"...ปลายปี 2552 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โยกย้ายนายมงคลจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน...27 เม.ย. 2553 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 59 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายมงคลเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และปลายปีเดียวกัน มีการเสนอชื่อนายมงคลเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง..."
เรียบร้อยเป็นทางการไปแล้ว การประชุมวุฒิสภาชุดใหม่นัดแรก เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 ที่มีวาระสำคัญอยู่ที่การเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2
ผลปรากฏว่า นายมงคล สุระสัจจะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ส่วนพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานคนที่ 2 ตามการคาดหมายของคนในแวดวงการเมืองก่อนหน้านี้
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลบุคคลทั้ง 3 ที่กำลังจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในวุฒิสภานับจากนี้เป็นต้นไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลปูมประวัติของบุคคลทั้ง 3 มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ ประวัติประธานวุฒิสภา ‘มงคล สุระสัจจะ’
นายมงคล สุระสัจจะ ชื่อเล่น จ้อน เกิดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2495 ที่อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี
นายมงคล เข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่โรงเรียนการช่างนครนายกในปี 2511 ก่อนย้ายมาสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนพานิชยการพระนครศรีอยุธยาในปี 2512-2515
ในปี 2516 ศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปี 2517 นายมงคลได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มพัฒนาการศึกษาชนบท และเดินเข้าค่ายฝึกกำลังคน ในหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ (ชาวกะเหรี่ยง) ที่บ้านแม่แฮใต้ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแกนนำคือ นายธงชัย สุวรรณวิหค หรือ สหายช่วง ทิวเขาบรรทัด
ต่อมาในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 นักศึกษาจำนวนมากในขณะนั้นได้หลบเขาไปใช้ชีวิตในเขตป่าเขา เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงนายมงคลที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ภูบรรทัด จังหวัดสตูล เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี หลังจากเหตุการณ์สงบลงจึงกลับมาศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษา
ภายหลังสำเร็จการศึกษา นายมงคลเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2522 ในตำแหน่งปลัดอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
ต่อมาในปี 2532 นายมงคลย้ายมาเป็นปลัดอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จึงได้พบกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ต่อมานายเสริมศักดิ์ได้สนับสนุนให้นายมงคลเข้าศึกษาที่วิทยาลัยการปกครอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งนายอำเภอ
หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว นายมงคลเป็นนายอำเภอครั้งแรกที่อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ต่อมานายเสริมศักดิ์ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายมงคลจึงตามไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอศรีสงคราม ก่อนย้ายมาที่อำเภอธาตุพนม, อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษตามลำดับ
ต่อมาในปี 2551 นายมงคลย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้รู้จักกับ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเวลานั้นสังกัดพรรคพลังประชาชน ต่อมาพรรคถูกยุบ แล้วแยกตัวออกมาก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย
ในปลายปี 2552 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โยกย้ายนายมงคลจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
27 เม.ย. 2553 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 59 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายมงคลเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และปลายปีเดียวกัน มีการเสนอชื่อนายมงคลเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง แต่ภายหลังมีประชาชนจากสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านการแต่งตั้ง จากกรณีทุจริตการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ นายมงคลจึงแถลงถอนตัวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2553 และเกษียณอายุในตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง
ภายหลังเกษียณอายุ นายมงคลกลับไปใช้ชีวิตเกษตรกร ก่อตั้งไร่เพื่อนคุณ ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2558
ทั้งนี้นายมงคลได้ลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย 2567 ในกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง โดยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ 3 และได้รับการเสนอชื่อจากกลุ่ม สว.สายสีน้ำเงิน หรือสว.กลุ่มพรรคภูมิใจไทย จำนวน 150 คน ให้เป็นประธานวุฒิสภา
ในการประชุมครั้งแรกของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 นายมงคลได้รับการเสนอชื่อจาก พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ให้เป็นประธานวุฒิสภา โดยมี นายแพทย์ เปรมศักดิ์ เพียยุระ และ ดร.นันทนา นันทวโรภาส เป็นคู่ชิงตำแหน่ง ผลการลงมติปรากฎว่านายมงคลชนะด้วยคะแนนเสียง 159–13–19 (งดออกเสียง 4 บัตรเสีย 5)
@ ประวัติรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ‘พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์’
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ ‘บิ๊กเกรียง’ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2506 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22 ) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 33 (จปร.33)
พล.อ.เกรียงไกร ติดร้อยตรีเมื่อปี 2529 เริ่มรับราชการครั้งแรกที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25 (ร.25 พัน3) ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี และชีวิตราชการเติบโตอยู่ภายในกองทัพภาคที่ 4 มาตลอด เคยเป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 42 เปิดยุทธการไล่ล่าโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. เคยเป็นเสนาธิการจังหวัดทหารบกปัตตานี รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2562 ก่อนผงาดขึ้นเป็นแม่ทัพในปีถัดมา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 13 นับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547
สมัยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.เกรียงไกร ประสบเหตุเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอว์ก” ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ขณะเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อไปปฏิบัติภารกิจ โดย พล.อ.เกรียงไกร ได้รับบาดเจ็บ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานหลายเดือน กระทั่งได้ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการ
ต่อมานายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 3972/2566 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2566 เรื่องการแต่งตั้งประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในการประชุมครั้งแรกของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 พล.อ.เกรียงไกร ได้รับการเสนอชื่อจากนายบุญส่ง น้อยโสภณ ให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 โดยมี นายนพดล อินนา นายปฏิมา จีระแพทย์ และนายแล ดิลกวิทยรัตน์ เป็นคู่ชิงตำแหน่ง ผลการลงมติปรากฎว่าพล.อ.เกรียงไกร ชนะด้วยคะแนนเสียง 150-27-5-15 (งดออกเสียง 1 บัตรเสีย 2)
@ประวัติรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ‘บุญส่ง น้อยโสภณ’
นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2491 ประวัติการศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายเแห่งเนติบัณฑิตยสภานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีประวัติการทำงานเคยเป็นนายทหารสารบรรณ กองเศรษฐกรรม กรมสวัสดิการทหารอากาศ อัยการผู้ช่วย กองคดี กรมอัยการ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 18 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงอุบลราชธานี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสมุทรปราการ
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 และตำแหน่งล่าสุดเป็นกรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการสืบสวนสอบสวน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ธ.ค.2556-ส.ค.2561
ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. 2567 หรือประมาณ 4 วันที่ผ่านมา ปรากฎเป็นข่าวว่านายนิคม มากรุ่งแจ้ง หนึ่งใน สว.กลุ่มอิสระซึ่งมีสมาชิกจำนวน 36 คน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สว.กลุ่มอิสระและ สว.อีกหลายคนเห็นว่านายบุญส่ง มีความเหมาะสมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นรองประธานวุฒิสภา เพราะมีความรู้ด้านกฎหมาย เป็นทั้งอดีต กกต. อดีตผู้พิพากษา อดีตที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานกกต.ที่เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สองสมัยที่ผ่านมา
และในการประชุมครั้งแรกของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 นายบุญส่งได้รับการเสนอชื่อจาก นายมงคล สุระสัจจะ ว่าที่ประธานวุฒิสภา ให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ขณะที่นางนิชาภา สุวรรณนาค ได้เสนอชื่อ นายปฏิมา จีระแพทย์, นางสาวตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ เสนอชื่อ นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต และนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ ได้เสนอชื่อ นางอังคณา นีละไพจิตรเป็นคู่ชิงตำแหน่ง ผลการลงมติปรากฎว่านายบุญส่งชนะด้วยคะแนนเสียง 167- 4 - 8 - 18 (งดออกเสียง 4 เสียง)
เหล่านี้ คือ โพรไฟล์ของบุคคลทั้ง 3 ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะรวบรวมมาได้ ส่วนการทำหน้าที่บนบัลลังก์อันทรงเกียรตินับจากนี้ไป
ผลงานของแต่ละคนจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นกลาง อิงแอบ ฝักใฝ่ (พรรคการเมือง) ฝ่ายใดหรือไม่
อีกไม่นานสาธารณชนคงจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน!