"...พิจารณาทบทวนแนวทางการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการฯโดยเน้นย้ำขั้นตอนในการลงทะเบียนหรือระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และ "ถุงเงิน" แก่ประชาชนและร้านค้าให้ตระหนักรู้ว่ามีระบบติดตาม ตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ และนำไปสู่การสืบสวนขยายผลการกระทำผิดได้ ทำให้ประชาชนและร้านค้าเกรงกลัวที่จะกระทำผิดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการฯ เพื่อปิดช่องโหว่การทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น..."
โครงการคนละครึ่ง เป็นหนึ่งในมาตรการทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีนำมาใช้รับมือกับผลกระทบที่ประชาชนเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานโครงการฯ นี้ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดําเนินงานโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1-4 พบข้อบกพร่องที่สำคัญ อาทิ ผู้ใช้สิทธิและการใช้สิทธิโครงการฯ ไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ปัญหาการดำเนินการกับผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ เป็นต้น
ปรากฏรายละเอียดตามรายงานผลการตรวจสอบดังต่อไปนี้
1. ผู้ใช้สิทธิและการใช้สิทธิโครงการฯ
จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ใช้สิทธิใน ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 จำนวน 9.98 ล้านคน/ 14.79 ล้านคน/26.35 ล้านคน/26.38 ล้านคน ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 99.76/98.62/ 94.10/90.98 ตามลำดับ แม้ภาพรวมจะมีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย แต่การที่จำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำกว่าค่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่โครงการฯ กำหนด ประกอบกับผู้ใช้สิทธิบางรายไม่ได้ใช้จ่ายครบตามวงเงินที่ได้รับ ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามงบประมาณที่ขอรับจัดสรรไว้ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีเงินงบประมาณคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 23,153.14 ล้านบาท
แม้ว่าเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวเป็นเพียงการกันวงเงินงบประมาณ แต่หากการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดสูงเกินกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิมาก จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสที่รัฐบาลจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญและเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชน สังคมและเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ทั้งนี้สาเหตุที่จำนวนผู้ใช้สิทธิไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมายตัวชี้วัด เกิดจากสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายนอกช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายภาครัฐเพื่อช่วยลดและป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การขอความร่วมมือจากประชาชนให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ประกอบกับประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดในแต่ละรอบ จึงอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมโครงการฯ และจำนวนผู้ใช้สิทธิ
2. การดำเนินการกับผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ
จากการตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าและประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ ซึ่งได้จัดส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงการระงับสิทธิการใช้งานแอปพลิเคชัน และเรียกเงินคืน จำนวน 296 ราย ซึ่งการตรวจพบการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ เกิดจากการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีความผิดปกติและนำไปสู่การสืบสวนขยายผลการกระทำผิด แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อป้องปรามการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างต่อเนื่องตลอดจนการปรับปรุงพัฒนาแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงตรวจพบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อยู่เป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีภารกิจหลักที่ไม่สอดคล้องกับโครงการฯเมื่อตรวจพบผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
3. การดำเนินการให้ประชาชนใช้สิทธิซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform)
จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 3 เป็นต้นมา ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ได้รับสิทธิสามารถใช้สิทธิซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารที่เข้าร่วม ผ่านผู้ให้บริการ
ระบบขนส่งอาหาร โดยผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหารที่สมัคร และได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ แบ่งเป็นผู้ให้บริการที่เข้ามาให้บริการในโครงการฯ ระยะที่ 3 จำนวน 3 ราย และในระยะที่ 4 มีผู้ให้บริการที่เข้ามาให้บริการ เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 ราย รวมทั้งสิ้น 5 ราย
เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการมีระยะเวลาการให้บริการที่สั้นไม่ครอบคลุมระยะเวลาการใช้จ่ายของโครงการฯ เนื่องจากไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเปิดให้บริการหลังจากได้รับอนุมัติ ซึ่งระยะเวลาในการเปิดให้บริการของผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหารแต่ละรายขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบที่โครงการฯ ใช้ เนื่องจากภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงินงบประมาณในการพัฒนาระบบดังกล่าว
เบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงดังนี้
1. การกำหนดจำนวนกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ ให้ได้ร้อยละ 100 และการมอบหมายให้มีหน่วยงานที่มีภารกิจสอดคล้องกับโครงการฯ มาดำเนินการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ แทน เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติงานตามภารกิจหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นเรื่องที่ยากในทางปฏิบัติเนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ภายใต้เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นเรื่องเฉพาะกิจและมีความจำเป็นเร่งด่วน ทำให้การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดำเนินโครงการฯ อาจจะไม่เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว
2. ข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากรเพื่อดำเนินโครงการฯ ของหน่วยงานที่เป็นองค์กรขนาดเล็กประกอบกับไม่มีหลักเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมาย เพื่อรองรับและควบคุมในการดำเนินโครงการฯ จึงได้มีข้อเสนอแนะมอบหมายหน่วยงานที่มีภารกิจที่สอดคล้องกับโครงการฯ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการแทน
ขณะที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. หากมีการจัดทำโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันกับโครงการฯ ในระยะต่อไป ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่สอดคล้องกับโครงการฯ มาดำเนินการเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการแทนเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจหลักได้อย่างเต็มศักยภาพ
2. การพิจารณาอนุมัติจำนวนเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในระยะถัดไป ต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้จำนวนเป้าหมายผู้เข้าร่วม
โครงการฯ ใกล้เคียงกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจริงมากที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาดำเนินการควรกำหนดให้มีการติดตามและประมาณการจำนวนผู้ใช้สิทธิอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณและงบประมาณคงเหลือที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการฯ และสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรและดูแลงบประมาณสามารถวางแผนและบริหารจัดการงบประมาณคงเหลือได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์กับโครงการอื่นได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ เช่น การคืนวงเงินของผู้ที่ไม่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกภายในกำหนดระยะเวลา การทยอยคืนวงเงินของผู้ใช้สิทธิที่จะไม่สามารถใช้วงเงินเต็มจำนวนได้ทันกำหนดระยะเวลา เป็นต้น
3. พิจารณาทบทวนแนวทางการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการฯโดยเน้นย้ำขั้นตอนในการลงทะเบียนหรือระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และ "ถุงเงิน" แก่ประชาชนและร้านค้าให้ตระหนักรู้ว่ามีระบบติดตาม ตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ และนำไปสู่การสืบสวนขยายผลการกระทำผิดได้ ทำให้ประชาชนและร้านค้าเกรงกลัวที่จะกระทำผิดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการฯ เพื่อปิดช่องโหว่การทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ ผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงาน มีดังนี้
1. โครงการฯ ระยะที่ 5 ได้มีการปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการลงจากโครงการฯระยะที่ 4 ซึ่งมีจำนวน 29.00 ล้านคน คงเหลือ จำนวน 26.50 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ใช้สิทธิของโครงการฯ ระยะที่ 4 จำนวน 26.38 ล้านคน และยังมีการติดตามการใช้สิทธิของประชาชนโดยกำหนดเวลาการใช้สิทธิเพื่อเปิดให้ประชาชนที่สนใจและมีความประสงค์จะได้รับสิทธิอีกได้มีโอกาสลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ
2. หน่วยรับตรวจได้มีมาตรการออกแถลงข่าวแจ้งเตือนและป้องปรามประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ระยะที่ 5 อย่างต่อเนื่อง ส่วนการตรวจสอบพิจารณา และวินิจฉัยการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขของโครงการฯ ยังคงเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องอุทธรณ์สำหรับโครงการฯ ที่ปฏิบัติเช่นเดิม
ในรายงานผลการตรวจสอนเรื่องนี้ ยังระบุเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์จากการตรวจสอบว่า หน่วยรับตรวจได้ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 5 อีกทั้งมีมาตรการแจ้งเตือนและป้องปรามประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ระยะที่ 5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินกู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าเสียโอกาสที่รัฐบาลจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญและเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชน สังคม และเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เหล่านี้ คือ รายละเอียดในรายงานผลการตรวจสอบ โครงการคนละครึ่ง ที่เกิดขึ้นในช่วงการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ของสตง. ซึ่งข้อสังเกตทั้งหมด นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาและบทเรียนสำคัญ ในการจัดทำมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้รับมือกับผลกระทบที่ประชาชนเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคร้ายในอนาคต
ข้อมูลสำคัญหลายส่วนไม่ควรถูกมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง!