‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ตีความ ‘รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล’ ใช้รับจ้างขนส่งสินค้า 'ไม่ได้' ชี้ขัด ‘พ.ร.บ.รถยนต์ฯ’ แนะ ‘ขบ.’ แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปิดทางนำรถฯ ไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าฯ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งขอหารือว่า การนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันให้จดทะเบียนได้ ไปใช้การรับจ้างขนส่งสินค้าได้นั้น ทำได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกเห็นว่า ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต แต่ฝ่ายที่สองเห็นว่า ทำได้
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) มีความเห็นว่า การนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ได้จดทะเบียนแล้ว ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้านั้น จะต้องพิจารณาการใช้รถตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการใช้รถให้ตรงตามประเภทที่ได้ระบุไว้ในการจดทะเบียน เพราะการใช้รถนอกเหนือไปจากขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้
ดังนั้น กรณีที่จะนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้านั้น เมื่อไม่มีข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ การฝ่าฝืนโดยนำรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้า จึงเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าได้
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 2 และคณะที่ 3) มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันรูปแบบการใช้รถและการขนส่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่รองรับกับการใช้รถและการขนส่งรูปแบบใหม่ เช่น การนำรถยนต์สามล้อไปใช้ในการรับจ้างเพื่อขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งมีความคล่องตัวสามารถเข้าไปรับส่งสินค้าตามถนนที่แคบหรือซอยต่างๆ ได้ดี
ฉะนั้น หากกรมการขนส่งทางบก ต้องการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้รถยนต์สามล้อในการประกอบการขนส่งลักษณะนี้ สมควรเสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีบทบัญญัติรองรับการประกอบการขนส่งทางบกด้วยรถยนต์สามล้อในรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการขนส่งความปลอดภัยของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์สาธารณะด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลรายงานสถิติการขนส่ง ปีงบประมาณ 2562-2566 พบว่า ณ วันที่ 30 ก.ย.2562-30 ก.ย.2566 มีรถยนต์รับจ้างสามล้อ (รย. 8) ที่ได้รับการผ่อนผันให้จดทะเบียนฯ ได้แก่ ปี 2562 จำนวน 19,916 คัน , ปี 2563 จำนวน 19,614 คัน ,ปี 2564 จำนวน 19,230 คัน ,ปี 2565 จำนวน 18,766 คัน และปี 2566 จำนวน 17,970 คัน