เรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ซึ่งผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายการเมืองและราชการเคยประกาศกันลั่นว่า จะปลุกปั้นให้เป็นโครงการสร้างเศรษฐกิจให้โชติช่วงชัชวาลที่ปลายด้ามขวานนั้น ปรากฏว่าล่าสุดพบปัญหาและเรื่องร้องเรียนเสียแล้ว
ปัญหาที่พบก็เช่น...
- แม่พันธุ์วัวไม่ตรงกับสัญญา ผอม น้ำหนักน้อย บางตัวติดโรค
- คุณลักษณะเฉพาะของวัว ไม่ตรงตามที่กำหนด
- เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ขายวัวได้ราคาต่ำ
จากสภาพปัญหา ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ซึ่งเป็น “โครงการนำร่อง” เริ่มกังวลใจ เนื่องจากจำเป็นต้องขายวัวสภาพไม่สมบูรณ์ และได้ราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์หลายเท่า หากปล่อยให้วัวตายก็จะขาดทุน ส่วนวัวที่เหลืออยู่ก็มีค่าใช้จ่ายทั้งอาหารและยารักษาโรค เพราะแม่พันธุ์วัวที่ได้รับการส่งมอบ 50 ตัวต่อกลุ่ม มีน้ำหนักที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ที่สัญญาไว้และบางตัวติดโรค
ขณะเดียวกันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะที่ 2 ที่ตั้งเป้าจะขยายเป็น 400 กลุ่ม เริ่มไม่มั่นใจจะเข้าร่วมโครงการ
@@ แฉได้แม่โคผอม - ไร้บัตรประจำตัวสัตว์
หลังเกษตรกรออกมาร้องเรียน มีความเคลื่อนไหวจาก นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเก็บข้อมูล
โดยโครงการโคบาลชายแดนใต้ อยู่ในโครงการเมืองปศุสัตว์ ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท
เบื้องต้นชาวบ้านให้ข้อมูลว่า แม่พันธุ์โคพื้นเมืองที่กลุ่มของตนได้ใช้เงินกู้ยืมจากกองทุนซื้อมาส่วนหนึ่งมีลักษณะไม่ตรงตามที่กำหนด กล่าวคือ
- วัวที่ซื้อในราคาตัวละ 17,000 บาท ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 160 กิโลกรัม แต่การส่งมอบวัวเมื่อประมาณต้นเดือน ธ.ค.66 จำนวนกลุ่มละ 50 ตัวนั้น พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในสภาพผอม น้ำหนักน่าจะไม่เกิน 150 กิโลกรัม
- ไม่มีการส่งมอบบัตรประจำตัวสัตว์ (ผท.1) ทำให้เกษตรกรไม่สามารถรู้ประวัติการรับวัคซีนของวัวแต่ละตัวที่ซื้อได้
ทั้งนี้ หลังจาก ป.ป.ช.ปัตตานี ได้รับทราบปัญหาแล้ว ได้ดำเนินการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ทันที
@@ โบ้ยเกษตรกรไม่เลี้ยงในคอกกลาง - ไร้แปลงหญ้าให้วัว
งานนี้ร้อนถึง ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ได้เปิดเผยผลการดำเนินการโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในระยะนำร่อง ตั้งแต่เดือน เม.ย.66 สรุปได้ดังนี้
- มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องแล้ว จำนวน 47 กลุ่ม (ร้อยละ 78.33)
- เบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 37,601,700 บาท (ร้อยละ 40.43)
- ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนพร้อมลานปล่อย (คอกกลางประจำหมู่บ้าน) จำนวน 40 หลัง (ร้อยละ 66.67)
- จัดซื้อแม่โคพันธุ์พื้นเมือง กลุ่มละ 50 ตัว จำนวน 1,150 ตัว (ร้อยละ 38.33)
- จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละ 10 ไร่ จำนวน 780 ไร่ (ร้อยละ 65) แต่ยังไม่มีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร
สำหรับการดูแลแม่โคในคอกกลาง จากลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่า คอกกลางตามแบบในโครงการแคบ ไม่เหมาะสมกับการพักฟื้นของโคแม่พันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรไม่ชอบการเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองในคอกกลาง เนื่องจากจัดการดูแลโคแม่พันธุ์พื้นเมืองให้ทั่วถึงทำได้ยาก จึงแยกกันนำไปเลี้ยงในสวนปาล์มน้ำมันของตนเอง
เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการทำแปลงหญ้าที่ชัดเจน อาหารเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้โคแม่พันธุ์พื้นเมืองทรุดโทรม อ่อนแอ และตายบางส่วน
นอกจากนั้น พื้นที่จัดคอกกลางบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่สงวน ซึ่งไม่สอดรับกับหลักเกณฑ์คู่มือในโครงการ จึงทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้
@@ ปรับคู่มือดำเนินงาน หวังสอดรับวิถีเลี้ยงโคชายแดนใต้
ศอ.บต.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) จึงมีข้อเสนอการดำเนินการกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565-2571) ระยะที่ 2 เพื่อพิจารณามอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกรมปศุสัตว์ปรับปรุงคู่มือการดำเนินงานให้สอดรับวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ และแก้ไขข้อจำกัดการดำเนินงานในระยะนำร่อง ในประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 เกษตรกรในฐานะผู้กู้ สามารถพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าในการทำสัญญาซื้อ-ขาย เพื่อจัดหาแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีตามโครงการ
ทั้งนี้ในการจัดแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีเพื่อให้ได้หลักประกันว่าเป็นแม่พันธุ์ที่จัดซื้อนั้น สามารถให้กำเนิดลูกวัวได้ ควรจัดหาหรือกำหนดแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีที่มีลูกติดเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกษตรกรผู้กู้มั่นใจในความสามารถของแม่พันธุ์ที่สามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกวัวได้ โดยในกระบวนการตรวจรับ เห็นควรให้สถาบันวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค และตัวแทนสมาชิกกลุ่มที่ทำการกู้ มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา
ประเด็นที่ 2 ให้สมาชิกกลุ่มสามารถแยกนำแม่พันธุ์โคพื้นเมืองไปเลี้ยงในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นที่ที่มีอาหารสมบูรณ์ และต้องปลอดภัยต่อสุขภาพสัตว์ได้รายละ 5 ตัว
ประเด็นที่ 3 เกษตรกรสามารถผสมพันธุ์โคแม่พันธุ์พื้นเมือง โดยใช้พ่อพันธุ์หรือน้ำเชื้อสายพันธุ์ที่ตนเองประสงค์และสะดวกทันท่วงทีกับการเป็นสัตว์ของโคแม่พันธุ์พื้นเมืองได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีตลาดรองรับแน่นอน
ประเด็นที่ 4 ให้ใช้พื้นที่คอกกลางเป็นคอกสำหรับการขุนลูกที่โคแม่พันธุ์พื้นเมืองคลอด และเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด
ประเด็นที่ 5 วงเงินกู้หมวดกิจกรรมการจ้างแรงงาน เพื่อดูแลโคแม่พันธุ์พื้นเมืองในคอกกลางสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ หากยังไม่มีการขุนโคในคอกกลาง
@@ ยันลงพื้นที่ไม่ขาด - ขอบคุณทุกภาคส่วนแจ้งปัญหา
ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้มีการแก้ไขปัญหาและการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาล โดยเบื้องต้นเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมปศุสัตว์จังหวัดสตูล ได้ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ จ.สตูล เพื่อติดตามโครงการระยะนำร่อง รับฟังความคืบหน้าเเละปัญหาอุปสรรคต่างๆ
ทั้งยังได้จัดทำข้อเสนอไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้มีการปรับปรุงคู่มือการให้เงินกองทุนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยมีเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับปรุงตามปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน อาทิ เอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินที่จำเป็นตามกำหนดในคู่มือ ยังไม่สอดคล้องกับข้อปฏิบัติจริงในพื้นที่, การพัฒนาศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ หรือ ฟีด เซ็นเตอร์ (Feed Center) ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตอาหารสัตว์ด้วยตนเองได้, ปัญหาการตรวจรับแม่วัวที่ไม่ได้รับมาตรฐานตามที่คู่มือกำหนด เป็นต้น
โอกาสนี้ ศอ.บต.ยังแสดงความขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันสำรวจ ตรวจสอบ และแจ้งข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการโคบาลชายแดนใต้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม การดำเนินการไม่เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้
ทั้งยังแจ้งหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1880 ให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วย