่นเดียวกับพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
พลเอก ณัฐพล เคยรับราชการทหารเป็นผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ต่อมาเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก อาจารย์วิทยาลัยการทัพบก เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ในปี พ.ศ. 2558 เป็นรองเสนาธิการทหารบก พ.ศ. 2559 และหัวหน้าส่วนอำนวยการ สำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. 2559
พ.ศ. 2560 เป็นเสนาธิการทหารบก และเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2561 - 2563 จากนั้นจึงโอนย้ายมาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในพ.ศ. 2563 ในระหว่างนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) รองหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรรมการในคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
ภายหลังเกษียณอายุราชการ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
2. นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสรวงศ์ เทียนทอง เกิด 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ชื่อเล่น บอย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นบุตรคนโตของนายเสนาะ เทียนทอง กับนางอุไรวรรณ เทียนทอง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Johnson & Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา นายสรวงศ์สมรสกับ นางญาณิกา เทียนทอง (สกุลเดิม : ธงพานิช) มีบุตร 2 คน
นายสรวงศ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้วครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ในสังกัดพรรคประชาราช ซึ่งมีนายเสนาะ เทียนทอง บิดา เป็นหัวหน้าพรรค และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม ในสังกัดพรรคเพื่อไทย
นายสรวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แทนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แทนนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในระหว่างรักษาการ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในปี 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสระแก้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในขณะที่สมาชิกในตระกูลเทียนทองคนอื่นๆ เช่น นายฐานิสร์ เทียนทอง และ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่นายสรวงศ์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ในปี 2566 ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสระแก้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
3. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เกิด 29 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นบุตรสาวของนางวิไล สอาดโฉม สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ประยุกต์) และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นางนฤมล สมรสกับนายจุมพล ภิญโญสินวัฒน์ มีบุตร-ธิดา 2 คน
นางนฤมล ได้เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรค และได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาภายหลังลาออกจากตำแหน่งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 นางนฤมลได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกและทุกตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ และวันที่ 3 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 255/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนางนฤมลเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
4. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เกิด 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497 จบการศึกษา ปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา 5 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนตามลำดับ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย (ครม.53) และยังเป็นหนึ่งในสมาชิก ส.ส.กลุ่ม 16
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 นายอิทธิได้สนับสนุนบุตรชาย คือ นาย อรรถกร ศิริลัทธยากร ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ จากนั้นในปี พ.ศ. 2567 มีกระแสข่าวว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เตรียมส่งชื่อของนายอิทธินั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทนนายอรรถกรในโควตาคนนอก หลังจากที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่นำพรรคพลังประชารัฐมาเข้าร่วมรัฐบาล โดยนายอิทธิได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว และได้กรอกเอกสารคุณสมบัติรัฐมนตรีแล้ว
5. นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอัครา พรหมเผ่า เกิด 9 เมษายน พ.ศ. 2515 น้องชายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะบริหารธุรกิจ TAFE Sydney Institute ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ในหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายอัคราเคยเป็นประธานกรรมการ บริษัท เดอร์ เมซ (ไทยแลนด์) จำกัด, หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณเภรี, ที่ปรึกษาบริษัทในเครือธรรมนัส กรุ๊ป, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สบายใจมาร์เก็ต จำกัด เป็นต้น
นายอัคราเคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา 2 สมัย ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 โดยลงสมัครในนามกลุ่มฮักพะเยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น ก่อนจะลาออกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2567 แม้พรรคเพื่อไทยจะวางตัวอัคราให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา ต่ออีก 1 สมัย ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2567 แต่นายอัคราก็หันไปสนับสนุนผู้สมัครอีกคน คือ นายธวัช สุทธวงค์ ให้ดำรงตำแหน่งแทน
ทั้งนี้นายอัครา แจ้งรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 โดยแจ้งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 34,473,723 บาท และแจ้งมีหนี้สิน 3,883,546 บาท
6. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เกิด 7 มีนาคม พ.ศ. 2508 ชื่อเล่น ต่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรของนายหลียักหมิ่น แซ่ลี และนางหลวย ศรีอ่อน สมรสกับนางธันยวีร์ ศรีอ่อน มีบุตร 1 คน คือ นายสรวิศ ศรีอ่อน
นายเฉลิมชัย สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี ระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายและการวางแผน จากมหาวิทยาลัยเกริก และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
นายเฉลิมชัย เริ่มต้นเส้นทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สจ.) ในปี พ.ศ. 2533 – 2543 เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พ.ศ. 2538 – 2540) และเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2554
นายเฉลิมชัย ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ต่อมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแทนนายไพฑูรย์ แก้วทอง
นายเฉลิมชัย ลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 สมาชิกพรรคก็ได้ลงมติให้นายเฉลิมชัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายเฉลิมชัยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ประธานกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
นอกจากนี้ นายเฉลิมชัยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 5 ก.ย.2566 ทรัพย์ทั้งสิ้น 102,537,251.90 บาท หนี้สินรวม 10,530,000 บาท และก่อนหน้านี้ในช่วงรับตำแหน่ง สส.วันที่ 22 ม.ค.2551 นายเฉลิมชัยแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. มีทรัพย์สิน 18,735,944.44 บาท นางธันยวีร์ ศรีอ่อน คู่สมรส มีทรัพย์สิน 33,750,595.68 บาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะมีทรัพย์สิน 2,902,369.02 บาท รวมทั้งสิ้น 66,375,461.20 บาท แจ้งว่ามีที่ดิน 9 แปลง เนื้อที่ 155-0-87ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 4933 ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 29-2-40 ไร่ มูลค่า 1,500,000 บาท และที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่ 2233/49 ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 120 ไร่ มูลค่า 3,600,000 บาท ส่วนนางธันยวีร์แจ้งว่ามีที่ดิน 9 แปลง เนื้อที่ 37-2-09 ไร่
ต่อมาในการยื่นบัญชีฯกรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วันที่ 7 มิถุนายน 2553 นายเฉลิมชัยแจ้งว่ามีที่ดิน 8 แปลง เนื้อที่ 5-3-17 ไร่ มูลค่า 14,530,000 บาท ขณะที่นางธันยวีร์แจ้งว่ามีที่ดิน 16 แปลง เนื้อที่ 97-0-18ไร่ มูลค่า 22,000,000 บาท
ที่ดินของนายเฉลิมชัย ที่หายไปคือ ที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 4933 ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 29-2-40 ไร่ มูลค่า 1,500,000 บาท และที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่ 2233/49 ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 120 ไร่ มูลค่า 3,600,000 บาท ที่ดินของนางธันยวีร์ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ที่ดินใน อ.ปราณบุรี 6 แปลง อ.สามร้อยยอด 2 แปลง และ อ.หัวหิน 1 แปลง
น่าสังเกตว่าที่ดิน น.ส.3 ก.และที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 2 แปลงเนื้อที่ 149-2-40 ไร่ รวมมูลค่า 5,100,000 บาท (มูลค่าที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.) ของนายเฉลิมชัย มิได้ปรากฏในรายการทรัพย์สินของบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะของนายเฉลิมชัยที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. วันที่ 7 มิ.ย.53 และครั้งต่อๆมาแต่อย่างใด และในการยื่นบัญชีฯครั้งล่าสุด ไม่ปรากฏมีที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 2 แปลงนี้ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 นายเฉลิมชัย ชี้แจงกรณีถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว ทาง ป.ป.ช.ก็เข้าไปตรวจแล้ว สามารถชี้แจงได้
7. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2504 เป็นบุตรของนายรณชัย กับนางสุวรรณี นริพทะพันธุ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายพิชัย สมรสกับนางธัญยธรณ์ นริพทะพันธุ์ เป็นทันตแพทย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายพชร นริพทะพันธุ์ นายสาริศฐ์ นริพทะพันธุ์ และนายนนท์นริฐ นริพทะพันธุ์
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอัญมณีและการส่งออก เจ้าของบริษัท เจมส์ควอลิตี้ จิวเวอร์รี่ จำกัด ต่อมาได้เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเป็นผู้สนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มขอนแก่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ต่อมาจึงได้หันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยแทน
ปี พ.ศ. 2551 นายพิชัย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช แทนร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยถูกจัดลำดับในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. เป็นลำดับที่ 124 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
นายพิชัยได้เป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย โดยได้ทำการดีเบตระหว่างโครงการรับจำนาข้าวตันละ 15,000 บาท กับโครงการรับประกันราคาช้าวกับนายวรงค์ เดชกิจวิกลม ผ่านรายการ "เจาะข่าวเด่น" ว่า การรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นอาจจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงและเป็นไปได้ว่าจะขึ้นมากกว่าราคาจำนำ ด้วยวิธีการเข้าไปควบคุมการตลาด ช่วงหนึ่งของการดีเบตนายพิชัยได้กล่าวไว้ว่า หลักการของเพื่อไทยคือความเป็นไปได้ที่จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และเสนอให้ใช้ระบบไอทีในการควบคุมการจำนำข้าว เพื่อป้องกันการทุจริต โดยใช้เครดิตการ์ดเกษตรกรเป็นสมาร์ทการ์ด แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องแจกบัตรเครดิตเกษตรให้กับชาวนาหลายล้านคน ซึ่งต้องใช้เวลา
ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลายปี พ.ศ. 2554 ระหว่างดำรงตำแหน่งได้ดำเนินการวางนโยบายและแผนพลังงานให้กับประเทศในทุกด้าน และในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 ได้ให้รัฐบาลใช้กระทรวงพลังงานที่ตั้งบนตึกเอนโก้เป็นศูนย์ป้องกันและช่วยเหลือน้ำท่วมหลังจากที่ที่ตั้งเดิมในสนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วมจนกระทั่งน้ำลด
ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลได้ร่วมกันตั้งฉายาให้นายพิชัยว่า "ไอเดียกระฉอก" เพราะตัวนายพิชัยมักจะมีไอเดียใหม่ๆ มานำเสนอต่อสังคมเสมอ แต่ไอเดียเหล่านั้นมักจะไม่ค่อยได้รับการตอบสนองหรือไม่ก็ไม่ค่อยจะเป็นไปตามที่นายพิชัยคาดการณ์ในขณะนั้น
ต่อมานายพิชัย ถูกปรับออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นได้ทำหน้าที่เป็นคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 9 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง
ในปี 2563 นายพิชัย ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
8. นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ชื่อเล่น ดีดา เป็นบุตรสาวคนที่ 2 ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ และนางเตือนจิตรา แสงไกร มีพี่น้องจำนวน 2 คน คือ นางสาวปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ (พี่สาว) และ นางสาวอัลฑริกา ไทยเศรษฐ์ (น้องสาว)
นางสาวซาบีดาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และจบปริญาโทในคณะเดียวกันจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในลอนดอน สหราชอาณาจักร
นางสาวซาบีดาสมรสกับ นายชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน โดยได้จัดงานฉลองมงคลสมรสเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี และมีบุคคลทางการเมืองเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นางสาวซาบีดาเคยเป็นหุ้นส่วนร่วมกับนางสาวอัลฑริกา ในห้างหุ้นส่วนจำกัด ชฎาอุทัยธานีทัวร์ ประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารประจำทาง นางสาวซาบีดาเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยที่นายชาดาบิดาดำรงตำแหน่ง และเป็นตัวแทนของบิดาในการทำงานและดูแลประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้สำข่าวอิศรายังนำเสนอข่าวกรณี นางสาวซาบีดา ได้แจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ท่าทรายหนองมะโมง ชาชีพ จำกัด ธุรกิจบ่อทรายและรับเหมาก่อสร้างในจ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ก่อนมีชื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
9. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (เกิด 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2522) ชื่อเล่น อิ่ม เป็นบุตรของนายวิบูล สำเร็จวาณิชย์ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง (พ.ศ. 2518) และนางทองดี สำเร็จวาณิชย์ มีพี่น้อง 8 คน
นางสาวธีรรัตน์สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง (University of Wollongong), Master of International Business และปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยเซนทรัลควีนส์แลนด์ (Central Queensland University), Professional Doctorate สาขา Education (Transdisciplinary Studies) ประเทศออสเตรเลีย
ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง นางสาวธีรรัตน์เคยทำงานอยู่แผนกพัฒนาบุคลากร ฝ่ายยุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้แก่ผู้บริหารระดับสูง ธนาคารกสิกรไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 20 (เขตลาดกระบัง)
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 นางสาวธีรรัตน์ลงสมัครรับเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 34,749 คะแนน ชนะนายชุมพล หลักคำ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลเพียง 4 คะแนน จึงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครเพียงคนเดียวของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่ สส. กทม. คนอื่น ๆ ในสภาชุดนี้ มาจากพรรคก้าวไกลทั้งหมด
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล), ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ
10. นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายเดชอิศม์ ขาวทอง เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2507 ชื่อเล่น ชาย สมรสกับนางจาราณกุมารี กุมแก้ว และมีบุตรนอกสมรส กับนางสาวสุภาพร กำเนิดผล รวมมีบุตร-ธิดา 6 คน 1 ในนั้นคือ นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา เขต 9
นายเดชอิศม์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายเดชอิศม์ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาจังหวัดสงขลา และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
และย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี พ.ศ. 2550 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ในปี 2564 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
ในปี 2566 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการเลือกตั้งมีบทบาทในการพยายามนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยการพบปะหารือกับนายทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศ
ต่อมาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค งดออกเสียงให้กับเศรษฐา ทวีสิน แต่ท้ายที่สุดนายเดชอิศม์กับสมาชิกในกลุ่มได้ลงมติสวนทางกับมติพรรคประชาธิปัตย์ โดยลงมติเห็นชอบให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี
11. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2529 ชื่อเล่น ขิง เป็นลูกชายคนที่ 2 ของนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ กับนางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยาคนปัจจุบันของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีพี่ชาย คือนายสิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์ (โขง) และน้องสาว คือ น.ส.ธีราภา พร้อมพันธุ์ (เข็ม) จบปริญญาตรี ควบปริญญาโทใน 2 สาขา EEM (Engineering, Economics and Management)จาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) สหราชอาณาจักร
นายเอกนัฏ เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรม โดยในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 นายเอกนัฏได้อยู่ในเหตุการณ์และเคียงข้างนายสุเทพตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ที่พัทยา
ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายเอกนัฏได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขต 29 (เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองค้างพลู)) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเขตเดียวกันกับ และได้รับเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 37,932 คะแนน
ต่อมา วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 นายเอกนัฏได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์โดยให้มีผลทันที ซึ่งมีกระแสข่าวว่า นายเอกนัฏเตรียมย้ายไปสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ
ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 นายเอกนัฏได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค
**************
เหล่านี้คือข้อมูลโดยสังเขปของรัฐมนตรีหน้าใหม่ทั้ง 11 ราย บางรายเคยมีประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีมาก่อน แต่บางรายก็เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกไม่มีประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งบางรายยังมีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับรายการบัญชีทรัพย์สินซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี
รัฐมนตรีใหม่ 11 รายนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ครม.แพทองธาร คณะผู้บริหารประเทศที่จะมาทำหน้าที่ดูแลประชาชนชาวไทย รัฐมนตรีเหล่านี้จะโชว์ผลงานทำงานเพื่อพัฒนาประเทศเป็นอย่างไร
ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด