ในรายงานระบุว่า 25 %ของผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองที่ถูกสำรวจ พบว่าพวกเขาต้องให้ของขวัญ สิ่งตอบแทนบางอย่าง หรือเงินแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้บริการพวกเขา การทุจริตยังเป็นอีกเหตุผลที่ผลักดันความต้องการการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ที่ลอบเข้าเมืองเห็นว่าพวกเขาต้องการผู้ให้บริการลักลอบขนคนเพื่อช่วยดำเนินเรื่องกับเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมทุจริต
หนึ่งในปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน คือ วิกฤติการลักลอบขนคน,ผู้ลี้ภัย ข้ามพรมแดน ที่หลายประเทศยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุดมีรายงานจากสหประชาชาติระบุว่าสิ่งที่ผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นมาจากหลายปัจจัย รวมไปถึงปัจจัยด้านการทุจริตในหลายประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานที่ว่านี้มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
“ฉันหนีออกจากเมียนมา เพราะฉันรู้สึกไม่ปลอดภัย”
อิบราฮิม ชาวโรฮิงญาในวัย 20 กว่าปีกล่าว และกล่าวว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การเผาหมู่บ้านของเขา ทำให้ทุกคนต้องหนี
และอิบราฮิมก็ไม่ใช่แค่คนเดียวที่เจอกับปัญหาที่ว่านี้ เนื่องจากงานวิจัยฉบับใหม่ของสํานักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่าผู้คนหลายหมื่นคนจากเมียนมา จากส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจากนอกภูมิภาคถูกลักลอบเข้าและออกจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและ ไทยทุกๆปี
ในรายงานชื่อว่าการศึกษาการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Migrant Smuggling in Southeast Asia) ซึ่งเป็นรายงานตัวล่าสุดที่ถูกเผยแพร่โดยศูนย์สังเกตการณ์ว่าด้วยการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นของ UNODC พบว่า ปัญหาการประหัตประหารระหว่างกัน การไร้สัญชาติ การขาดช่องทางทางกฎหมาย การย้ายถิ่นของแรงงานและการทุจริต เป็นแรงผลักดันหลักของความต้องการให้เกิดการใช้บริการลักลอบขนแรงงานเถื่อน
@พอทนไม่ไหว จึงต้องหลบหนี
“ความต้องการมีมากขึ้นสำหรับผู้คนที่ต้องการหนีจากสถานการณ์เลวร้าย จําเป็นต้องหนีความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมียนมา" ผู้ให้ข้อมูลรายหนึ่งซึ่งให้สัมภาษณ์สําหรับการทำวิจัยในประเทศไทยกล่าวและกล่าวต่อไปว่า "จากนั้นการขาดเส้นทางทางกฎหมาย ก็ทำให้เกิดปัจจัยที่สมบูรณ์แบบสําหรับความต้องการบริการลักลอบขนแรงงานเถื่อน"
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าความต้องการลักลอบนําเข้าแรงงานเพื่อนได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยที่หลากหลายและมักจะซับซ้อน และเกิดขึ้นในหมู่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเพราะพวกเขามองว่าไม่มีทางเลือกอื่นสําหรับการย้ายถิ่นเป็นประจํา บางคนที่ว่านี้ก็เช่นนายอิบราฮิมที่กําลังหลบหนีความขัดแย้งความรุนแรงและการประหัตประหารในเมียนมา
มีบุคคลอื่นๆเช่นนางอินดาห์ (Indah) หญิงชาวอินโดนีเซียในวัยสี่สิบกลางๆ โดยเธอรู้สึกว่าช่องทางปกติเพื่อจะย้ายถิ่นแรงงานนั้นทำได้อย่างจำกัดมาก
“เพื่อนของฉันยังบอกฉันด้วยว่าโอกาสที่จะเข้ามาเลเซียจะน้อยลงถ้าเรามาด้วยตัวเอง "บางคนถูกปฏิเสธที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหากพวกเขาไม่ใช้เตกอง (tekong) หรือผู้ลักลอบเข้าเมือง เพราะเตกองจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “เงินค้ําประกัน'”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอื่น ๆ ที่ไร้สัญชาติหรือขาดเอกสารการเดินทางหรือบัตรประจําตัว
“ฉันไม่มีเอกสารในการเดินทาง” ผู้หญิงรายหนึ่งจากรัฐชินในเมียนมากล่าวและกล่าวว่าตัวเธอเพิ่งจะออกนอกประเทศด้วยความช่วยเหลือของนายหน้า (ผู้ลักลอบ) พวกเราไม่เคยเข้าสู่กระบวนการขอเอกสารเพราะว่าทหารอยู่ทุกแห่งในเมียนมาแม้กระทั่งที่สนามบิน
ปัจจัยนำไปสู่ความต้องการลักลอบขนคนข้ามแดน
การทุจริตเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดและเกื้อหนุนการลักลอบขนผู้อพยพ ในรายงานระบุว่า 25 %ของผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองที่ถูกสำรวจ พบว่าพวกเขาต้องให้ของขวัญ สิ่งตอบแทนบางอย่าง หรือเงินแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้บริการพวกเขา การทุจริตยังเป็นอีกเหตุผลที่ผลักดันความต้องการการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ที่ลอบเข้าเมืองเห็นว่าพวกเขาต้องการผู้ให้บริการลักลอบขนคนเพื่อช่วยดำเนินเรื่องกับเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมทุจริต
นางอินดาห์ยกตัวอย่างว่าอย่างเช่นเตกอง ก็จะให้บริการทั้งการขนส่ง อาหาร ที่พักในโรงแรม หนังสือเดินทางและเงินรับประกันให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
เงินค่าธรรมเนียมสำหรับบริการลักลอบขนคนเข้าเมืองนั้นมีตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องการการลอบขนคนเข้าเมืองในรูปแบบไหน อาทิ ทางบก,ทางทะเล ทางอากาศ หรือว่าแบบผสมกันทั้งหมด และเงินค่าธรรมเนียมที่ว่ามานี้ต้องจ่ายในรูปแบบของเงินสด เพื่อที่จะไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้
@การเดินทางที่ยากลําบาก
ผลการสำรวจซึ่งไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไมผู้ลักลอบเหล่านี้จึงต้องการจะย้ายถิ่นฐาน พบว่าจากจำนวน 4,785 คนของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย มีสัดส่วนถึง 75 % ที่ผู้ลักลอบเหล่านี้จะถูกล่วงละเมิดในบางรูปแบบระหว่างเดินทาง
“นายหน้ามีไว้เพื่อทำร้ายคุณ” ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งกล่าวและกล่าวว่านี่เป็นกฎที่เหล่านายหน้าอยู่กับมัน
65% ของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ลักลอบเข้าเมืองยังประสบกับการทารุณกรรมทางร่างกายที่กระทําโดยเจ้าหน้าที่ทหาร,ตํารวจ,นายหน้าผู้พาคนลักลอบเข้าเมือง, เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนหรือแก๊งอาชญากร โดยผู้หญิง 11% และผู้ชาย 6% เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในขณะที่ผู้ชาย 9% และผู้หญิง 6% เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
“การเดินทางนั้นน่ากลัว” นางเลียน หญิงวัย 19 ปีจากรัฐชิน เมียนมากล่าว โดยเธอกล่าวถึงการเดินทางเป็นเวลาแปดวันจากย่างกุ้งมากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าเราต้องเดินทางตอนกลางคีน เราไม่สามารถใช้แสงใดๆได้เลย และเราทำได้แค่เป็นคนตามคนที่อยู่ข้างหน้าโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป ในบางครั้งก็มีบางคนที่เกิดหลงทาง
ขณะที่นางอองวัย 19 ปี กล่าวถึงการเดินทางลักลอบมายังประเทศไทยว่าเป็นการยากมากที่จะเอาชีวิตรอบในหุบเขา
“ฉันได้ยินเสียงปืน และก็มีข่าวลือว่าทางการกำลังค้นหาผู้ลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย แม้ว่าฉันจะค่อนข้างมีไหวพริบ แต่ฉันก็ยังพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาอาหารและน้ำให้เพียงพอ การปีนภูเขาก็ยากเช่นกันเพราะมีความเสี่ยงที่จะล้มได้ทุกเมื่อ”
@ราคาที่คุ้มที่จะจ่าย?
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความยากลำบาก แต่ผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยประมาณ 48% ซึ่งได้ทำการตอบแบบสอบถามกล่าวยืนยันว่าพวกเขาเลือกที่จะเดินทางมาอย่างแน่นอน แม้ว่าจะรู้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอย่างไร อีก 40% กล่าวว่าพวกเขาคงจะไม่มา ในขณะที่อีก 12 % กล่าวว่าพวกเขายังไม่ตัดสินใจ