"...จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) โดยมาตรา 170 วรรคสาม บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อันเป็นหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 ผู้ร้องเรียนรายเดิมที่เคยไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ 1. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ 2. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องที่ 2
โดยผู้ร้องรายนี้ ระบุว่า คำร้องที่ 2 และที่ 3 ใช้ฐานแห่งข้อเท็จจริงเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็มในหนังสือร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่มอีก 2 เรื่องดังกล่าว
********
เรื่อง 1. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ มีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่กระทำการโดยไม่ช่ออบด้วยกฎหมาย พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ 2. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กรณีนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
เรียน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง)
อ้างถึง 1. หนังสือของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เรื่อง ร้องเรียนการกระทำโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค , 2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 อ่านวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ตามที่ข้าพเจ้า (ปกปิดชื่อ-นามสกุล) ได้ยื่นหนังสือตามที่อ้างถึง 1 ต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง กรณีพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค โดยอาศัยฐานแห่งข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 อ่านวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามที่อ้างถึง 2 เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย โดยถือเป็นเรื่องที่ 1 นั้น
ผู้ร้องขอยื่นเรื่องเพื่อพิจารณาโดยอาศัยฐานแห่งข้อเท็จจริงเดียวกัน จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่อ้างถึง 2 อีก 2 เรื่อง โดยนับเป็นเรื่องที่ 2 และเรื่องที่ 3 ดังนี้
เรื่องที่ 2 ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ระหว่าง ประธานวุฒิสภา ผู้ร้อง กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามที่อ้างถึง 2
ข้อเท็จจริงสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังเป็นยุติในเรื่องที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เชื่อมโยงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้คัดเลือกบุคคลที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำไปกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังข้อเท็จจริงว่า “ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกา โดยรู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษนั้นมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) ซึ่งประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงลงโทษสถานหนักให้จำคุกผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) และผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวมสามคน คนละ 6 เดือน ในเดือนกันยายน 2552 คณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ พิจารณาแล้ว.....เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนยาความ พ.ศ.2529 ข้อ 6 และข้อ 18 โดยลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) และผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องออกจากทะเบียนบทนายความ.....”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เห็นว่า ผู้ที่พิจารณาเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาทั่วไป สามารถเห็นได้ถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนายพิชิต ชื่นบาน โดยวินิจฉัยว่า “.....หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชน ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์โดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ตามมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนคนทั่วไปก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้ว ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่สั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) ในฐานละเมิดอำนาจศาล ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป.....”
ส่วนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของผู้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “..... เมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) เสนอผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปนั้น ย่อมปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากการเสนอบุคคลที่ไม่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง.....”
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิต ชื่นบาน แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วย จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี มิใช่เป็นเพียงการกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยลำพัง โดยก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 เรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำหนดไว้ในข้อ 112 ว่า “ การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ” และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ”
การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นกรรมการบริหารด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายพิชิต ชื่นบาน มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และผู้นำความกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบเพื่อให้นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันด้วย
หากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอ้างว่าได้มอบอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว หรือเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยแท้ จะเป็นการขัดต่อข้อบังคับของพรรค และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรค
การกระทำของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รอบคอบระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ในการคัดเลือกนายพิชิต ชื่นบาน เพื่อให้นายเศรษฐา ทวีสิน กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 112 ของข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 และมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เทียบเคียงตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน
เรื่องที่ 3 ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เสนอบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน มิใช่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีในครั้งนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รอบคอบระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการเห็นชอบให้เสนอบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี หรือได้ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง และละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 21 ในการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยปล่อยให้นายเศรษฐา ทวีสิน นำรายชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จึงเป็นพฤติการณ์ที่กระทบต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในปัจจุบัน โดยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเรื่องที่ 2
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงทำให้กรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ให้ความเห็นชอบ หรือละเว้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเมื่อกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีที่กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง ย่อมจะต้องมีผลทางจริยธรรมเช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี หากพิจารณาได้ว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในครั้งนั้น ย่อมทำให้มิใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) โดยมาตรา 170 วรรคสาม บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อันเป็นหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และเมื่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้ดำเนินการได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงขอใช้สิทธิในการติดตามและเร่งรัดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยมีแผนผังแนบท้ายหนังสือนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และกรุณาแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบด้วย
อนึ่งในการยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อ กกต.ดังกล่าว ผู้ร้องรายนี้ ระบุว่า การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิในฐานะปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิติดตามเร่งรัดให้รัฐทำหน้าที่ของรัฐในการดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 การยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐมิได้ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย แต่ช่วยให้บ้านเมืองสงบสุขภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม โดยการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศของพรรคการเมืองเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม
ผู้ร้องรายนี้ กล่าวย้ำว่า มีตัวตนอยู่จริง ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยระบุชื่อและที่อยู่ไว้ชัดเจน เป็นผู้มีความรู้กฎหมายอยู่บ้าง มีเพื่อนร่วมรุ่นทำหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ตุลาการในศาลสำคัญ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสำคัญ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เลขาธิการหน่วยงานทางด้านปราบปรามการทุจริต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนักการเมืองระดับนำ เป็นต้น โดยเพื่อนร่วมรุ่นไม่ได้เกี่ยวข้องในการยื่นคำร้อง
"ผู้ร้องสนใจในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชอบแสง พักอาศัยอยู่ที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ใดไม่อาจเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ร้องได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 41 วรรคสาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกหรือโทษปรับ ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน" ผู้ร้องรายนี้กล่าวทิ้งท้าย
********
ผลจากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค