"...ทำงานอยู่ที่นี่มา 12 ปีแล้ว ถ้าเราทำเรื่องแบบนั้น เราคงไม่ได้เป็นแค่เลขาฯ จนถึงทุกวันนี้ เราคงรวยไปแล้ว เราคงพลาดเอง ผู้ร้องอาจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่หวังดี โดยการขอใช้รถ นั้น ทางส่วนกลางจะเป็นผู้จัดรถให้ โดยจัดให้ใช้เป็นรายวัน และไม่ได้ให้ใช้อยู่แค่คันเดียว บางครั้งก็เป็นรถตู้ บางครั้งก็เป็นรถเก๋ง เพราะที่นี่ไม่มีรถประจำตำแหน่ง..."
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
นางนิรมล ศรีภูมินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง (ผู้อนุมัติให้ใช้รถยนต์) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
คือ บทสรุปมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหา นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับพวก ใช้รถยนต์ส่วนกลางเป็นรถประจำตำแหน่งของตน ทั้งที่ ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนประจำ เดือนละ 150,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งในอัตราร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ จำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 187,500 บาท ที่มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา
ป.ป.ช.ระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้สั่งการให้เลขานุการขออนุมัติ ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง นางนิรมล ศรีภูมินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ได้อนุมัติให้ใช้รถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ชฐ 5663 กรุงเทพมหานคร ในการเดินทาง ไปปฏิบัติงานดังกล่าว รวมทั้งอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 รวมเป็นเงินจำนวน 254,685 บาท ทั้งที่ตามสัญญาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กำหนดให้นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนประจำ เดือนละ 150,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งในอัตราร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ จำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 187,500 บาท นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จึงไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 วรรคสาม
สรุปชัดๆ คือ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับค่าตอบแทนทั้งในส่วนเงินเดือนประจำ ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งรวม 187,500 บาท อยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ส่วนกลาง ของ สทอภ. แต่กับสั่งการให้เลขานุการขออนุมัติ ใช้รถยนต์ส่วนกลางเพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานตามที่ต่างๆ รวมทั้งอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 รวมเป็นเงินจำนวน 254,685 บาท
เกี่ยวกับกรณีนี้ หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเดือน ก.ย.2559 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวเจาะลึกปัญหาเรื่องการขัดผลประโยชน์ในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของผู้อำนวยการ สทอภ. กรณีใช้รถตู้ส่วนกลางพร้อมพนักงานขับรถ เป็นรถประจำตำแหน่งทุกวัน และมีการอนุมัติวงเงินเติมน้ำมันเป็นจำนวน 20,000 บาทต่อเดือน มาแล้ว
ย้อนความให้เห็นรายละเอียดดังนี้
หนึ่ง. จุดเริ่มต้น
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวจาก สทอภ. ว่า ในช่วงปลายเดือนม.ค.2559 ได้ทำหนังสือถึง ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการขัดผลประโยชน์ในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของผู้อำนวยการ สทอภ. ในการใช้รถตู้ส่วนกลางพร้อมพนักงานขับรถ เป็นรถประจำตำแหน่งตลอดทุกวัน และมีการอนุมัติวงเงินเติมน้ำมันเป็นจำนวน 20,000 บาทต่อเดือนด้วย
แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวอ้างว่า "กรณีการใช้รถยนต์ตู้ส่วนกลางของ ผอ.สทอภ. นั้น ได้มีการนำพนักงานขับรถของ สทอภ. และรถยนต์ส่วนกลาง ทะเบียน ชฐ-5663 (ตรงกับข้อมูลผลสอบ ป.ป.ช.) ไปใช้เป็นรถประจำตำแหน่งตลอดเวลา โดยให้เลขาฯ ผู้ปฏิบัติงานหน้าห้อง เป็นผู้ขออนุมัติใช้รถตั้งแต่เวลา 07.00-00.00 น. ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายของเดือน โดยระบุสถานที่แบบครอบคลุม คือ กระทรวงวิทย์ฯ สภาพัฒน์ ทำเนียบฯ และอื่น ๆ อยู่ตลอด ทั้งที่ ตัวเลขาฯ ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในสำนักงานฯ มิได้เป็นผู้ใช้รถจริง และในหลายกรณี เลขาฯ คนเดียวกันนี้ได้ขอใช้รถส่วนกลางคันอื่นไปยังสถานที่อื่น ๆ ในเวลาเดียวกันด้วย"
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ สทอภ. ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจขัดต่อการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นตามกม. และอาจเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน พร้อมยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบสวนเรื่องนี้ด้วย
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ สทอภ. ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การใช้รถของเจ้าหน้าที่ สทอภ. จะไม่มีลักษณะเป็นการใช้รถเพื่อไปเป็นรถประจำตำแหน่ง แต่เป็นการที่ทางสำนักงานฯ จัดรถส่วนกลางให้เพื่อไปปฏิบัติตามภารกิจของสำนักงานฯ โดยการจะขอใช้รถ ต้องแจ้งขอไปยังฝ่ายพัสดุ ที่ดูแลเรื่องรถส่วนกลาง แล้วฝ่ายพัสดุก็จะดูให้ว่า วันนั้นรถคันไหนว่างอยู่บ้าง และก็จะจัดคนขับให้ด้วย
สอง. หลักฐานโชว์ใบขอใช้รถ ผอ.สทอภ.
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับเอกสารหลักฐานจำนวนหนึ่ง จากแหล่งข่าวใน สทอภ. ระบุเป็นใบขออนุมัติใช้รถส่วนกลางในการเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปรากฏผู้ขออนุมัติชื่อ น.ส.โบว์ บรรลือ ตำแหน่ง เลขานุการชำนาญการ สำนัก สบห. มีความประสงค์จะใช้ไปที่สำนักปลัดฯ วท. กระทรวงวิทย์ฯ สภาพัฒน์ ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ เพื่อใช้ในภารกิจ ผู้อำนวยการ สทอภ. ขอใช้ในวันที่ 1 ถึงวันสิ้นเดือนของทุกเดือน ช่วงเวลา 07.00-24.00 น. โดยขอใช้ทางพิเศษ (ทางด่วน,มอเตอร์เวย์) และได้รับอนุมัติทั้งหมด ส่วนใหญ่ได้รับอนุมัติในวันเดียวกัน
จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.โบว์ เลขาฯ ชำนาญการ ได้ยื่นขอใช้รถส่วนกลางเพื่อใช้ในภารกิจ ผู้อำนวยการ สทอภ. ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2556 – 31 ส.ค. 2557 และ 1 ม.ค. – 30 พ.ย. 2558 (เท่าที่เอกสารระบุ) และใบขออนุมัติฯ ทั้งหมดระบุให้ใช้รถส่วนกลางหมายเลขทะเบียน ชฐ 5663 โดยในช่วงแรกมีคนขับรถชื่อ นายสมหวัง ก่อนจะเปลี่ยนคนขับรถในช่วงเดือน ส.ค. 2558 เป็นนายเมธี
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า ใบขออนุมัติใช้รถส่วนกลาง ของเดือน ส.ค. 2557 น.ส.โบว์ ขออนุมัติวันที่ 5 ส.ค. 2557 แต่เอกสารระบุได้รับอนุมัติวันที่ 1 ส.ค. 2557 (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่า น.ส.โบว์ มีการขอใช้รถส่วนกลางไปในสถานที่อื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน นั้น จากการตรวจสอบพบข้อมูล ดังนี้
20 พ.ค. 2557 ไปที่กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อติดต่อประสานงาน ตั้งแต่เวลา 14.00-15.00 น.
12 มิ.ย. 2557 ไปเสนอแฟ้มที่กองบัญชาการทหารบก ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น.
24 ก.ค. 2557 ไปเสนอแฟ้มที่กรมทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่เวลา 06.00-10.30 น.
20 ส.ค. 2557 ไปเสนอแฟ้มงานให้ ผู้อำนวยการ สทอภ. ที่ รร.เซ็นทราแกรนด์ (Central World) ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น.
26 ส.ค. 2557 ไปประชุมที่กรมส่งเสริมการเกษตร แบะรัฐสภา ตั้งแต่เวลา 15.30-19.30 น.
25 มี.ค. 2558 ไปเสนอแฟ้มที่ รร.อมารี วอเตอร์เกท ตั้งแต่เวลา 12.00-15.00 น.
3 เม.ย. 2558 ไปเสนอแฟ้มงานที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่เวลา 15.00-16.00 น.
30 เม.ย. 2558 ไปเสนอแฟ้มงานที่ ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 11.30-13.00 น.
6 ก.ค. 2558 ไปเสนอแฟ้มงานให้ ผสทอภ. ที่รัฐสภา ตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น.
3 ส.ค. 2558 ไปส่งเอกสารที่ ซอฟต์แวร์พาร์ค (แจ้งวัฒนะ) ตั้งแต่เวลา 14.00-16.00 น.
27 พ.ย. 2558 ไปรับตั๋วเครื่องบินที่ การบินไทย ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น. และ
30 พ.ย. 2558 ไปร่วมงานที่ รร.เซ็นทราแกรนด์ (Central World) ตั้งแต่เวลา 17.00-20.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง น.ส.โบว์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
โดย น.ส.โบว์ ยืนยันว่า ยังทำงานตามปกติ พร้อมยอมรับว่า เป็นผู้ทำเรื่องขออนุมัติใช้รถส่วนกลางให้กับทาง ผู้อำนวยการ สทอภ. จริง รวมถึงกรณีที่ขอใช้รถของตนเองด้วย
"ทำงานอยู่ที่นี่มา 12 ปีแล้ว ถ้าเราทำเรื่องแบบนั้น เราคงไม่ได้เป็นแค่เลขาฯ จนถึงทุกวันนี้ เราคงรวยไปแล้ว เราคงพลาดเอง ผู้ร้องอาจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่หวังดี โดยการขอใช้รถ นั้น ทางส่วนกลางจะเป็นผู้จัดรถให้ โดยจัดให้ใช้เป็นรายวัน และไม่ได้ให้ใช้อยู่แค่คันเดียว บางครั้งก็เป็นรถตู้ บางครั้งก็เป็นรถเก๋ง เพราะที่นี่ไม่มีรถประจำตำแหน่ง" น.ส.โบว์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการนำเสนอข้อมูลส่วนนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง น.ส.โบว์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในขณะนั้น
น.ส.โบว์ ยืนยันว่า ยังทำงานตามปกติ พร้อมยอมรับว่า เป็นผู้ทำเรื่องขออนุมัติใช้รถส่วนกลางให้กับทาง ผู้อำนวยการ สทอภ. จริง รวมถึงกรณีที่ขอใช้รถของตนเองด้วย
"ทำงานอยู่ที่นี่มา 12 ปีแล้ว ถ้าเราทำเรื่องแบบนั้น เราคงไม่ได้เป็นแค่เลขาฯ จนถึงทุกวันนี้ เราคงรวยไปแล้ว เราคงพลาดเอง ผู้ร้องอาจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่หวังดี โดยการขอใช้รถ นั้น ทางส่วนกลางจะเป็นผู้จัดรถให้ โดยจัดให้ใช้เป็นรายวัน และไม่ได้ให้ใช้อยู่แค่คันเดียว บางครั้งก็เป็นรถตู้ บางครั้งก็เป็นรถเก๋ง เพราะที่นี่ไม่มีรถประจำตำแหน่ง" น.ส.โบว์ กล่าว
จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป จนกระทั่งปรากฏข่าวมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผอ.สทอภ. ส่วนนางนิรมล ศรีภูมินทร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ผู้อนุมัติให้ใช้รถยนต์ ถูกชี้มูลความผิดในส่วนวินัยร้ายแรง ตามข่าวข้างต้น
ขณะที่ น.ส.โบว์ ผู้ทำเรื่องขออนุมัติใช้รถส่วนกลาง ไม่ปรากฏชื่อถูกชี้มูลความผิดด้วยแต่อย่างใด โดยในสำนวนการไต่สวนคดี ป.ป.ช. ระบุว่า นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้สั่งการให้ เลขานุการขออนุมัติ
สำหรับขั้นตอนต่อไปในคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี และให้แจ้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้กระทำความผิด เดินย้ำซ้ำรอยเดียวกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป
ว่า ถ้าได้รับค่าตอบแทนทั้งในส่วนเงินเดือนประจำ ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ส่วนกลาง