"...ความไม่พอใจของ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ มองว่า ‘นายใหญ่’ เคลื่อนไหวจัดแจงตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลเกินกว่า ‘ซูเปอร์ดีล’ ที่หารือกันไว้ ที่ให้แค่อำนาจเคลื่อนไหวทางการเมืองแลกกับหยุดความเจริญเติบโตของ ‘พรรคส้ม’ ทว่า ‘นายใหญ่’ เคลื่อนไหวมากเกินไป โดยเฉพาะกรณีแอบไปเจรจาทางลับกับผู้นำบางฝ่ายของเมียนมา ท่ามกลางสงคราม และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป ถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงรัฐบาลอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งที่มีสถานะเป็น ‘ผู้ได้รับการพักโทษ’ เท่านั้น..."
นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาไต่สวน
ต่อจาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯเมื่อปี 2544 คดีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในมหากาพย์ ‘คดีซุกหุ้น’ (รอด)
‘สมัคร สุนทรเวช’ อดีตนายกฯที่ล่วงลับ คดีเป็นพิธีกรรายการทางสถานีโทรทัศน์ (ศาลสั่งพ้นเก้าอี้)
‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ คดีโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ศาลสั่งพ้นเก้าอี้)
และ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มี 4 คดีที่ถูกร้อง ทั้งกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการเป็นหัวหน้า คสช. คดีอาศัยบ้านพักหลวงทั้งที่พ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. คดีถวายสัตย์ฯไม่ครบ และคดีเป็นนายกฯเกิน 8 ปีหรือไม่ (รอดทุกสำนวน)
‘เศรษฐา’ ถูก ‘กลุ่ม 40 สว.’ ยื่นคำร้องกล่าวหาว่า เขาแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจาก ‘พิชิต’ เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
สำหรับ ‘พิชิต’ หัวหน้าทีมทนายความและฝ่ายกฎหมายประจำ ‘ครอบครัวชินวัตร’ มี ‘แผลเก่า’ ในอดีตตามหลอกหลอน กรณีถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา กรณีกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในเรื่องมีบุคคลหิ้ว ‘ถุงขนม’ บรรจุเงิน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯเป็นจำเลย ในชั้นศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
ท่าทีของ ‘พิชิต’ ต่อเรื่องนี้หลังจากมีชื่อคั่วใน ‘ครม.เศรษฐา 1/2’ จนกระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เป็นเวลากว่า 19 วันที่เขาดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ เขาดูไม่ยี่หระกับเรื่องที่เกิดขึ้น ยักไหล่ให้กับบุคคลที่คัดค้านการทำหน้าที่ของเขา
โดยยืนยันมาตลอดว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน
ขณะที่รัฐบาล โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ‘พิชิต’ ให้ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ วินิจฉัยแล้ว ‘การันตี’ ว่าแต่งตั้ง ‘พิชิต’ เป็นรัฐมนตรีได้ โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯในการทูลเกล้าฯรายชื่อ อย่างไรก็ดีถูกขุดคุ้ยว่า ประเด็นที่ สลค.ส่งกฤษฎีกาตีความนั้น มีแค่ประเด็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) หรือแค่ประเด็นการเคยถูกศาลสั่งจำคุกเท่านั้น ซึ่งกฤษฎีกาชี้ว่า หากพ้นโทษมาเกิน 10 ปีแล้วสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามกฎหมาย
แต่ประเด็นที่ ‘กลุ่ม 40 สว.’ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคือตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การแต่งตั้ง ‘พิชิต’ ถูกมองว่าเป็น ‘จุดด่างพร้อย’ ของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เนื่องจากเอาบุคคลที่เป็นดั่ง ‘องครักษ์พิทักษ์ชินวัตร’ ขึ้นมาเป็น ‘เสนาบดี’ จากการผลักดันของ ‘นารีขี่ม้าขาว’ ไม่ตอบโจทย์การบริหารราชการแผ่นดิน ที่เศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไข นโยบายหลักต่าง ๆ ของรัฐบาลยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น ไม่เป็นไปตาม ‘ซูเปอร์ดีล’ ที่เคยคุยกันไว้
ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของ สว.สาย ‘แอนตี้ชินวัตร’ เข้ามาเดินเรื่องนี้ แลกกับการยอมให้ ‘สภาฯสูง’ แตกเป็นเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัด มี สว.อนุรักษนิยมบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ที่จะยื่นร้องคุณสมบัตินายกฯ เนื่องจากหมดวาระไปแล้ว ปัจจุบัน สว.อยู่ในช่วงรักษาการ
แต่บางส่วนเห็นว่า เป็นเรื่องการตรวจสอบฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ สว.แม้หมดวาระไปแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ จึงสามารถทำได้
ที่น่าสนใจช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. ‘พิชิต’ ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่ง และพร้อมให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติ ทว่าตกบ่ายวันเดียวกัน หลังมีการเข้าพบ ‘บิ๊กเนมไทยคู่ฟ้า’ มีการเปลี่ยนท่าทีขึ้นทันควัน โดย ‘พิชิต’ ประกาศลาออก ยอมตายเดี่ยวเพื่อรักษา ‘ขุนศึก’ ไม่ให้กระทบ ‘เศรษฐา’ ให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนงานได้ต่อไป
ทำให้บรรดาฝ่าย ‘อนุรักษนิยม’ เริ่มคาดหมายว่า ‘ทิศทางการเมือง’ อาจไม่เปลี่ยน และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเอฟเฟกต์นี้คนแรก ๆ คือ ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ หนึ่งใน สว.ที่เข้าชื่อร่วมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความดังกล่าว ลาออกจากเก้าอี้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา
ฉากต่อมา ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ สว. ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ยืนยันประเด็นนี้ว่า เขาไม่อยู่ในกลุ่ม 40 สว.ที่เข้าชื่อยื่นคำร้องดังกล่าว แต่กลับมีการอ้างชื่อไปยื่นคำร้อง แถมถ้าให้มีการเปิดชื่อ 40 สว.ว่าเป็นใครบ้าง ไม่ใช่ให้สื่อเดาไปต่าง ๆ นานา
ความคืบหน้าล่าสุดเป็นไปตามคาดคือ เมื่อ ‘พิชิต’ ชิงลาออก ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องไว้ไต่สวนเฉพาะกรณี ‘เศรษฐา’ ที่น่าสนใจคือมติที่เฉียดดิว เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า ไม่ควรสั่งให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ สะท้อนให้เห็นว่าชื่อของ ‘เศรษฐา’ ยังคง ‘สุ่มเสี่ยง’ ทุกเมื่อ
ความไม่พอใจของ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ มองว่า ‘นายใหญ่’ เคลื่อนไหวจัดแจงตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาลเกินกว่า ‘ซูเปอร์ดีล’ ที่หารือกันไว้ ที่ให้แค่อำนาจเคลื่อนไหวทางการเมืองแลกกับหยุดความเจริญเติบโตของ ‘พรรคส้ม’ ทว่า ‘นายใหญ่’ เคลื่อนไหวมากเกินไป โดยเฉพาะกรณีแอบไปเจรจาทางลับกับผู้นำบางฝ่ายของเมียนมา ท่ามกลางสงคราม และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป ถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงรัฐบาลอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งที่มีสถานะเป็น ‘ผู้ได้รับการพักโทษ’ เท่านั้น
ลำพัง ‘ซูเปอร์ดีล’ ครั้งนี้ก็สร้างภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างติดลบในกระบวนการยุติธรรมมากพออยู่แล้ว กลับมีความพยายามผลักดันพา ‘น้องสาว’ ที่มีโทษจำคุกรออยู่ ให้กลับบ้านในลักษณะแบบเดียวกับตัวเองอีก ในช่วงเวลากระชั้นชิดที่กระแสสังคมยังคงโกรธกับเรื่องนี้อยู่ ทำให้ ‘อนุรักษนิยม’ บางกลุ่มไม่ทนอีกต่อไป และจำเป็นต้องออกมาเดินเกมเพื่อแก้ไขข้อเสนอใน ‘ซูเปอร์ดีล’ อีกรอบ
โดยหาก ‘เศรษฐา’ รอดพ้นเงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญมาได้ รัฐบาลก็เดินหน้าทำงานต่อ แต่แผนการกลับบ้านของ ‘นารีขี่ม้าขาว’ เดิมวางไว้ ต.ค.ปีนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
แต่ถ้า ‘เศรษฐา’ ไม่รอด ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง อำนาจการเลือกนายกฯจะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร 500 คน โหวตใหม่ ทีนี้ตัวเลือกในบัญชีชิงนายกฯของเพื่อไทยอาจเป็น ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ถูกผลักดันให้มาเป็นนายกฯแทน ก็เป็นไปได้
แต่สมการการเมืองอาจผลิกผันยิ่งกว่านั้นเพราะยังมี 2 ปัจจัยประกอบ ได้แก่ 1.สว.หมดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เนื่องจากหมดวาระตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2.พรรคก้าวไกล ยังขึ้นเขียงรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคดียุบพรรค เพราะฉะนั้นอาจมี ‘มือมืด’ เดินเกม ‘พลิกขั้ว’ การเลือกนายกฯคนใหม่ อาจมิใช่คนในตระกูล ‘ชินวัตร’ ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน
นี่เป็นแค่บางส่วนจากหลังม่านการเดินเกมของ ‘ฝ่ายอนุรักษนิยม’ ที่ต้องการล่าม ‘นายใหญ่’ ให้อยู่ในร่องในรอยของ ‘ซูเปอร์ดีล’ ตามที่ตกลงกันไว้
ส่วนจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ต้องรอลุ้นผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันก่อน