"...เหล่านี้ คือ ข้อมูลขั้วพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ถูกระบุว่าจะเข้ามาร่วมรัฐบาล แพทองธาร 1 และกำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้ แต่ก็มีหลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะอยู่ไม่รอดครบเทอม เพราะยังไม่ทันเริ่มทำงานร่วมกัน นักการเมืองหลายพรรคก็เริ่มส่งสัญญาณขัดแย้งเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีภารกิจงานต่างๆ แล้ว ขณะที่บรรดานักร้อง (คดี) ทางการเมือง ก็เริ่มออกมาจองกฐิน จ้องคอยร้องเรียนเรื่องคดีความต่าง ๆ ด้วย นี่ยังไม่นับรวมด่านการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรี หลายคน ที่ปรากฏข่าวถูกตรวจสอบเรื่องคดีทุจริต ส่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอีก..."
15 สิงหาคม 2567 พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคแกนจัดตั้งรัฐบาล นำหัวหน้าและเลขาธิการ พรรคร่วมรัฐบาล 9 พรรค 313 เสียง แถลงจุดยืนสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “บุตรสาวคนเล็กทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี
16 สิงหาคม 2567 มี 15 พรรค 319 เสียง เปล่งวาจา-ขานชื่อ น.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”
30 สิงหาคม 2567 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่ง 2 รายชื่อสุดท้าย ให้พรรคเพื่อไทยตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี
@ แพทองธาร ชินวัตร
นับจนถึงเวลาผ่านพ้นมากว่า “ครึ่งเดือน” ในการจัดตั้ง “ครม.แพทองธาร1” แล้ว แต่ดูเหมือนหลายส่วนจะยังไม่เข้ารูปเข้ารอย บางพรรค “ไม่มาตามนัด” รัฐมนตรีบางคน “ตกขบวน” ไม่ได้ไปต่อ
หากใช้มีดหมอการเมือง ผ่าขั้วรัฐบาลแพทองธาร 1 ในขณะนี้ จะพบว่า เสถียรภาพของ “รัฐบาลแพทองธาร” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ดูเหมือนแนบแน่น-เนื้อเดียวกัน
แต่ที่ “มาทั้งพรรค” ยังเป็น “ขั้วเดิม” เมื่อครั้งจัดตั้ง “รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน” จำนวน 7 พรรค 272 เสียงเท่านั้น
ส่วนจำนวนมือ-จำนวนเสียงที่มาร่วมหอลงโลงกับ “รัฐบาลแพทองธาร” กลับพบว่ามา “ไม่ครบทั้งพรรค”
7 พรรค 272 เสียง ที่พรรคเพื่อไทย “กำไว้ในมือ” คงเป็น “พรรคแกนนำรัฐบาลเดิม” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง แบ่งออกเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 29 คน สส.เขต 112 คน
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง แบ่งออกเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 คน สส.เขต 68 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง แบ่งออกเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 13 คน สส.เขต 23 คน พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน สส.เขต 9 คน
พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง แบ่งออกเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน สส.เขต 7 คน พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) 3 เสียง แบ่งออกเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน สส.เขต 2 คน พรรคไทรวมพลัง (ทรพ.) สส.เขต 2 เสียง
@ ประชาธิปัตย์ไม่มาทั้งพรรค
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล “พรรคใหม่ป้ายแดง” ประชาธิปัตย์ ภายหลังที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) กับ สส. มีมติเห็นชอบ “เข้าร่วมรัฐบาล” กับพรรคเพื่อไทย “พรรคลูก” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ครั้งแรกในรอบ 23 ปี
เป็นการ “จับมือ” ระหว่าง “พรรคเก่าแก่” กับ “พรรคคู่แข่ง” ทางการเมือง ที่มี “ทักษิณ” เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544
ทว่า สส. 25 เสียง ของประชาธิปัตย์ “ไม่มาทั้งพรรค” ที่มาทั้งตัว-ทั้งใจมีอยู่ 20 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มของ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาธิการพรรค ที่นำ สส.สงขลา 5 คน ประกอบด้วย
1.นายเดชอิศม์ 2.น.ส.สุภาพร กำเนิดผล หรือ “คุณนายน้ำหอม” ภรรยาที่อยู่กินกันฉันสามีภริยากับ “นายกชาย-เดชอิศม์” 3.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง “ลูกชายนายเดชอิศม์” 4.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ และ 5. นายสมยศ พลายด้วง
สส.สัดส่วน “บ้านใหญ่” ตระกูลการเมืองในภาคใต้ 1.นายชัยชนะ เดชเดโช 2.พิทักษ์เดช เดชเดโช 3.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง 4.นายยุทธการ รัตนมาศ 5.อวยพรศรี เชาวลิต 6.สุณัฐชา โลสถาพรพิพิธ-บุตรสาว “โกหนอ-สมชาย” อดีตนักการเมืองขาใหญ่ของจังหวัดตรัง 7.นายกาญจน์ ตั้งปอง 5.สุพัชรี ธรรมเพชร และ 6.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์
สส.ในกลุ่มของ “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค คือ 1.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ และ 2.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์
@ 3 อดีตหัวหน้าพรรคเก่าแก่-ฝ่ายค้านในรัฐบาล
ที่เหลือเป็น สส.ที่มาจากหลากหลายภาค ได้แก่ สส.ภาคอีสาน 2 คน คือ 1.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี และ 2.นายชาตรี หล้าพรหม สส.สกลนคร ภาคเหนือ 1 คน คือ 1.สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 คน คือ 1.นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี
ส่วน 4 สส.พรรคประชาธิปัตย์ “เสียงข้างน้อย” ที่ลงมติสวนเสียงข้างมาก-ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการ “หักหลัง” ประชาชน และ ไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมกับ “ระบอบทักษิณ” ประกอบด้วย
3 ผู้อาวุโสของพรรคเก่าแก่-อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “นายหัวชวน” นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
รวมถึงนายสรรเพชญ บุญญามณี-ลูกชายนิพนธ์ บุญญามณี และอีก 1 เสียงหลบในที่ “งดออกเสียง” คือ “ราชิต สุดพุ่ม” สส.นครศรีธรรมราช
นอกจาก 4 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังมี 1 เสียงของพรรคเพื่อไทย ที่เป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” คือ “เฉลิม อยู่บำรุง” สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 5 ที่เฝ้ารอวันโดน “ขับออก” จากพรรคเพื่อไทย
@ ก๊วนธรรมนัส โดนดูดกลับ
สำหรับ สส.พรรคพลังประชารัฐ-พรรคร่วมรัฐบาลขั้วเดิม ที่มาเฉพาะกิจ-เฉพาะตัว สส.ที่ไปให้กำลังใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจาก “ประกาศอิสรภาพ” ปลดแอกจาก “บ้านป่ารอยต่อ” กลางทำเนียบรัฐบาล
แม้ร.อ.ธรรมนัสจะเคลมตัวเลข สส.ที่เลือกข้าง “ร้อยเอก” มากกว่า “พลเอก” ถึง 26 คน แต่ สส.ตัวเป็น ๆ ที่ถ่ายภาพร่วมเฟรมกับ ร.อ.ธรรมนัส มีเพียง 18-20 คน บวก-ลบ “พรรคเล็ก” ไม่เกิน 25 สียง จำแนกออกเป็น
กลุ่มเครือญาติร.อ.ธรรมนัส-สส.ภาคเหนือ ได้แก่ นายจีรเดช ศรีวิราช “พี่ชายน้องจุ๊บจิ๊บ” ธนพร ศรีวิราช ภรรยของ ร.อ.ธรรมนัส นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน
รวมถึง “มือขวาผู้กองธรรมนัส” อย่าง นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร
@ ธรรมนัส พรหมเผ่า
กลุ่มบ้านใหญ่ราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา นายจตุพร-ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ นายสัมพันธ์-อามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา
ส่วน สส.ที่เหลือที่เดินตามหลังร.อ.ธรรมนัสออกจาก “บ้านป่ารอยต่อ” ได้แก่ นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด นายอัครแสนคีรี โล่วีระ สส.ชัยภูมิ นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี นายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก
กับพรรคเล็ก 1 เสียง 5 พรรค ที่ร.อ.ธรรมนัส กำโพยออกมาบอกในที่สาธารณะ ประกอบด้วย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคใหม่ พรรคท้องที่ไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
ทว่า การแสดงพลังของบิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านป่ารอยต่อ ดึง-ดูดกลับ สส.ที่เคยไป “แสดงตัว” ให้กำลังใจ ร.อ.ธรรมนัส ให้ “เปลี่ยนใจ” กลับมาสวามิภักดิ์ “หัวหน้าครอบครัวพลังประชารัฐ” อีกครั้ง
โดยเฉพาะ สส. “กลุ่มเพชรบูรณ์” ของ “สันติ พร้อมพัฒน์” ที่ “กลับตัว” 360 องศา ทั้ง นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ภรรยานายสันติ-หัวหน้ามุ้งมะขามหวาน น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ นายจักรัตน์ พั้วช่วย นายวรโชติ สุคนธ์ขจร นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ นายอัคร ทองใจสด
@ พลังประชารัฐ พรรคฝ่ายค้านป้ายแดง
ฟากขั้วพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันที่มี “พรรคประชาชน” 143 เสียง ที่ต้องสูญเสีย “กำลังหลัก” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยครึ่ง-ค่อนพรรค โดยมี “พรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน” ไม่แปรพักตร์ไปอยู่ “พรรคขั้วตรงข้าม” ประกอบด้วย
พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และพรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง และได้พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง หลังโดนพรรคเพื่อไทย “หลอกใช้” ให้ยกสนับสนุนน.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ได้ปูนบำเหน็จ-ความดีความชอบเก้าอี้รัฐมนตรี ใน “คณะรัฐบาลแพทองธาร1”
นอกจากนี้ยังมี “สมาชิกใหม่” ในพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็มาไม่ครบทั้ง 40 เสียง มีเสียงที่ “จับต้องได้” เพียง “ครึ่งพรรค” หรือ 20 เสียง ประกอบด้วย
กลุ่มเพชรบูรณ์ 6 เสียง กลุ่มบ้านใหญ่เทียนทอง 2 เสียง -นางขวัญ เทียนทอง และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สส.สระบุรี น้องชายนายชัยวุฒิ
กลุ่มกำแพงเพชรของนายวราเทพ รัตนากร 2 เสียง จากทั้งหมด 4 เสียง ได้แก่ นายปริญญา ฤกษ์หร่าย และนายอนันต์ ผลอำนวย ส่วนนายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ “แทงกั๊ก” ไม่ปรากฏตัวทั้ง “ฝั่งผู้กอง” หรือ “ฝั่งนายพล”
สส.คนที่เหลือที่ นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ น.ส.กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ นายคอซีย์ มามุ นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ นายชัยมงคล ไชยรบ นายทวี สุระบาล นายวิริยะ ทองผา นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช
@ พลังประชารัฐ พรรคฝ่ายค้านป้ายแดง
ส่วนพรรคไทยสร้างไทยของ “เจ้หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่เคยจับมือกันตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) และเป็นพันธมิตรกับพรรคฝ่ายค้าน กลับไปโหวตสนับสนุนให้น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 6 เสียง
แต่โดนคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม “ขับออก” เพียงรายเดียว คือ “สุภาพร สลับศรี” สส.ยโสธร ที่คาดว่าจะโยกไปซบพรรคเพื่อไทยในเร็ว ๆ นี้
ดังนั้นอีก 5 เสียงจึงต้อง “ดูใจ-ดูมือ” กันเป็นนัด ๆ ถึงโอกาสที่จะ “เติมเสียง” ให้กับฝ่ายรัฐบาล มากกว่าฝ่ายค้านมากน้อยแค่ไหน และเจ้าของฉายา “เจ้าแม่กทม.” จะยังมีมนต์ขลัง กำราบให้สิ้นฤทธิ์-หมดพิษสงหรือไม่
เหล่านี้ คือ ข้อมูลขั้วพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ถูกระบุว่าจะเข้ามาร่วมรัฐบาล แพทองธาร 1 และกำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้ แต่ก็มีหลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะอยู่ไม่รอดครบเทอม เพราะยังไม่ทันเริ่มทำงานร่วมกัน นักการเมืองหลายพรรคก็เริ่มส่งสัญญาณขัดแย้งเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีภารกิจงานต่างๆ แล้ว ขณะที่บรรดานักร้อง (คดี) ทางการเมือง ก็เริ่มออกมาจองกฐิน จ้องคอยร้องเรียนเรื่องคดีความต่าง ๆ ด้วย
นี่ยังไม่นับรวมด่านการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรี หลายคน ที่ปรากฏข่าวถูกตรวจสอบเรื่องคดีทุจริต ส่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอีก แถมยังมีคดีร้องเรียน กกต. เพื่อขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย ที่อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ใช้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำคณะกรรมการบริหารพรรค เอื้อประโยชน์ตนเอง รวมไปถึงการขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ อันเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง ที่ปักหลังรออยู่อีก
ขณะที่งานใหญ่บริหารประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สารพัดปัญหาความเดือดร้อน ปากท้องประชาชน ก็รอคอยวัดฝีมือให้เข้าไปแก้ไขปัญหาอยู่อีกมาก
ในท้ายที่สุด รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี 7 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นแกนหลัก การกวาดต้อน สส.จากขั้วพรรคฝ่ายค้านที่เป็น “พรรคเก่าแก่” และ “กบฏร้อยเอก” ในป่า “นายพลใหญ่” รวมถึง “พรรคเล็ก-งูเห่า” เบ็ดเสร็จ 323 เสียง ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเป็นไปได้
จะสามารถค้ำยัน “รัฐนาวาแพทองธาร1” ให้แล่นฉิวตลอดรอดฝั่ง-ครบวาระอีก 3 ปีที่เหลือหรือไม่ ต้องคอยติดตามต่อไป
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย