"...ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย สายตรง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปคิดแบบนั้น หากเป็นแบบเดิมคงเรียบร้อยไปแล้ว แต่เพราะมีคำว่าหลักจริยธรรม หรือตีความมาก ทำให้เกิดการเสียเวลา แต่มีหลายคนคิดว่าไม่อยากให้เป็นประเด็น จึงเอาลูกหลาน คนรู้จัก คนมีความสามารถ เข้ามาทำงานแทน ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจะทำให้คนเก่ามีปัญหา..."
เตรียมนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ!
พลันที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘ครม.แพทองธาร 1’ จำนวน 35 คน เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยไทม์ไลน์หลังจากนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ประสานแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีชุดใหม่ เตรียมความพร้อมเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 ก.ย. 2567 เวลา 17.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน หลังจากนั้นเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 16 ก.ย. และจะมีการนัดประชุม ครม.นัดพิเศษ ในวันที่ 17 ก.ย. ผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้ทันการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว
ในจำนวนรัฐมนตรี 35 คน และ 1 นายกรัฐมนตรี ชุดใหม่นี้ ถือหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็น ‘ครม.ครอบครัว’ เพราะมีพ่อ-พี่น้อง-เครือญาติใกล้ชิด ถูกส่งเข้ามาเป็น ‘เสนาบดี’ ชุดนี้จำนวนมาก เป็นผลกระทบมาจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พ้นเก้าอี้นายกฯคนที่ 30 ทำให้การคัดเลือกบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีคราวนี้ ต้องผ่านการสแกนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างเข้มข้น
ประเด็นนี้ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย สายตรง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปคิดแบบนั้น หากเป็นแบบเดิมคงเรียบร้อยไปแล้ว แต่เพราะมีคำว่าหลักจริยธรรม หรือตีความมาก ทำให้เกิดการเสียเวลา แต่มีหลายคนคิดว่าไม่อยากให้เป็นประเด็น จึงเอาลูกหลาน คนรู้จัก คนมีความสามารถ เข้ามาทำงานแทน ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจะทำให้คนเก่ามีปัญหา
@ ภูมิธรรม เวชยชัย
ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าเป็น ครม.ครอบครัว ภูมิธรรม ยืนยันว่า พูดตรงนี้ไม่ได้ ให้รอผลการดำเนินการเสร็จสิ้นก่อน แต่ไม่อยากให้เอาคำว่าครอบครัวมาเกี่ยวข้อง เพราะวันนี้วัดคนที่ความสามารถเข้ามาทำงาน ใครมีความสามารถ จะคนในครอบครัว หรือคนคิดเห็นไม่เหมือนกัน หากมีศักยภาพก็เอาเข้ามาทำงาน
ไฉนสังคมถึงกังขาว่า ครม.ชุดนี้เป็น ‘ครม.ครอบครัว’ ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือ กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทย มีมติส่ง ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ผู้นำทางจิตวิญญาณค่ายสีแดง เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เสียงข้างมาก โหวต ‘อุ๊งอิ๊ง’ เป็นนายกฯคนที่ 31
ปัจจุบัน ‘อุ๊งอิ๊ง’ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเรื่องคุณสมบัติ และจริยธรรมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และองค์กรอิสระอื่น ๆ ในประเด็นถูก ‘ทักษิณ’ ในฐานะ ‘บิดา’ ครอบงำ-ครอบครองการทำงาน รวมถึงครอบงำพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคการเมืองไม่อิสระตามกฎหมายหรือไม่
นอกจาก ‘อุ๊งอิ๊ง’ แล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ รมช.มหาดไทย (มท.3) คนล่าสุด บุตรสาวคนกลางของ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ อดีต รมช.มหาดไทย โดยก่อนวันโปรดเกล้าฯบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 1 วัน ‘ชาดา’ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทำเนียบรัฐบาลว่า ได้ถอนตัวออกจาก ครม.แพทองธาร 1 และส่ง ‘บุตรสาว’ ไปเป็นแทน
มิใช่แค่ 2 บุคคลข้างต้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวม ‘รัฐมนตรี’ ที่ ‘พ่อ-พี่น้อง-เครือญาติ’ ผลักดันให้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี อย่างน้อย 6 ราย ดังนี้
1.ทักษิณ ชินวัตร (บิดา) ผลักดัน แพทองธาร ชินวัตร (บุตรสาว) เป็นนายกรัฐมนตรี
2.ชาดา ไทยเศรษฐ์ (บิดา) ส่งชื่อ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ (บุตรสาว) เป็น รมช.มหาดไทย
3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (พี่ชาย) อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ออกตัวเข้าร่วมรัฐบาล โดยหักกับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร.คนปัจจุบัน ส่งชื่อ อัครา พรหมเผ่า (น้องชาย) อดีตรองนายก อบจ.พะเยา มาเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ นั้นเป็นของ ‘มาดามแหม่ม’ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม (เปลี่ยนชื่อจากพรรคเศรษฐกิจไทย ของเครือข่ายผู้กอง) นักการเมืองในเครือข่าย ‘ก๊วนผู้กอง’
4.เนวิน ชิดชอบ (พี่ชาย) ครูใหญ่แห่งค่ายสีน้ำเงิน ยังคงมีบทบาทสูงใน ‘พรรคภูมิใจไทย’ โดยใน ครม.ชุดนี้ยังปรากฏชื่อ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ (น้องชาย) มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ ตำแหน่งเดิมเหมือนสมัยรัฐบาลเศรษฐา
5.วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า ‘เสี่ยแป้งมัน’ (พ่อ) นักธุรกิจการเมืองผู้กว้างขวางแห่งเมืองโคราช ยังคงส่ง ‘สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ (บุตรสาว) มาเป็น รมว.วัฒนธรรม
6.อิทธิ ศิริลัทยากร นักการเมืองรุ่นลายครามแห่ง จ.ฉะเชิงเทรา อดีต สส.กลุ่ม 16 เขาถูกผลักดันให้มาเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยปัจจุบัน อรรถกร ศิริลัทธยากร (บุตรชาย) สส.พปชร. เป็นหนึ่งนักการเมือง ‘กลุ่มผู้กอง’
@ อิทธิ ศิริลัทยากร
ที่น่าสนใจคือ ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ อยู่ภายใต้ร่มเงาของนักการเมือง ‘เครือข่ายผู้กอง’ ทั้งหมด ไล่เรียงมากตั้งแต่ ‘มาดามแหม่ม นฤมล’ นั่ง รมว.เกษตรฯ ‘อัครา พรหมเผ่า’ รมช.เกษตรฯ และ ‘อิทธิ’ นั่ง รมช.เกษตรฯ
ส่วนที่เหลือคือ ‘บุตรหลาน’ ของนักการเมือง ‘รุ่นเก๋า’ ที่แม้บางคนจะไม่ได้รับการผลักดันจาก ‘รุ่นพ่อ’ แต่สร้างชื่อฝีมือ-คอนเนกชั่น จนถูกส่งมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีใน ‘ครม.แพทองธาร 1’ เช่น ‘น้ำ’ จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ สส.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันเธอคือหนึ่งในเครือข่าย ‘ยังบลัด’ แห่งพรรคเพื่อไทย ภายใต้ร่มเงา ‘อุ๊งอิ๊ง’ โดยเธอเป็นบุตรสาว ‘นิสิต สินธุไพร-เอมอร สินธุไพร’ อดีต สส.ร้อยเอ็ด และอดีตแกนนำ นปช.
‘สรวงศ์ เทียนทอง’ อีกหนึ่ง ‘ยังบลัด’ แห่งเพื่อไทย เช่นกัน นั่ง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บุตรชาย ‘เสนาะ เทียนทอง’ นักการเมืองรุ่นเก๋า เป็นต้น โดย ‘สรวงศ์’ หมายมั่นปั้นมือจะทำให้ได้แบบ ‘บิดา’ ที่เคยดัน ‘ทักษิณ’ เป็นนายกฯ จนรุ่นโรจน์มาแล้ว ซึ่ง ‘สรวงศ์’ ผ่านด่านแรกในการดัน ‘อุ๊งอิ๊ง’ เป็นนายกฯสำเร็จ ที่เหลือคือรอวัดฝีมือ ความนิยม และบารมีเท่านั้น
@ สรวงศ์ เทียนทอง
@ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
อีกหนึ่ง Gimmick ที่น่าสนใจคือ ครม.ชุดนี้ ปรากฏชื่อ ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ รมว.อุตสาหกรรม อดีตแกนนำ กปปส.เมื่อ 10 ปีก่อน ที่เคยลงถนน ประกาศสู้รบกับ ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ น้องสาว ‘ทักษิณ’ มาคราวนี้ถูกส่งชื่อมานั่งรัฐมนตรีกับ ‘อดีตศัตรู’ ในฐานะตัวแทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ด้วย
ขณะที่ ‘รัฐมนตรีป้ายแดง’ นักการเมืองที่เพิ่งนั่งเก้าอี้เสนาบดีครั้งแรก มี 6 คนดังนี้
สรวงศ์ เทียนทอง (อายุ 49 ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (อายุ 45 ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ (อายุ 39 ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (อายุ 38 ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
อัครา พรหมเผ่า (อายุ 52 ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เดชอิศม์ ขาวทอง (อายุ 60 ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งหมดคือวงศ์วานว่านเครือ ‘นักเลือกตั้ง’ ที่ผลักดันลูก-เครือญาติใกล้ชิด นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงจะเกิดเหตุซ้ำรอย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ส่วนคนเหล่านี้จะบริหารประเทศได้คุ้มค่าเงินภาษีประชาชนหรือไม่ ต้องรอวัดฝีมือ