ป.ป.ช.เผยแพร่มติ ชี้มูลความผิดอาญา-วินัยร้ายแรง 'อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา' อดีตผู้อำนวยการ สทอภ. ใช้รถยนต์ส่วนกลางเป็นรถประจำตำแหน่งของตน ทั้งที่ได้เงินเดือน-ค่าพาหนะตอบแทน 187,500/เดือน ส่งเรื่อง อสส.ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกฏหมายแล้ว -ให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับพวก ใช้รถยนต์ส่วนกลางเป็นรถประจำตำแหน่งของตน ทั้งที่ ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนประจำ เดือนละ 150,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งในอัตราร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ จำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 187,500 บาท
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้สั่งการให้เลขานุการขออนุมัติ ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง นางนิรมล ศรีภูมินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ได้อนุมัติให้ใช้รถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ชฐ 5663 กรุงเทพมหานคร ในการเดินทาง ไปปฏิบัติงานดังกล่าว รวมทั้งอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 รวมเป็นเงินจำนวน 254,685 บาท ทั้งที่ตามสัญญาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กำหนดให้นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนประจำ เดือนละ 150,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมถึงค่าพาหนะหรือรถยนต์ประจำตำแหน่งในอัตราร้อยละ 25 ของเงินเดือนประจำ จำนวน 37,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 187,500 บาท นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จึงไม่มีสิทธิใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 13 วรรคสาม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. การกระทำของนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2. การกระทำของนางนิรมล ศรีภูมินทร์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี และให้แจ้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด