“...กรณีที่จะนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้านั้น เมื่อไม่มีข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ การฝ่าฝืนโดยนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าจึงเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่ารถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งขอหารือว่าการนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันให้จดทะเบียนได้ ไปใช้การรับจ้างขนส่งสินค้าได้นั้น สามารถทำได้หรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้านั้น เมื่อไม่มีข้อกฎหมายยกเว้นให้สามารถกระทำได้ จึงเห็นว่า รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้ นั้น (อ่านประกอบ : ‘กฤษฎีกา’ตีความ‘รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล’ใช้รับจ้างขนส่งสินค้าไม่ได้-แนะ‘ขบ.’แก้กฎหมาย)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเสร็จที่ 714/2567 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้า มีรายละเอียด ดังนี้
@‘ขบ.’ขอหารือปม‘รถยนต์สามล้อ’รับจ้างขนส่งสินค้า
กรมการขนส่งทางบก ได้มีหนังสือ ที่ คค 0408.2/2298 ลงวันที่ 23 ก.พ.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ในปัจจุบันกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522กำหนดให้งดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อ
แต่ผ่อนผันการงดรับจดทะเบียนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ซึ่งได้มีการออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การผ่อนผันการงดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล พ.ศ.2559 โดยกำหนดให้การผ่อนผันจะพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นและความสม่ำเสมอในการใช้รถ และไม่มีรถลักษณะอื่นที่เหมาะสมในการขนส่งสินค้าหรือคนโดยสาร
แต่โดยที่ปัจจุบันประชาชนมีความต้องการใช้รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการใช้ขนส่งสินค้าในกิจการขนส่งของตนเองแล้ว ยังประสงค์จะใช้รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลในการรับจ้างขนส่งสินค้าด้วย จึงมีปัญหาว่ารถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ที่ได้รับการผ่อนผันการงดรับจดทะเบียนจะนำมาใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้หรือไม่
กรมการขนส่งทางบก มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายแรก เห็นว่า มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ฯ กำหนดบทนิยาม “รถยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และมาตรา 5 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มิให้ใช้บังคับกับกับรถยนต์สามล้อ
ดังนั้น เมื่อมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งของหรือสินค้า การนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งของหรือสินค้า จึงสามารถกระทำได้
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า เจตนารมณ์ของการผ่อนผันการงดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลตามประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าว มุ่งประสงค์จะให้นำไปใช้ในการขนส่งส่วนบุคคล กล่าวคือ ต้องนำไปใช้ในการขนส่งของหรือสินค้าของตนเองเท่านั้น จึงเห็นว่า รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปใช้รับจ้างขนส่งของหรือสินค้าได้
กรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการผ่อนผันการงดรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล จึงขอหารือว่าจะต้องปฏิบัติตามความเห็นฝ่ายแรกหรือฝ่ายที่สอง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป
ต่อมากรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คค 0408.2/3457 ลงวันที่ 21 มี.ค.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งความเห็นของสมาคมการค้ารถสามล้อส่วนบุคคลและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า กรณีกรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่จะนำไปใช้เพื่อการรับจ้างขนส่งพัสดุ
โดยเห็นว่าการใช้รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลเพื่อขนส่งพัสดุไม่ได้เป็นการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารแต่เป็นการใช้รถยนต์เพื่อการประกอบอาชีพ
โดยที่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2 และคณะที่ 3) เพื่อประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ
@'กฤษฎีกา'ชี้'รถยนต์สามล้อ'ใช้รับจ้างขนส่งสินค้าไม่ได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการขนส่งทางบก โดยมีผู้แทนกระทรวงคนาคม (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมการขนส่งทางบก) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้รถยนต์สามล้อสามารถจดทะเบียนได้ 2 ประเภท คือ รถยนต์สาธารณะที่เป็นรถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ได้บัญญัติว่า “รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ และรถยนต์ส่วนบุคคล โดย “รถยนต์สาธารณะ” ใช้สำหรับการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ด (7) คนหรือใช้เป็นรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทาง
“รถยนต์บริการ” ใช้สำหรับบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ด (7) คน หรือให้เช่าเป็นรถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถยนต์บริการให้เช่า ส่วน “รถยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
เห็นได้ว่า พ.ร.บ.รถยนต์ฯ กำหนดประเภทรถยนต์ที่นำมาจดทะเบียนไว้เพียง 3 ประเภท ซึ่งไม่ได้กำหนดให้รับจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เพื่อการรับจ้างขนส่งสินค้าของบุคคลอื่น
และเมื่อพิจารณามาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ได้กำหนดลักษณะของการขนส่งเพื่อสินจ้างไว้ ได้แก่ การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง และการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ส่วนการขนส่งเพื่อการค้า หรือธุรกิจของตนเองเป็นการขนส่งส่วนบุคคล ฯลฯ
ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบการขนส่งตามลักษณะที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเสียก่อน และเมื่อการรับจ้างขนส่งสินค้าเพื่อสินจ้างเป็นการขนส่งตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ แล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่มุ่งให้เกิดความปลอดภัยและมีมาตรฐานการให้บริการที่เหมาะสมในการประกอบการขนส่ง เพื่อให้การขนส่งทางบก ซึ่งเป็นกิจการพื้นฐานของประเทศมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
การประกอบการขนส่งโดยรถไม่ว่ากรณีใดๆ จึงย่อมอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ เว้นแต่เป็นการขนส่งที่มีกฎหมายอื่น กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การที่มาตรา 5 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ นั้น
มีความหมายว่า รถยนต์สามล้อไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเพื่อใช้ในการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ได้ ดังนั้น การใช้รถยนต์สามล้อในการขนส่งเพื่อสินจ้างจะกระทำได้เพียงใด จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ
สำหรับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ และจะนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าจะต้องพิจารณาการใช้รถตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ที่ได้บัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้
ในมาตราดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีเจตนารมณ์เพื่อจะควบคุมการใช้รถให้ตรงตามประเภทที่ได้ระบุไว้ในการจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์ และของรถตามประเภทของรถที่จดทะเบียนไว้ เนื่องจากการใช้รถนอกเหนือไปจากขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยและกระทบกับการใช้รถที่จดทะเบียนประเภทอื่นได้
ดังนั้น กรณีที่จะนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้านั้น เมื่อไม่มีข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ การฝ่าฝืนโดยนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าจึงเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่ารถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันรูปแบบการใช้รถและการขนส่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่รองรับกับการใช้รถและการขนส่งรูปแบบใหม่ เช่น การนำรถยนต์สามล้อไปใช้ในการรับจ้างเพื่อขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งมีความคล่องตัวสามารถเข้าไปรับส่งสินค้าตามถนนที่แคบหรือซอยต่างๆ ได้ดี
ฉะนั้น หากกรมการขนส่งทางบกต้องการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้รถยนต์สามล้อในการประกอบการขนส่งลักษณะนี้ สมควรเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีบทบัญญัติรองรับการประกอบการขนส่งทางบกด้วยรถยนต์สามล้อในรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการขนส่งความปลอดภัยของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์สาธารณะด้วย
เหล่านี้เป็นรายละเอียดความเห็น ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ กรณีการนำ ‘รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล’ ที่ได้รับการผ่อนผันให้จดทะเบียนฯ ไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้า ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันไม่อนุมัติให้ทำได้ แต่ได้มีข้อสังเกตไปยัง ‘กรมการขนส่งทางบก’ ว่า หากกรมฯต้องการส่งเสริมการใช้งาน ‘รถยนต์สามล้อ’ ในการขนส่งสินค้า ก็สามารถแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
อ่านประกอบ
‘กฤษฎีกา’ตีความ‘รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล’ใช้รับจ้างขนส่งสินค้าไม่ได้-แนะ‘ขบ.’แก้กฎหมาย