“…การที่รัฐไทยยังกำหนดให้บุคคลใช้คำนำหน้านามตามเพศกำเนิด ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต…”
“เพศ ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ระบุหรือพูดเฉพาะในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิถีชีวิต และการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน สำหรับคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดทางกายภาพนั้น จะมีความรู้สึกเสมือนว่า ‘เขาใส่รองเท้ากลับขวาซ้าย ใส่เสื้อกลับด้านตลอดเวลา เขารู้สึกว่าจิตใจของเขาไม่ตรงกับร่างกายตลอดเวลา’ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง (Transition) เพื่อให้ร่างกายตรงกับจิตใจ ดังนั้น การเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน” ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ความคืบหน้าล่าสุด ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 257 เสียง เห็นด้วย 154 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
ธัญวัจน์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ภายหลังจากที่สภาฯ ได้มีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เปลี่ยนคำนำหน้านามฯ ตนและคณะได้มีการยกร่างใหม่ โดยได้มีการทำงานร่วมกับสัปภาคีนอนไบรีเพื่อรับรองสำนึกทางเพศ (Hepta-Consortium of Non-binary People for Legal Gender Recognition: HCNL) โดยคาดว่าร่างฉบับใหม่นี้ จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
สำหรับหลักการและเหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เปลี่ยนคำนำหน้านามฯ ที่ถูกสภาฯ ปัดตกไปนั้น ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ ที่ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคล ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยยังคงกำหนดให้ใช้คำนำหน้านาม ซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง
ธัญวัจจน์ ผู้เสนอร่างฯ ได้กล่าวแถลงในที่ประชุมสภาฯ ว่า การไม่มีกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต ขณะที่ กฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศที่มีความหลากหลาย
“การที่รัฐไทยยังกำหนดให้บุคคลใช้คำนำหน้านามตามเพศกำเนิด ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต” ธัญวัจน์ ระบุ
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ห่วงเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ เสี่ยงเกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่ม
ขณะที่ ธีระชัย แสนแก้ว สส.จังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายถึงความกังวล ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าหากมีการยินยอมให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้เองตามที่ต้องการอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมมากเกินไป เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามเพื่อที่จะไปหลอกลวงทรัพย์ , ลวนลามเพศตรงข้าม เป็นต้น
ในประเด็นเรื่องการต้องโทษจากความคิดเห็นหลายฝ่ายโดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ เรื่องการจำคุกที่มีการแบ่งนักโทษชายและนักโทษหญิง หากสมมุติเพศทางเลือกได้มีการทำความผิดและมีจิตใจตรงข้ามกับเพศสภาพก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ไปอยู่กับชายหรือหญิง พร้อมกังวลว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านอาจก่อให้เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกายมากขึ้น
“คำนำหน้าชื่อไม่ว่าจะเป็น นาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด ผมมีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ เงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เลือกความเป็นตัวเอง หากเขาไม่สะดวกที่ต้องใช้คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ซึ่งมองว่า ควรมีสิทธิ์เลือกไม่ใส่คำนำหน้านามก็ได้ แต่ขอยกตัวอย่างประเทศ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การเปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้จะเปลี่ยนกันง่าย ต้องพบจิตแพทย์ ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง แล้วประเทศเราจะใช้หลักอะไร ซึ่งถือเป็นข้อกังวล เพราะอาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม เช่น การเปลี่ยนเพื่อไปหลอก ลวนลามบุคคลอีกเพศ เพื่อบอกว่าเป็นเพศเดียวกัน” ธีระชัย ระบุ
แม้ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เปลี่ยนคำนำหน้านามฯ จากพรรคก้าวไกล จะถูกคว่ำไปแล้ว แต่ยังมีร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่มีใจความพูดถึงเรื่องเดียวกันที่กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอเข้าสภาฯ พิจารณา ได้แก่
-
ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ พ.ศ. .... โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
-
ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) ซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้ร่างขึ้น
ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่คือความเป็นมนุษย์
สำนักข่าวอิศรา ได้พูดคุยกับ รตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เปลี่ยนคำนำหน้านามฯ โดยได้ผ่านการเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอว่า มักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง ‘ตัวตนทางเพศ’ จากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ
“การเดินทางไปต่างประเทศ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับบุคคลข้ามเพศ (Transgender) เพราะว่าเพศสภาพที่แสดงออก (sex display) ไม่ตรงกับเอกสารที่ระบุว่าเพียงแค่ M (Male) สำหรับเพศชาย และ F (Female) สำหรับเพศหญิงเท่านั้น ขอเล่าประสบการณ์ในการเดินทางไปประชุมที่ฮ่องกง เมื่อปี 2550 และโดนกักตัวอยู่ที่ ตม. โดยเจ้าหน้าที่ดูหนังสือเดินทาง (passport) และเงยหน้ามองสลับไปมา แล้วก็เชิญเข้าห้องเย็น-ห้องดำ ทั้งที่เตรียมเอกสารแสดงตัวแล้ว และมีเอกสารรับรองการทำงาน หนังสือเชิญจกองค์กร ฯลฯ เราถูกตัดสินเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับคำนำหน้าชื่อ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากมีการเปลี่ยนคำนำหน้านาม” รตี กล่าว
ฉะนั้น การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศ ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษ แต่เป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทย
รตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในส่วนข้อกังลเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม อาจนำมาสู่การหลอกลวงหรืออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า อาการกังวลว่าคนข้ามเพศจะไปหลอกคู่ของตัวเองว่าตนเป็นชายหรือหญิงจริงแท้เป็นอาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) เกิดจากอคติเกี่ยวกับความเป็นเพศ และความเชื่อเรื่องเพศที่มีเพียงสองเพศคือ ชายและหญิง ที่ยึดโยงกับเพศสรีระมากกว่าการให้ความหมายเพศทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณาผ่านกฎหมายรับรองเพศสภาพของคนข้ามเพศ เพราะเอาเข้าจริงการโกหกและหลอกลวงเกิดกับคนทุกเพศ ไม่เว้นแม้แต่ชายหรือหญิง
นอกจากนี้ ความเป็นเพศอะไรก็ไม่ควรถูกมาใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ความรักของคู่รัก และถ้าคิดในความเป็นจริงที่ว่าจะมีกะเทยซักกี่คนในประเทศไทยที่จะมีคนรอบข้างเพียง 1 คนไม่สามารถบอกได้ว่าเธอเป็นเพศอะไร และสุดท้ายทำไมเราจึงอยากรู้ว่าใครเป็นเพศอะไร มันช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนคนนั้นดีขึ้นอย่างไรกัน สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะเคารพอำนาจการตัดสินใจของคนคนหนึ่งต่อความเป็นเพศของเขาเองโดยไม่ตั้งคำถามกลับ เพราะมันไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร
“สุดท้ายจงอย่าลืมว่าอาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศนี้เป็นทางเลือก เราเลือกที่จะเกลียดคนคนหนึ่งหรือไม่เกลียดคนคนหนึ่งจากอคติของเราเอง ... ส่วนการเกิดมาเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศนั้นเกิดขึ้นเอง กรณีเหล่านี้เป็นกรณีเดียวกับการที่คิดว่าชายไทยจะแปลงเพศเพื่อหนีทหาร หรือหนีความผิดทางกฎหมาย จงอย่าลืมว่า การเป็นกะเทยไม่ได้เป็นง่ายๆ ตื่นขึ้นมาเป็นกะเทยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน” ณชเล ระบุ
ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ
10 ประเทศ ให้การตัดสินใจเพศด้วยตนเอง
ข้อมูลจากรายงานแผนที่แสดงสิทธิของคนข้ามเพศ (Trans Rights Map) ประจำปี 2566 ที่จัดทำโดยกลุ่มคนข้ามเพศแห่งยุโรป (Transgender Europe: TGEU) ระบุว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 ประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ มอลตา สวิตเซอร์แลนด์ สเปน และฟินแลนด์ ที่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วย ‘การตัดสินใจด้วยตนเอง (Self-determination)’ คือการเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อ เพศตามกฎหมาย หรือ เพศสภาพ โดยขึ้นอยู่ที่ความต้องการของผู้ยื่นเรื่องเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือบุคคลที่สามผู้เชี่ยวชาญมารับรอง อาทิ ผู้พิพากษา จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องตามรายงานจากสภายุโรป
โดยสมัชชารัฐสภายุโรป ระบุว่า การคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและชี้ว่า เด็กควรเข้าถึงการระบุอัตลักษณ์ทางเพศโดยไม่มีการเหยียดอายุ
เพศ ‘X’
ทางด้าน สหรัฐอเมริกา ได้มีประกาศ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ว่า พลเมืองทุกคนสามารถเลือกเพศสภาพ ‘X’ ในฐานะเพศกลางหรือการไม่ระบุเพศ ในหนังสือเดินทางของแต่ละบุคคลได้ โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองทางการแพทย์ หรือแม้จะขัดแย้งกับเอกสารอื่น ๆ ก็ไม่เป็นไร
ขณะที่มี 16 รัฐ และ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกระบุคำนำหน้าเพศด้วย ‘M’ ‘F’ และ ‘X’ ที่อนุญาตให้พลเมืองเปลี่ยนใบสูติบัตรของตนเองได้ โดนมี 2 รัฐ อย่าง โอคลาโฮมา และ นอร์ทดาโคตา ที่ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงคำแสดงเพศบนใบสูติบัตร
สำหรับประเทศไทย จะต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เปลี่ยนคำนำหน้านามฯ อีก 2 ฉบับ และฉบับใหม่จากพรรคก้าวไกลจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ อีกครั้งเมื่อไหร่
อ่านประกอบ: