ป.ป.ช.ออกเอกสารแจง โดน 'สุวรรณี ตั้งปณิธานนท์' นายกเทศมนตรีมุกดาหาร ภรรยา อดีต สส.อนุรักษ์ ฟ้องถูกกลั่นแกล้ง นำคดีร้องเรียนแต่งตั้งลูกสาว เป็นเลขาฯ ถึงที่สุดไปแล้วมาฟ้องใหม่ ยันดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดไต่สวนมูลฟ้อง 26 ส.ค.67 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวชี้แจงกรณี นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร เป็นโจทก์ ฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. กับพวก รวม 8 คน เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ในฐานความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากการรื้อฟื้นนำคดีที่โจทก์เคยถูกร้องเรียนเรื่องการแต่งตั้งนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ บุตรสาว ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่จำเลยกับพวกกลับร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม และขัดต่อกฎหมาย โดยนำคดีที่ถึงที่สุดไปแล้วมาฟ้องใหม่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ได้นัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น.
สำนักงาน ป.ป.ช.ยืนยันว่า การดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไต่สวน เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ที่ระบุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสำนวนการไต่สวน หรือสอบสวนมาเพื่อดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนำผลการไต่สวนหรือสอบสวน ของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการตามรายงานตามมาตรา 65 แม้เรื่องดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม การไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดดังกล่าว จึงมิได้เป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการกลั่นแกล้ง หรือมุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่ประการใด
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุด้วยว่า กรณีนี้ สืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องเรียนกล่าวหานางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีที่แต่งตั้งนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร โดยที่นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ไม่เคยมาปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ยังคงได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร เป็นรายเดือนเต็มเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนเมษายน 2557
แต่เนื่องจากเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่มาก และมิใช่ความผิดร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติส่งเรื่องกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนรับเรื่องไปดำเนินการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 63 และมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ผลปรากฏต่อมาว่า ภายหลังที่พนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ได้รายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จังหวัดมุกดาหาร มีคำสั่งยุติเรื่องและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยและเห็นชอบให้เรียกสำนวนการสอบสวน จากจังหวัดมุกดาหารและสถานีตำรวจภูธรเมืองมุกดาหารมาเพื่อดำเนินการไต่สวน ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการตามรายงานตามมาตรา 65 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจเรียกสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนำผลการไต่สวนหรือสอบสวนของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น ตามบทบัญญัติมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ภายหลังที่คณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีหนังสือเชิญนางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มาชี้แจงหรือให้ข้อเท็จจริงภายหลังที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบในประเด็นที่ว่า นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหารหรือไม่ อย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมิได้เดินทางมาให้ถ้อยคำ และมิได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างในประเด็นที่คณะไต่สวนเบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบแต่ประการใด
ส่งผลให้ในเวลาต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ของคณะไต่สวนเบื้องต้นที่เสนอ โดยเห็นว่าการที่นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ตามคำสั่งเทศบาลเมืองมุกดาหาร ที่ 789/2556 เรื่อง แต่งตั้งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาปลายในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 จำนวน 6 วิชา ซึ่งจะต้องเข้าเรียนตลอดภาคการศึกษาปลายปีการศึกษา 2556 ในรายวิชาต่าง ๆ ทุกวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ซึ่งต้องเข้าเรียนในทุกรายวิชาทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะรายวิชา AERO ENG LAB ll เป็นการเรียนด้านปฏิบัติการที่มีลักษณะเป็นงานกลุ่ม และต้องเข้าปฏิบัติงานทุกคาบเรียนและนำเสนอการปฏิบัติงานทุกคาบ มิฉะนั้นจะไม่ผ่านวิชาดังกล่าว และในวิชา AIR DYN STB CONTR (เรียนทุกวันเสาร์) , AERODYNAMICS ll (เรียนทุกวันอังคาร) , AIR STRUC ll (เรียนทุกวันจันทร์) กลุ่มวิชาข้างต้นเป็นวิชาเฉพาะสาขาวิศวกรรมอากาศยานที่มีนิสิตในชั้นเรียนเพียง 13 คน ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นให้การว่าเท่าที่จำได้ก็ไม่มีนิสิตคนใดไม่เข้าเรียนยาวสองสัปดาห์ แต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่านางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ได้เข้าเรียนตามวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในทุกสัปดาห์ และไม่สามารถขาดเรียน เพื่อปฏิบัติงานในเดือนนั้นตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป ในช่วงเดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนเมษายน 2557 ได้อย่างแน่แท้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหารเป็นรายเดือนเต็มเดือนได้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนเมษายน 2557
ฉะนั้น กรณีที่นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร และเป็นโจทก์ในคดีนี้ ได้แต่งตั้งนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ซึ่งเป็นบุตรสาว เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร โดยที่นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ และนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ต่างก็มีภูมิลำเนาพักอาศัยอยู่ในทะเบียนราษฎรเดียวกัน นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ย่อมทราบดีว่า นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรี เมืองมุกดาหารในระหว่างที่ศึกษาในชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาปลายปีการศึกษา 2556 ได้ แต่กลับไม่ดำเนินการ ออกคำสั่งให้นางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ พ้นจากตำแหน่งเลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร หรือระงับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ที่จ่ายไปในอัตราเดือนละ 15,750 บาท ระยะเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 63,000 บาท เป็นเหตุให้เทศบาลเมืองมุกดาหารหรือทางราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 40/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ในกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายว่าการกระทำ ของนางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย แก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73
การกระทำของนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
ทั้งนี้ ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ และนางสาวพลอยพชร ตั้งปณิธานนท์ และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 98 วรรคสี่ แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย และให้แจ้งเทศบาลเมืองมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
กล่าวสำหรับ นางสุวรรณี ตั้งปณิธานนท์ เป็นภรรยา นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ที่ถูก ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย เหตุฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ โดยให้พ้นจาก ตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ไปก่อนหน้านี้
นายอนุรักษ์ เคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองมุกดาหาร และนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร 3 สมัย กลุ่มเรารักมุกดาหาร ต่อมา พ.ศ. 2550 ลาออกมาลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก สังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 ของจังหวัด (มี ส.ส. ได้ 2 คน) พ.ศ. 2554 ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก