"...พยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังว่าการกระทําของจําเลย เป็นการใช้อํานาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ธนาคารฯ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้ชี้ประเด็นหรือแสดงข้อโต้แย้งว่า เหตุผลตามคําพิพากษามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างใด ไม่มี เหตุเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมของอัยการสูงสุด..."
กรณีเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา ยกฟ้อง นายโสฬส สาครวศิว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ในคดีกล่าวหาไม่ยุติโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงาน และออกคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของโครงการไม่เป็นไปตามนโยบายและมติของคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502.มาตรา 8 และ 11 พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ป.อ. มาตรา 91
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า อสส. ได้มีความเห็นชี้ขาดสั่งไม่อุทธรณ์คดีนี้ไปแล้ว
ปรากฏรายละเอียดดีงต่อไปนี้
คดีนี้อัยการสูงสุดมีคําสั่งดําเนินคดีอาญาฟ้องจําเลย โดยมอบหมายให้พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโสฬส สาครวิศว โดยฟ้องจําเลยว่าได้ กระทําความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
โจทก์ยื่นฟ้องจําเลย เป็นคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท 56/2566 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ชั้นพิจารณา จําเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่เห็นพ้องกับความเห็นของอัยการสูงสุดกรณีที่จะไม่อุทธรณ์ คําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องจําเลย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ใช้ดุลพินิจ พิพากษายกฟ้องจําเลย และอัยการสูงสุดพิจารณาเห็นพ้องด้วยและไม่มีเหตุอันควรอุทธรณ์นั้น เนื่องจากขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีอํานาจหน้าที่ดําเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบายและข้อบังคับของธนาคาร ในการจัดทําบริการสาธารณะ ช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้บรรลุผลรวมทั้งกิจการอื่นที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารกําหนดเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของ ธนาคารและมีอํานาจหน้าที่ตามข้อบังคับของธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 และตามสัญญาจ้างเป็นกรรมการผู้จัดการ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีพฤติการณ์ใช้อํานาจในตําแหน่งและหน้าที่ ออกคําสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ ของโครงการสินเชื่อ ชะลอการเลิกจ้างแรงงานโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนโยบายและมติคณะกรรมการ ธพว. ในแก้ไขวงเงินที่จะให้กู้ต่อร่าย จากเดิม ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย เป็น ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย และแก้ไขอีกครั้งเป็น 200 ล้านบาทต่อราย
มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้กู้กรณี Refinance จากสถาบันการเงินอื่น จากเดิมกําหนดว่า หากเคยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว และมีผลการชําระหนี้ตรงตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 12 เดือน ทั้งนี้ ต้องชําระไม่ต่ํากว่าดอกเบี้ยปกติ แก้ไขเป็น ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินใด ๆ เว้นแต่ ได้ทําการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต่อมาแก้ไขอีกครั้งเป็น ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ของสถาบันการเงินใด ๆ เว้นแต่ได้ทําการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วและออกคําสั่งเพิ่มปริมาณธุรกิจลูกค้าสินเชื่อแฟคตอริ่งภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานทั้งที่ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธพว.ซึ่งการกระทําดังกล่าวทําให้ธนาคารมีความเสี่ยงทางด้านเครดิตสูงขึ้น เอื้อประโยชน์ให้กับลูกหนี้ของธนาคาร
นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ละเว้นไม่สั่งการให้ยุติการดําเนินการโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน ทั้งที่ได้รับรายงานความคืบหน้าโครงการว่ามีการอนุมัติสินเชื่อเกินวงเงินที่คณะกรรมการธนาคารกําหนดไว้ จํานวน 7,000 ล้านบาทแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นเหตุให้ ธพว. ได้รับความเสียหาย และเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับลูกหนี้ของธนาคาร อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และสัญญาจ้าง และเป็นการปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองกับพวก
การกระทําดังกล่าวของจําเลยจึงเป็นความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
การที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ใช้ดุลพินิจ พิพากษายกฟ้องจําเลยนั้นอาจจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและภาพลักษณ์ในการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย ที่ประชุมจึงมีมติว่ากรณีมีเหตุอันควรที่จะอุทธรณ์คําพิพากษาของศาล อาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท 28/2567 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษตามฟ้องโจทก์
@ โสฬส สาครวิศว
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เห็น โดยชัดแจ้งว่า จําเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการได้เข้าไปบงการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องชี้นํา หรือสั่งการให้ผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบจัดทําคําสั่งผิด หรือขัดแย้งต่อระเบียบ หรือมติคณะกรรมการธนาคารฯ แต่อย่างไร
ยิ่งกว่านั้น เจตนา พิเศษที่จําเลยมุ่งหมายกระทําเพื่อช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์แก่สถานประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ นั้น ก็ไม่ปรากฏจากทางนําสืบของโจทก์ กลับได้ความจากนายภวัดว่าในทางสอบสวนไม่พบว่าการปล่อยสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่สถานประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
แต่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้าทั่วๆ ไป ที่มีคุณสมบัติในการขอสินเชื่อ
พยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังว่าการกระทําของจําเลย เป็นการใช้อํานาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ธนาคารฯ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้ชี้ประเด็นหรือแสดงข้อโต้แย้งว่า เหตุผลตามคําพิพากษามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างใด ไม่มี เหตุเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมของอัยการสูงสุด
จึงมีคําสั่งไม่อุทธรณ์
ปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ