"...ร้านดังกล่าวเป็นของนายอรุณ เอ็มดู และนางทัศนี เอ็มดู ซึ่งเป็นภรรยาของนายอรุณ เอ็มดู โดยได้ปกปิดอำพรางข้อเท็จจริง ใช้ชื่อนายวัชรินทร์ คงสุวรรณ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าแทน โดยร้านนีโม่ได้ชำระค่าเช่าศูนย์อาหารให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำเพียงครั้งเดียว ในวันที่ทำสัญญาเช่าเท่านั้น แต่หลังจากนั้นร้านนีโม่ก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำแต่อย่างใด..."
นายอรุณ เอ็มดู อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด 2 ข้อกล่าวหา เรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่จากผู้ค้าขายหรือผู้ประกอบการร้านค้าในท่าเทียบเรือปากบารา โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าตามระเบียบกฎหมาย และไม่ได้นำเงินส่งเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และหาผลประโยชน์จากการบริหารจัดการท่าเทียบเรือปากบารา ที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ โดยมิชอบ
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 52 ปี 6 เดือน หลังเจ้าตัวรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ที่ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล แถลงผลคดีกล่าวหา นายอรุณ เอ็มดู เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล และพวก คือ นายอรุณ แย้มสุข พนักงานจ้างทั่วไป องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 2 ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์จากการบริหารจัดการท่าเทียบเรือปากบารา
ระบุพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่จากผู้ค้าขายหรือผู้ประกอบการร้านค้าในท่าเทียบเรือปากบารา โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าตามระเบียบกฎหมาย และไม่ได้นำเงินส่งเป็นรายได้ขององค์การบริหาร ส่วนตำบลปากน้ำ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 นายอรุณ เอ็มดู ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ได้เรียกกลุ่มผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เข้าพูดคุยเกี่ยวกับการเก็บค่าเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า โดยภายหลังจาก ที่มีการพูดคุยแล้ว ได้สั่งการให้นายอรุณ แย้มสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พนักงานจ้างทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ไปเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่รายเดือนจากร้านค้าที่ตั้งอยู่บริเวณทางเดินเข้า-ออก อาคารท่าเทียบเรือปากบารา ซึ่งไม่ได้จัดให้ผู้ประกอบการทำสัญญาเช่ากับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานให้กับผู้ประกอบการ
โดยเก็บเงินร้านจำหน่ายภาพถ่าย เดือนละ 4,000 บาท ทุกเดือน ร้านจำหน่ายสินค้าบริเวณทางเดินเข้า - ออก อาคารท่าเทียบเรือ จำนวน 8 ร้าน เดือนละ 600 บาท ต่อล็อค มีทั้งหมด 11 ล็อค มีการเก็บเงินในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน โดยจัดเก็บในเวลากลางวัน รวมเป็นเงินทั้งหมด 10,600 บาท และนายอรุณ แย้มสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จะนำเงิน 10,600 บาท ไปมอบให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ณ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในวันเดียวกัน ซึ่งบางครั้งนายอรุณ แย้มสุข จะพานายศักดา หลงสลำ ลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำไปกับนายอรุณ แย้มสุข ด้วย และ นายอรุณ เอ็มดู ได้รับเงินดังกล่าวไว้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ
เริ่มเก็บเงินจากร้านค้าดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึง วันที่ 30 มีนาคม 2561 เป็นระยะเวลา 17 เดือน เดือนละ 10,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 180,200 บาท และไม่ได้นำส่งเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ประเด็นที่ 2 หาผลประโยชน์จากการบริหารจัดการท่าเทียบเรือปากบาราที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำโดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้ออกประกาศเรื่องให้เช่าศูนย์อาหารจำนวน 2 ล็อค อาคารท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบารา โดยมีระยะเวลาการเช่า 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 – 30 กันยายน 2558 วงเงินประมูลต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อเดือนต่อล็อค ต่อมานายวัชรินทร์ คงสุวรรณ เป็นผู้เข้าประมูลและชนะการประมูล จากนั้นได้ทำสัญญาเช่าศูนย์อาหารอาคารท่าเทียบเรือท่องเที่ยวปากบารากับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ตามสัญญาเลขที่ 1/2558 ลงวันที่ 30 เมษายน 2558 อัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ระยะเวลาเช่า 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2558 ใช้ชื่อร้านนีโม่ (Coffee Nemo)
แต่ปรากฏว่าร้านดังกล่าวเป็นของนายอรุณ เอ็มดู และนางทัศนี เอ็มดู ซึ่งเป็นภรรยาของนายอรุณ เอ็มดู โดยได้ปกปิดอำพรางข้อเท็จจริง ใช้ชื่อนายวัชรินทร์ คงสุวรรณ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าแทน โดยร้านนีโม่ได้ชำระค่าเช่าศูนย์อาหารให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำเพียงครั้งเดียว ในวันที่ทำสัญญาเช่าเท่านั้น แต่หลังจากนั้นร้านนีโม่ก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำแต่อย่างใด
ทางกองคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้ทวงถามเป็นหนังสือให้ร้านนีโม่ชำระค่าเช่าเป็นจำนวน 2 ครั้ง แต่ร้านนีโม่ก็ไม่ได้ชำระค่าเช่า และองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้มีการริบเงินหลักประกันสัญญา หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ร้านนีโม่ไม่ได้มีการต่อสัญญาเช่ากับองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ แต่ยังคงเปิดร้านอยู่ในพื้นที่และได้มีการใช้ประโยชน์จากอาคารดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่าเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 และในกรณีดังกล่าว กองคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้มีหนังสือเสนอมายังนายอรุณ เอ็มดู โดยทักท้วงว่าได้มีร้านค้า เข้าใช้ประโยชน์ในอาคารของท่าเทียบเรือปากบารา โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้าดังกล่าว
แต่นายอรุณ เอ็มดู กลับเพิกเฉยไม่ลงนามในหนังสือดังกล่าวและไม่ดำเนินการใดๆ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำไม่สามารถจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ท่าเทียบเรือปากบารากับร้านนีโม่เข้าเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้ จึงบ่งชี้ได้ว่า นายอรุณ เอ็มดู มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 85/2565 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ดังนี้
การกระทำของนายอรุณ เอ็มดู ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิด ฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
การกระทำของนายอรุณ แย้มสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับนายอรุณ เอ็มดู ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน นายอรุณ เอ็มดู พิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก หากผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยไม่มีเหตุ อันสมควร ให้ถือว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.3/ว 711 ลงวันที่ 7 เมษายน 2564 และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
คำพิพากษาของศาล
ขณะที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาตัดสินคดีว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม), 151 (เดิม), 152 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อบุคคลใดมอบให้หรือให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุกกระทงละ 5 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยกระทำความผิด 153 กระทง เป็นจำคุก 306 ปี 916 เดือน และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้จำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 (3) ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่โดยใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 5 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 52 ปี 6 เดือน
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจผู้เสียหายหลายรายให้ชำระค่าเช่า แต่กลับนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน อีกทั้งยังใช้ชื่อของบุคคลทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวแทนตนเอง และไม่ชำระค่าเช่าให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย อีกทั้งเป็นการกระทำหลายกรรม โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ให้ตนเอง แม้จำเลยจะนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระค่าเสียหายให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ แต่เป็นเรื่องความเสียหายในทางแพ่ง ไม่สามารถลบล้างความผิดที่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จึงเห็นควรไม่รอการลงโทษ
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ไม่ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป