'เศรษฐา' ไม่รอด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยลงมติ 5 ต่อ 4 สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ชี้พฤติกรรมขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตั้ง 'พิชิต ชื่นบาน' เป็น รมต. -ครม.โดนด้วยหลุดทั้งคณะ ชี้ข้ออ้างไม่มีความรู้นิติศาสตร์ฟังไม่ขึ้น เพราะมาตรฐานวิญูชนก็พอแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอ่านคำวินิจฉัย ลงมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) นายกรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ จากกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
จากกรณีนายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน (ผู้ถูกร้องที่ 2)เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 14 ส.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดทำสรุปคำวินิจฉัยฉบับเต็มของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดดังนี้
ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา ทวีสิน) กล่าวอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัดไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นบุคคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย
ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาโดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษดังกล่าวมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2
การกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน สั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 ฐานละเมิดอำนาจศาล ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปและสภาทนายความ เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา และกระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 6 และข้อ 18 ให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 กับผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องออกจากทะเบียนทนายความ
ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตาตามธธรรมนูญ มาตรา 160 (4) การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ถึงเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยะธรรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2563 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป