ปัญหาที่แท้จริงต้องย้อนกลับไปถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของรัฐบาลทหารเพื่อที่จะดำเนินการให้ฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถควบคุมได้ ด้วยข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนและบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งนี้คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2551 ของสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของประเทศเมียนมา
สืบเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติ 5 ต่อ 4 วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาส่งผลทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ จากกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 )
จากกรณีนายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หลังจากที่มีคำวินิจฉัยออกมา ก็มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ความเห็นจากพาดหัวข่าวและบทวิเคราะห์ของสื่อมวลชน รวมไปถึงบุคคลสำคัญจากต่างประเทศต่อคำวินิจฉัยปรากฏออกมาให้เห็นในสื่อออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมเอาความเห็นที่ว่านี้ มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
เริ่มกันที่นายสตีฟ เฮอร์แมน บรรณาธิการข่าวสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาได้อ้างอิงข้อมูลจากสัมภาษณ์โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า
“"เราทราบคําพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (14 ส.ค.) ที่ให้นายเศรษฐา และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดออกจากตําแหน่ง สหรัฐฯ ตั้งตารอการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเร็วที่สุด และหวังจะให้มีการเปลี่ยนผ่านอํานาจอย่างราบรื่น" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวและกล่าวย้ำอีกว่า
สหรัฐฯ "ไม่ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด ๆ เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดําเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าพลเมืองและภาคการเมืองมีส่วนร่วมโดยครอบคลุมอย่างเต็มที่ และมีระบบกฎหมายที่ยุติธรรม เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก
ด้านนายนายฟิล โรเบิร์ตสัน จากกลุ่มรณรงค์ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดมนแห่งการทำลายประชาธิปไตยผ่านคำตัดสินที่ไม่มีความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งดำเนินการปลดนายเศรษฐา ซึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความไร้สาระที่ชัดเจน และคอยดูว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะออกจากประเทศไทย
นายโรเบิร์ตสันทวีตต่อไปว่าปัญหาที่แท้จริงต้องย้อนกลับไปถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของรัฐบาลทหารเพื่อที่จะดำเนินการให้ฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถควบคุมได้ ด้วยข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนและบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งนี้คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2551 ของสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของประเทศเมียนมา
ทางด้านของนาย Reinout van Malenstein ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน ที่ปรึกษาทางกฎหมายที่บริษัทชั้นนำ HFG Law & Intellectual Property กล่าวว่านายเศรษฐาถูกปลดโดยศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งต่อไปจะบอกว่าจะเกิดความไม่สงบในประเทศไทยหรือไม่ และกองทัพจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ หวังว่าเส้นทางนั้นจะเดินไปตามหลักประชาธิปไตย
ขณะที่ทวิตเตอร์ของ Monarchies et Dynasties du monde ซึ่งเป็นนิตยสารที่รายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั่วโลกได้รายงานว่าอาจเกิดวิกฤติครั้งใหม่ในประเทศไทย เมื่อนายเศรษฐาถูกให้ออกจากตำแหน่งในคดีจริยธรรม นี่อาจจะเข้าสู่ช่วงเวลาของความไม่มั่นคงครั้งใหม่ หลังจากที่เมื่อปีก่อนนายเศรษฐาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว
ส่วนสำนักข่าวเฟิร์สโพสต์ของอินเดียได้ใช้พาดหัวข่าวคำว่าไม่นานมานี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของความปั่นป่วนทางการเมือง นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเฟริ์สโพสต์ตอนหนึ่งยังระบุด้วยว่าการที่นายเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมืองไทยในวงกว้าง ที่ทำให้เห็นการรัฐประหาร การประท้วงบนท้องถนน และการแทรกแซงของศาลบ่อยครั้ง ซึ่งความไม่มั่นคงที่ว่านี้มีที่มาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ได้รับการจัดตั้งที่ถูกสนับสนุนโดยฝ่ายกองทัพและกลุ่มหัวก้าวหน้าต่างๆ
ส่วนสำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกระบุว่า ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยแสดงให้เห็นว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมยังคงคุมเกมอยู่
โดยบางช่วงบางตอนของบทความมีการระบุว่าการขับไล่นายกรัฐมนตรีไทยที่เข้ามาในตำแหน่งได้ไม่ถึง 12 เดือน ทำให้เห็นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ออกแบบรูปแบบการปกครอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพมาอย่างยาวนานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมายังคงมีอำนาจทั้งหมด และตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเองก็มีเหตุที่ทำให้ตัวเองต้องไปยึดติดอยู่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม อาทิเหตุผลเรื่องเงื่อนไขการนำตัวนายทักษิณกลับประเทศเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ต้องลี้ภัยนานเกือบสิบปีด้วยข้อหาทุจริต และอีกประการก็คือนายทักษิณกำลังเผชิญกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ เวลานี้
ท้ายบทความยังระบุด้วยว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นอีกครั้งว่าการชนะการเลือกตั้งในประเทศไทยนั้นมีผลไม่มากนัก ฝ่ายผู้พิพากษาและนายพลที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมยังคงรักษาอำนาจอันยิ่งใหญ่ในการขับไล่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ซึ่งนี่เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางการเมืองไทย