"...พฤติการณ์ของจำเลย ที่ตั้งข้อสังเกตและซักถามงบประมาณเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาโดยตลอด ลักษณะที่เน้นย้ำถึงโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มิได้มีลักษณะเป็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐตามปกติ แต่เป็นการสร้างความกดดันและความกังวลแก่ผู้รับการพิจารณาว่าจะถูกตัดหรือลดงบประมาณหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการแสวงหาประโยชน์..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานผลการอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอม.อธ.7/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีตสส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย กรณีเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการผ่านงบประมาณ
โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกาฯ ที่ให้จำคุก 6 ปี นายอนุรักษ์ และให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 19 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งและเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงคำวินิจฉัยของศาลฯ มานำเสนอให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
วันที่ 9 ก.ค. 2567 เวลา 11.00 น. ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.7/2566 หมายเลขแดงที่ อม.อธ.5/2567 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ จำเลย
@ ฟ้องว่าจำเลยเรียกเงิน 5 ล้านจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ก่อนการพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 จำเลยเรียกเงิน 5,000,000 บาท หรือของานโครงการจากนาย ศ. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการไม่ตัดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อันเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
@ ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 6 ปี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 6 ปี กับให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
@ จำเลยอุทธรณ์ต่อ
จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์รับอุทธรณ์วันที่ 24 มกราคม 2567
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า เบื้องต้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบ เพื่อทราบรายละเอียดตามเรื่องกล่าวหาว่าผู้ถูกร้องเรียนเป็นบุคคลใดมีตำแหน่งหน้าที่ใดได้ หนังสือร้องเรียนมีข้อมูลเบื้องต้นระบุบุคคลที่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะตรวจสอบได้ การตรวจสอบวันรุ่งขึ้นหลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยสอบปากคำนาย ศ. เพื่อทราบถึงผู้ถูกร้องเรียน จึงมีใช่เป็นการมุ่งเอาผิดจำเลยฝ่ายเดียว กรณีจำเป็นต้องไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเองหรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวน คำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้สอดคล้องตรงตามกฎหมายจึงชอบแล้ว
ที่คณะกรรมการไต่สวนไม่เรียกพยานหลักฐานที่จำเลยร้องขอก็ไม่ปรากฎว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ตามรายงานและสำนวนการไต่สวนมีการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพยานบุคคล 17 ราย และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวม 10 รายการ ถือเป็นการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น เพียงพอที่จะวินิจฉัยมูลความผิดของจำเลยแล้ว คณะกรรมการไต่สวนย่อมมีดุลพินิจที่จะมีคำสั่งได้ การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว
@ วินิจฉัยต่อว่าจำเลยทำผิดจริงหรือไม่
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่า คำเบิกความของนาย ศ. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่นาย ศ. เบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ตนได้ประสบพบมาเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่การพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในระดับกระทรวงเรื่อยมาจนถึงระดับกรมในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จนถึงคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2
@ จำเลยซักถามงบประมาณเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการสร้างความกดดัน
ทำให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลย ที่ตั้งข้อสังเกตและซักถามงบประมาณเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาโดยตลอด ลักษณะที่เน้นย้ำถึงโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มิได้มีลักษณะเป็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐตามปกติ แต่เป็นการสร้างความกดดันและความกังวลแก่ผู้รับการพิจารณาว่าจะถูกตัดหรือลดงบประมาณหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการแสวงหาประโยชน์ อันทำให้เห็นมูลเหตุชักจูงใจให้จำเลยโทรศัพท์หานาย ศ. ผ่านการติดต่อของนาง น. เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2
ในคืนวันเกิดเหตุ นาย ศ. และจำเลยใช้เวลาสนทนาครั้งแรก 9 นาทีเศษ และใช้เวลาสนทนาครั้งที่สอง 6 นาทีเศษ สอดคล้องกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อความที่มีการสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ตั้งแต่การเรียกเงิน 5,000,000 บาท เมื่อนาย ศ. ปฎิเสธก็เปลี่ยนมาเป็นของานแทน เพื่อแลกกับการไม่ตัดลดงบประมาณ มีลักษณะพูดต่อรองกันไปมา มีรายละเอียดมาก ยากที่จะแต่งเรื่องขึ้นมาให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อความที่สนทนากันในเรื่องของานยังสอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตและซักถามของจำเลยในการประชุม ซึ่งมุ่งเฉพาะโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลที่มีงบประมาณไม่มาก
@ จำเลยอ้างว่าโทรศัพท์หาอธิบดีขอแบบแปลน มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ
ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยโทรศัพท์ติดต่อนาย ศ. ขอแบบแปลนและประมาณราคาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดยตรงทั้งที่ต้องดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับการประชุมและแนวทางปฏิบัติที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวดำเนินการสืบกันมา ไม่สมเหตุสมผล จึงเป็นพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ
@ อธิบดีอ้างอัดเสียงไว้แต่ไม่ได้อัดจริง ไม่ได้ทำให้สาระคดีเปลี่ยนแปลง
สำหรับที่นาย ศ. กล่าวต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 และให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่าได้มีการบันทึกเสียงการสนทนาไว้นั้น ก็น่าเชื่อว่าเป็นการพูดต่อด้วยความไม่พอใจ และแสดงให้เห็นว่าตนมีพยานหลักฐานที่มั่นคงที่จะกล่าวหาจำเลยได้ โดยบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริง คำให้การ และคำเบิกความ นาย ศ. คงยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์โทรศัพท์เรียกเงินหรือของานของจำเลยมาโดยตลอด
ดังนั้น คำเบิกความในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปบ้าง แต่สาระสำคัญแห่งคดีมิได้เปลี่ยนแปลง ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงเป็นเพียงพลความ การตั้งข้อสังกตและซักถามของจำเลย และการชี้แจงของนาย ศ. เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามธรรมดาย่อมมีเหตุกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้ หากจะมีความไม่พอใจเกิดขึ้นระหว่างการประชุมบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ไม่น่าจะร้ายแรงถึงขนาดว่าจะต้องปั่นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลย
@ พยานบุคคล 3 ราย เบิกความเชื่อมโยงกับอธิบดี
อีกทั้งในคืนวันเดียวกันแทบจะในทันทีภายหลังเกิดเหตุ นาย ศ. ได้โทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปหานาย ภ . และนาย ส. เล่าเรื่องการเรียกเงินดังกล่าวให้ฟังทันที ย่อมไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งเรื่อง โดยในส่วนนี้ โจทก์ยังมีนาย ภ. และนาย ส. มาเบิกความยืนยันว่า นาย ภ. โทรศัพท์ติดต่อหาจำเลยเช่นกัน มีการซักถามจนนำไปสู่การพูดในเชิงของานของกรมดังกล่าว และในวันรุ่งขึ้น นาย ศ. ยังโทรศัพท์ติดต่อนาย น. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่าเรื่องที่ถูกจำเลยเรียกเงินให้ฟังด้วย แม้นาย ภ. นาย ส. และ นาย น. เป็นคนรู้จักกันในฐานะเพื่อนและผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม แต่ต่างก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเป็นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน
พยานบุคคลทั้งสามยังเบิกความเชื่อมโยงกับที่นาย ศ. เบิกความ จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง พยานพฤติเหตุแวดล้อมของโจทก์ดังกล่าวที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมสนับสนุนคำเบิกความของนาย ศ. ประจักษ์พยานให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
การที่จำเลยโทรศัพท์เรียกเงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการอาศัยโอกาสในตำแหน่งที่ตนมีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถเสนอปรับลดงบประมาณได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นการขอ เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
@ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
เมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
ทั้งนี้ภายหลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายอนุรักษ์ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป
ขณะที่ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความของนายอนุรักษ์ กล่าวว่า ศาลฯ เชื่อคำให้การของพยานปากเดียว แม้จะไม่มีคลิปเสียงหรือหลักฐานใดก็ตาม โดยเชื่อพยานแวดล้อมของอธิบดีฯ
นายเดชา กล่าวด้วยว่า "อยากสรุปเป็นอุทาหรณ์ให้นักการเมืองว่าในการซักถามชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ถ้าถามวนไปวนมาก็อาจถูกมองว่าเป็นการตบทรัพย์ ถ้าต้องการพยานหลักฐานมาสู้คดีเมื่อโดนแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องนำพยานมาให้ป.ป.ช.มาไต่สวนใน 30 วัน ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการขอเอกสารในชั้นกมธ.ต่าง ๆ จะโทรศัพท์ไปคุยกับอธิบดีโดยตรงไม่ได้ ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ของสภา"
คดีนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ที่ต้องบันทึกเอาไว้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง