'เกศกมล เปลี่ยนสมัย' เผยท้อใจโดนสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์-เตรียมดำเนินคดีคนบูลลี่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 นางสาวเกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่ม 19 ผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้คะแนนสูงสุด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กรณีสังคมออนไลน์ตั้งข้อสงสัยเรื่องวุฒิการศึกษาว่าอาจจะมีการซื้อปริญญามาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวหรือไม่ว่า รู้สึกตั้งตัวไม่อยู่และไม่มีการเตรียมตัวเวลาให้สัมภาษณ์ ส่วนประเด็นเรื่องวุฒิการศึกษา ตนเองยังไม่รู้เรื่องและมองว่าไม่น่าจะเป็นประเด็น ยอมรับว่าท้อใจ และตั้งคำถามว่าตนเองทำผิดหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าเป็นสว.อิสระ และมองว่ามีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นางสาวเกศกมล ตอบว่า ยังไม่ทราบและไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถอดใจ ต้องการสละตำแหน่งสว. มีข้อเท็จจริงอย่างไร นางสาวเกศกมล ตอบว่า ไม่ได้หมายความว่าจะสละแต่ก็ท้อที่ยังไม่ทันได้เริ่ม ในส่วนของการพิสูจน์ตนเองให้ประชาชนเชื่อถือ นั้น คงต้องใช้เวลา ถ้าคนเราตัดสินกันไปแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องแก้แบบไหน
เมื่อถามว่าจะตั้งรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรหลังมาเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว นางสาวเกศกมล กล่าวว่า คงต้องยอมรับและทำใจเพราะทำได้แค่นั้น ส่วนประเด็นจะกลายเป็นจุดอ่อนของ สว. นั้น ตนเองไม่ใช่จุดอ่อน แต่อาจจะเป็นเป้า ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุผลใด แต่ก็รับได้ แต่ขอให้วิจารณ์เบาลงกว่าปัจจุบันก็คงจะดี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเข้าสภาแล้วมีพวกกลุ่มที่มีคนคอยสนับสนุนจะทำอย่างไร นางสาวเกศกมล ถามผู้สื่อข่าวกลับมาว่า หมายถึงให้ไปหาคนหนุนหลังใช่หรือไม่ ซึ่งไม่มี คิดว่าน่าจะเป็นกระแสแค่ช่วงนี้ที่โดนโจมตี จากกลุ่มต่าง ๆ และตนเองไม่ได้อยู่กลุ่มใด ๆ
เมื่อถามว่าหากยังมีการกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนในโลกออนไลน์จะดำเนินทางกฎหมายอย่างไร นางสาวเกศกมล ตอบว่า จะใช้ทนายเป็นหลักในการดำเนินคดี ไม่อย่างนั้นปัญหาก็ไม่จบ รวมถึง ผู้ที่บูลลี่ แชร์ หรือทำคลิปของตนเองไปเผยแพร่บนโลกโซเชียลทั้งหมด ก็จะดำเนินคดีด้วยเช่นกัน โดยจะให้ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เป็นผู้ดูแล
เมื่อถามว่ามีใครมาชวนเข้ากลุ่มบ้างหรือไม่ นางสาวเกศกมล ตอบว่า ไม่มี และขอยืนยันเหมือนเดิมว่าจะไม่เข้าร่วมกับกลุ่มใด แม้ว่าในสภาจะมีกลุ่มเยอะมาก ไม่ว่ากลุ่มไหนก็เป็นสว.ทุกคน 200 คนก็มาทำงานร่วมกัน จะคนละกลุ่มคนละแนวทางแต่ขอให้มีแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อทำงานในสภาหรือในคณะกรรมาธิการแล้ว ไม่มีกลุ่มหรือคนสนับสนุน อาจจะไม่มีส่วนร่วม ก็ต้องรอดูกันต่อไป