"...เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบ โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ในส่วนของพื้นที่จังหวัดปัตตานี สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี ได้มีการสรุปเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 เป็นแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะต้องรอผลการตรวจสอบจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ เพื่อประกอบรวมเป็นสำนวนเดียวกัน ..."
โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านบาท ที่อยู่ในความดูแลของ 4 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนภาคใต้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย 1,000 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมเกษตกรกว่า 10,000 คน แต่ละกลุ่มจะเลี้ยง 50 ตัว รวมจำนวนวัวกว่า 50,000 ตัว
ที่ ทีมข่าวอิศราภาคใต้ เคยนำเสนอข่าวในช่วงต้นปี 2567 ว่ามีการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรว่า ”โคแม่พันธุ์” น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตกลงในสัญญา คือ ต้องน้ำหนักเกิน 160 กิโลกรัมขึ้นไป แต่โคที่ได้รับจริง น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ แต่ต้องซื้อราคาเต็ม ตัวละ 17,000 บาท นอกจากนั้น โคที่เอกชนคู่สัญญานำมาส่งให้ บางส่วนมีสภาพผอมแห้ง เห็นแต่ซี่โครง บางตัวเซื่องซึม บางตัวป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อยติดมาด้วย และยังเป็น “โคอ่อน” ไม่ถึงวัยผสมพันธุ์ จนเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลทางลับว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดปัตตานี ได้มีการสรุปผลการตรวจสอบโครงการฯ นี้ ในส่วนของจังหวัดปัตตานี และส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 เป็นทางการแล้ว
ในรายงานผลการตรวจสอบ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ระบุว่า หลังได้รับเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ได้รับมอบโคไม่ตรงสเป็กของโครงการ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าดำเนินการดังกล่าวมี กรมปศุสัตว์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบร่วมกันภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรอบวงเงิน 1,566.20 ล้านบาท การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง ประกอบด้วยเกษตรกร 60 กลุ่มๆ ละ 10 ราย (จังหวัดปัตตานี 16 กลุ่ม จังหวัดนราธิวาส 16 กลุ่ม จังหวัดยะลา 6 กลุ่ม จังหวัดสงขลา 2 กลุ่มและจังหวัดสตูล 20 กลุ่ม) แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว (กลุ่มละ 50 ตัว) ใช้เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท
จังหวัดปัตตานี มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง 16 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในระดับต้นน้ำ กลุ่มละ 1.55 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมการจัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละ 20 ไร่ เงินกู้ยืม 100,000 บาท
2. กิจกรรมการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ (คอกกลาง) 1 โรงเรือน เงินกู้ยืม 350,000 บาท
3. กิจกรรมการจัดหาแม่โคพื้นเมือง จำนวน 50 ตัวๆ ละ 17,000 บาท เงินกู้ยืม 850,000 บาท
4. กิจกรรมการจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม จำนวน 3 คน เงินกู้ยืม 250,000 บาท
โดยเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่ปีที่ 4 ถึง ปีที่ 7 อัตราเงินต้นร้อยละ 25 ต่อปีไม่มีดอกเบี้ย
จากการตรวจติดตามสังเกตการณ์ พบกรณีมีการดำเนินการที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต ดังนี้
1. มีเอกชนเพียงรายเดียวที่เป็นคู่สัญญากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุกกลุ่ม
2. แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มส่วนใหญ่มีลักษณะซูบผอม น้ำหนักไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการ กล่าวคือ โคมีน้ำหนัก ไม่ถึง 160 กิโลกรัม
3. ไม่ได้มีการส่งมอบบัตรประจำตัวสัตว์ในวันส่งมอบโค ทำให้ไม่ทราบว่ามีการรับรองวัคซีนมาหรือไม่
4. โคบางส่วนมีอาการป่วย และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในพื้นที่
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี จึงได้ทักท้วงและให้คำแนะนำพร้อมข้อเสนอแนะแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยภายหลังจากที่ได้มีลงพื้นที่ พบว่าผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับกลุ่มเกษตรกรได้มอบเงินเป็นค่าเยียวยาเป็นค่าแปลงพืชอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้ง 16 กลุ่ม ๆ ละ 30,000 บาท มีกลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่ม ขอคืนโคทั้งหมด 50 ตัว และอีก 1 กลุ่มขอคืนโคเพียงบางส่วนเพื่อดำเนินการจัดโคเอง
สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ยังระบุด้วยว่า สำหรับโครงการดังกล่าวใช้เงินงบประมาณที่มูลค่าจำนวนมากและเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต จะได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรและราชการ และถ้าหากตรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบ โครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ในส่วนของพื้นที่จังหวัดปัตตานี สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี ได้มีการสรุปเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 เป็นทางการแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะต้องรอผลการตรวจสอบจาก สำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ เพื่อประกอบรวมเป็นสำนวนเดียวกันก่อน
เมื่อถามว่า ในการสรุปสำนวนการตรวจสอบของ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี มีการเสนอให้ตั้งไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ตอบว่า ถึงหลักสิบราย แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้