"... ในการแจ้งอัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการร้องขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีริบทรัพย์สินรายการเงินสินบนจำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (10 ล้านบาท) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ได้มาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว นั้น ป.ป.ช. ได้มีการขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสั่งให้นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่น แทนตามมูลค่าดังกล่าว..."
คดีสินบนการเอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) ซึ่งมีการจ่ายเงินให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนกว่า 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) ให้กับเจ้าหน้าที่บางราย นั้น
มีการเผยแพร่มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ อดีตกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ. ) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เป็นทางการไปแล้ว
แยกเป็น 2 กลุ่มสำคัญ คือ
1. นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายอนุชา สิหนาทกถากุล และนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และการกระทำของนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2. นายเผ่าเผด็จ วรบุตร มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 5 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 60 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
โดยในส่วน นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ถูกระบุว่า ได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัท แควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) อันเป็นการรับทรัพย์สินที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
เบื้องต้น มติ ป.ป.ช. นอกจากจะให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
ยังให้มีการแจ้งอัยการสูงสุดดำเนินการร้องขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ริบทรัพย์สินรายการเงินสินบนจำนวนรวม300,543 ดอลลาร์สหรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 ด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเชิงลึกผลการไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช.เพิ่มเติมว่า
1. ในชั้นไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากถึง 15 ราย
2. มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 9 ราย ที่จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟ้งได้ว่ากระทำความผิดด้วย อาทิ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในเครือ ปตท.อีกหลายคน เช่น นายพีรฉัตร ปิ่นประยงค์ นายชัยพล จิรากร นายสืบพงษ์ ศิริรักวงษา เป็นต้น
3. มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2 ราย เสียชีวิตไปแล้ว คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ , นายลือชัย วงศ์สิรสวัสดิ์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
4. มีผู้ถูกกันตัวไว้เป็นพยานไม่ดำเนินคดี จำนวน 3 ราย
5. ฐานความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ขาดอายุความไปแล้ว
ส่วนข้อกล่าวเป็นทางการในส่วนของ นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ที่ถูกระบุว่าได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายที่ 11 ในคดีนี้ นั้น มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงาน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 ฐานเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5 และมาตรา 12 ฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 60 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169)
แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 60 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้
นอกจากนี้ นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท หรือตัวแทน และฐานจงใจทำให้บริษัท หรือตัวแทนได้รับความเสียหาย ตามระเบียบปฏิบัติบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2545 เรื่อง วินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ ข้อ 2.5 ก. และ ข. ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัทหรือพนักงาน และฐานจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ตามระเบียบบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ.2548 ข้อ 3.7.3 ก. และ ข.
ขณะที่ ในการแจ้งอัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการร้องขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีริบทรัพย์สินรายการเงินสินบนจำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (10 ล้านบาท) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ได้มาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว นั้น ป.ป.ช. ได้มีการขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสั่งให้นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่น แทนตามมูลค่าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกรทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 ด้วย
พฤติการณ์การกระทำความผิด
ส่วนพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เป็นกรณีสืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศและในการทำข้อตกลงชะลอการฟ้อง (Deferred Prosecution Agreement) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาทิตย์ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้จ้างตัวกลาง และค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้ตัวกลางส่วนหนึ่ง ถูกนำไปใช้เป็นสินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาโครงการดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยกเหตุควรสงสัยขึ้นดำเนินการไต่สวน โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2551 บริษัท ปตท. สำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการก่อสร้างแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา และมีการจัดหา Feed Gas Turbine Compressor (เครื่องอัดอากาศแบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการป้อนก๊าซจากแหล่งที่มาเข้าสู่กระบวนการผลิต) จำนวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 27,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000,000,000 บาท)
โดยคณะกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วย นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ ซึ่งในการดำเนินการจัดหา นายเผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่ง (TOA) ได้กระทำการเร่งรัดเพื่อให้มีการออกหนังสือเชิญบริษัทที่จะร่วมประมูลซึ่งรวมถึงบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ก่อนที่คณะกรรมการจัดหาของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นชอบ ประกอบกับในการพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ในฐานะอนุกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ โดยมีข้อคิดเห็น ให้จัดทำตัวเลขเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเพื่อพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเป็นผู้เสนอราคาดีที่สุดและ เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สูงสุด เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง
แต่นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กลับเร่งรัดรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ทั้งที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติ เพียงเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ และยังไม่มีการดำเนินการตามข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทั้งที่ เป็นประเด็นสาระสำคัญ รวมทั้งนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจและอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงรายละเอียด ของมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจแต่อย่างใด
พฤติการณ์จึงเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าการจัดหารวม 24,663,303 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000,000 บาท)
โดยนายเผ่าเผด็จ วรบุตร ได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัท แควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) อันเป็นการรับทรัพย์สินที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลเชิงลึก อิศรา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2560 ที่ปรากฏข่าวกรณีกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ในช่วงปี 2546-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการของ 2 บริษัทการดำเนินธุรกิจของ ปตท. นั้น
สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า ในช่วงระหว่างปี 2553 -2555 (3 ปี) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด ได้ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงิน 254,553,893 บาท
นอกจากสำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบอีกว่า ปตท.จัดซื้อ เครื่องยนต์ Rolls-Royce และอะไหล่ Rolls-Royce จาก บริษัทขายเครื่องยนต์แห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในประเทศไทยอีกเกือบสิบสัญญา มูลค่านับร้อยล้านบาท (2552-2556) โดยบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญากับ ปตท.ระหว่างปี 2545- ม.ค.2556 อย่างน้อย 38 สัญญา กว่า 755.7 ล้านบาท เช่น จัดซื้อ Fuel valve และ Valve Controller สำหรับเครื่องยนต์ Rolls-Royce โรงแยกก๊าซอีเทน จำนวน 3 รายการ 12,560,000 บาท เป็นต้น
ขณะที่ในเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 พบว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายสินบนให้กับพนักงานใน ปตท. และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มูลค่าการมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 385 ล้านบาท
โดยสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ประมาณช่วงปี 2543 ถึง 2555 บริษัทโรลส์รอยส์ บริษัท PRESI(ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโรลส์รอยส์ ซึ่งผลิตเครื่องมือที่เกี่ยวกับธุรกิจด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ผู้บริหาร1 ราย พนักงานอีก 3 ราย และไม่สามารถระบุได้อีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนเป็นจำนวนเงินกว่า 35 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ให้กับนายหน้ารวมถึงที่ปรึกษาด้านการค้า ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถูกจ่ายในนาม ค่าคอมมิสชั่นให้กับบริษัทด้านพลังงานในไทย บราซิล คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน แองโกลา อิรัค และอื่นๆ เพื่อแลกกับการล็อบบี้การประมูลคู่สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์รวมไปถึงบริการหลังการขายในการบำรุงรักษา ในโครงการต่างๆ
ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางบริษัทโรลส์รอยส์ จ่ายเงิน ให้แก่ ผู้บริหาร 1 ราย พนักงานบริษัท 3 ราย และอื่นๆ(ที่ยังไม่สามารถระบุได้) ได้มีการติดต่อผ่านนายหน้าเพื่อขอจ่ายเงินสินบน (ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นค่าคอมมิสชั่น) ในการล็อบบี้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ. ให้จัดทำสัญญาจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงบริการดูเเลหลังการขาย
รายงานของหน่วยงานในสหรัฐระบุอีกว่า การจ่ายสินบน เกิดขึ้นระหว่างปี 2546-2555 ที่ทางบริษัท PRESI ได้จ่ายเงินสินบนราว 11 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยโครงการที่ทางบริษัท PRESI ชนะการประมูลได้แก่
1.โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) จำนวนเงิน 2,494,728 ดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 24กรกฏาคม 2546 - 16 พฤจิกายน 2547
2.โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 จำนวนเงิน 2,287,200 ดอลล่าร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2551 - 13 พฤจิกายน 2552
3.หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) จำนวนเงิน1,386,389 ดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2549 ถึง 24 มกราคม 2551
4.แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) 1,096,006 ดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2549 - 18 มกราคม 2547
5.โครงการ PCS จำนวนเงิน 2,073,010 ดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2549 - 11 กันยายน 2551
6.โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) จำนวนเงิน 1,934,031 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2550 - 18 กุมภาพันธ์ 2556 และ โครงการ ESP 2012
แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงการตรวจสอบข้อมูลโครงการอื่นๆ ว่ามีปัญหาเรื่องการจ่ายสินบนเกิดขึ้นจริงหรือไม่
หลังปรากฏข่าวผลการชี้มูลคดีนี้ ของ ป.ป.ช. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะต้องส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อพิจารณา หากพบมูลความผิดก็ยื่นเรื่องฟ้องศาล แต่หากอัยการไม่เห็นด้วยและไม่ยื่นเรื่องฟ้องศาล ทาง ป.ป.ช.มีสิทธิ์ยื่นฟ้องศาลเองได้เลย สุดท้ายก็ขึ้นกับการตัดสินของศาลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลาและอาจต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เพราะบุคคลที่ถูกชี้มูลเป็นอดีตผู้บริหารปตท.สผ.
นายอรรถพล ยังระบุด้วยว่า แต่อยากให้เข้าใจกระบวนการตรวจสอบลักษณะนี้เป็นขั้นตอนปกติ ภายในองค์กร ปตท.เองก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเมื่อพบความผิดปกติ เพื่อให้เป็นธรรมทุกฝ่าย และป้องปรามการทุจริตในองค์กร แต่อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวเป็นเรื่องของอดีตผู้บริหาร ปตท.สผ. และผ่านมานาน ดังนั้นก็อาจไม่มีการตั้งทีมกฎหมายเพื่อดำเนินการใด (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากhttps://mgronline.com/)
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
ในท้ายที่สุด บทสรุปผลการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทย เดินย้ำซ้ำรอยกระทำความผิดแบบเดียวกัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป