"...ส่วนสาเหตุที่เรื่องนี้แดงออกมาเป็นเพราะมีผู้ยื่นคำขออนุญาต 3-4 ราย ไม่พอใจ จึงนำเรื่องมาร้องเรียน ขณะที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตที่ถูกเรียกเก็บเงินด้วย ไม่ได้ออกมาร้องเรียน เพราะมองว่าเป็นเรื่องสมประโยชน์กัน สำหรับหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวผู้ถูกกล่าวหาคดี คือ การส่งสลิปโอนเงินผ่านเข้าไปในไลน์ ของผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ที่ผู้ถูกร้องเรียน บันทึกภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน..."
นายอดุลย์ หมีดเส็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองปัตตานี และพวก 2 ราย คือ นายมังโซ หะยีอาแว ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี น.ส.ศรัญยา บริบูรณ์สุข สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) กองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.เมืองปัตตานี ที่ 2
ปรากฏเป็นข่าวถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีร่วมกันทุจริต เรียก และรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน แบบ ป.3 จากผู้ยื่นคำขออนุญาต เมื่อปี พ.ศ. 2562
คดีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งคดีทุจริตสำคัญ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบยืนยันมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีนี้ พบข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดเพิ่มเติมดังนี้
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
จุดเริ่มต้นคดี เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 นายอดุลย์ หมีดเส็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองปัตตานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองปัตตานี เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการบริหารงานราชการอำเภอ และเป็นผู้บังคับบัญชากองร้อยกองอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองปัตตานี ที่ 2 และเป็นนายทะเบียนท้องที่ในเขตอำเภอเมืองปัตตานี ในการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนแบบ ป.3 ตาม พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ได้ร่วมกับนายมังโซ หะยีอาแว ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตำแหน่งปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบงานอาวุธปืน และน.ส.ศรัญยา บริบูรณ์สุข สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) กองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.เมืองปัตตานี ที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตำแหน่งอาสารักษาดินแดน ผู้ช่วยปฏิบัติงานอาวุธปืน ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา
ได้แบ่งหน้าที่กันทำ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต เรียกและรับเงินจาก ผู้ยื่นคำขออนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนแบบ ป.3 จำนวนหลายราย โดยชักจูงใจผู้ยื่นคำขออนุญาตให้นำเงินมามอบให้เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทนในการออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน แบบ ป.3 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้ยื่นคำขออนุญาต กรมการปกครอง และทางราชการ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเชิงลึกว่า มีผู้ยื่นคำขออนุญาต ที่ถูกเรียกเงินเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทน จำนวนนับสิบราย อัตราการเรียกเก็บเงิน ถ้าเป็นข้าราชการอยู่ที่ 5,000 บาท / กระบอก ประชาชนทั่วไป 8,000 บาท / กระบอก
บางรายเป็นนักกีฬา โดยเรียกเก็บเงินสูงถึง 13,000 บาท เพื่อแลกกับใบอนุญาตอาวุธปืนสั้น -ปืนยาว อย่างละกระบอก
ส่วนสาเหตุที่เรื่องนี้แดงออกมาเป็นเพราะมีผู้ยื่นคำขออนุญาต 3-4 ราย ไม่พอใจ จึงนำเรื่องมาร้องเรียน ขณะที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตที่ถูกเรียกเก็บเงินด้วย ไม่ได้ออกมาร้องเรียน เพราะมองว่าเป็นเรื่องสมประโยชน์กัน
สำหรับหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวผู้ถูกกล่าวหาคดี คือ การส่งสลิปโอนเงินผ่านเข้าไปในไลน์ ของผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ที่ผู้ถูกร้องเรียน บันทึกภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน
เบื้องต้น ผู้ถูกกล่าวหาบางราย ให้การยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาทุจริต เพราะการเรียกเก็บเงินดังกล่าว ถูกนำไปใช้ในการทำกิจกรรมของหน่วยงาน เช่นการซื้อของรางวัล แจกให้กับประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงานเท่านั้น
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า เงินที่นำไปใช้ในการซื้อของรางวัล มีแค่บางส่วนเท่านั้น ขณะที่เงินอีกจำนวนหนึ่งถูกถอนออกไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ จุดที่ใช้ในการถอนเงินดังกล่าวออกไป คือ ตู้เอทีเอ็ม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการอำเภอเมือง นั้นเอง
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เกี่ยวกับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 101/2566 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่ประชุม พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวน เบื้องต้น ดังนี้
1. การกระทำของนายอดุลย์ หมีดเส็น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายมังโซ หะยีอาแว ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม พรป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ ม.172 และ ม.173 ประกอบ ป.อาญา ม.90 และ ม.91 และมีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ม.83 (3) ประกอบ ม.85 (7) และ ม.85 (1) (4)
2. การกระทำของนางสาวศรัญยา บริบูรณ์สุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา ม.149 และ ม.157 ประกอบ ม.90 และ ม.91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือ มิชอบด้วยหน้าที่ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ม. 172 และ ม.173 ประกอบ ป.อาญา ม.90 และ ม.91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติไม่สมควรตาม พรบ.วินัยกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2509 ม.6 (7) ประกอบข้อบังคับที่ 4 เรื่อง กำหนดวิธีการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2498 ข้อ 1 (6)
3. ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายอดุลย์ หมีดเส็นนายมังโซ หะยีอาแว และนางสาวศรัญยา บริบูรณ์สุข ตามฐานความผิดดังกล่าวตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ม.91 (1) (2) และ ม.98 ต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
บทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีในชั้นศาลฯ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป