เส้นทางการค้าอื่นๆที่ว่านี้ก็ได้แก่ประเทศไทย โดยในรายงานของนายแอนดรูว์ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่ายังคงมีนิติบุคคลที่ดำเนินงานที่ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนร่วมในการจัดส่งอะไหล่สำหรับระบบอาวุธชั้นสูง วัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับการผลิตในระดับโรงงานผลิตอาวุธของ SAC ไปให้กับทางเผด็จการทหารเมียนมา
รายงานจากสหประชาชาติหรือยูเอ็นเมื่อปี 2566 ระบุว่ามีนิติบุคคลในประเทศต่างๆที่พบว่ามีส่วนในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์,ยุทธภัณฑ์ให้เหล่าเผด็จการทหารเมียนมา นี่ส่งผลทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องมีท่าทีตอบสนองต่อเรื่องนี้ (อ่านประกอบ:เจาะรายงาน UN อ้างชื่อ 25 บ.ไทย ส่งยุทธภัณฑ์ให้กองทัพเมียนมา954 ล.-โยง'ผู้ค้าอาวุธ' สำคัญ)
ล่าสุดมีรายงานจากสำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆในอาเซียนที่เริ่มตอบสนองต่อปัญหาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามการที่สิงคโปร์ได้คุมเข้ม ป้องกันการค้าอาวุธเถื่อน ก็ส่งผลทำให้ไทยอาจจะกลายเป็นตลาดการค้าอาวุธเถื่อนแห่งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การสู้รบทวีความรุนแรงและฝ่ายเผด็จการกำลังเสียเปรียบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานที่ว่านี้มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ไม่นานนี้สิงคโปร์ได้มีท่าทีตอบสนองต่อแรงกดดันที่มาจากยูเอ็น ด้วยการปราบปรามการขายอาวุธเถื่อนในดินแดนของตนที่จะส่งต่อไปยังเมียนมา ซึ่งนี่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเหล่าบรรดานายพลที่กำลังต่อสู้หลังจากเข้าสู่ปีที่สามของการยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือน
นายโธมัส แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่ารัฐบาลของสิงคโปร์ในช่วงไม่นานนี้ได้มีการตอบสนองทันทีต่อรายงานของเขาที่ถูกเผยแพร่เมื่อปี 2566 ซึ่งในรายงานระบุว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนิติบุคคลมากเป็นอันดับสามในการเป็นแหล่งจัดหาอาวุธ,ยุทธภัณฑ์ และยังเป็นประเทศที่เคยมีความสำคัญในการจัดซื้ออาวุธของเผด็จการทหารเมียนมา
กลุ่มต่อต้านเข้ายึดเมืองเมียวดีได้สำเร็จ (อ้างอิงวิดีโอจาก TRT World)
"รายงานฉบับต่อมาของผมที่ส่งตรงไปถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนพบว่าการส่งออกวัสดุอาวุธจากสิงคโปร์ไปยังเมียนมาลดลง 83 เปอร์เซ็นต์" นายแอนดรูว์กล่าวและย้ำว่า "นี่เป็นก้าวสําคัญและเป็นตัวอย่างของวิธีที่รัฐบาลสามารถสร้างความแตกต่างให้กับผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายจากสถานการณ์ในเมียนมา"
การที่สิงคโปร์เดินหน้าปราบปรามนิติบุคคลเหล่านี้ได้ส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และกองทัพของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน
โดยตอนนี้กองทัพเมียนมากำลังดิ้นรนเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังที่ต่อต้านการปกครองเผด็จการทหาร และประสบความความล้มเหลวในการผลักดันบรรดาแนวร่วมของชนกลุ่มน้อยและกองกำลังต่อต้าน ส่งผลทำให้ทัพเมียนมาต้องละทิ้งพื้นที่ติดพรมแดนไทย,จีน และอินเดีย
นักวิเคราะห์มองว่าสัญญาณของความสิ้นหวังของเหล่าบรรดานายพลทัพเมียนมาที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการที่พวกเขาได้ขยายขอบเขตของกฎหมายการเกณฑ์ทหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังพลของพวกเขา
รายงานของนายแอนดรูว์ปี 2566 ชื่อว่าการค้าความตายมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ (The Billion Dollar Death Trade) ให้รายละเอียดว่ามีการถ่ายโอนอาวุธและยุทธภัณฑ์คิดเป็นมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งตรงไปถึงเหล่าบรรดานายพลผู้ปกครองเมียนมาหรือที่เรียกว่าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)
โดยนิติบุคคลในสิงคโปร์จำนวน 138 แห่ง พบว่าเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์,ยุทธภัณฑ์ ไปยัง SAC ในช่วงปี 2564-2565 คิดเป็นมูลค่า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,311,640,000 บาท) อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุชื่อนิติบุคคลในสิงคโปร์ว่าชื่ออะไรบ้าง ขณะที่นิติบุคคลในประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งยุทธภัณฑ์ในรายงาน อาทิ นิติบุคคลจากไทย,รัสเซีย,จีน,อินเดีย พบว่ามีการระบุชื่อชัดเจน
ทางฝั่งของสิงคโปร์ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์เองก็มีการกล่าวชมความพยายามของนายแอนดรูว์ “"ในการให้ข้อมูลเพื่อช่วยการสอบสวนของสิงคโปร์ว่ามีการกระทําความผิดภายใต้กฎหมายสิงคโปร์หรือไม่" โดยสิงคโปร์มีจุดยืนตามหลักการในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ไร้อาวุธและได้ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้มีการไหลบ่าของอาวุธไปยังเมียนมา
@การขัดขวางการส่งอาวุธ
รายงานฉบับล่าสุดของนายแอนดรูว์ที่ส่งไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่าไม่พบว่ามีหลักฐานว่ารัฐบาลสิงคโปร์รับรู้เกี่ยวกับการถ่ายโอนยุทธภัณฑ์เกิดขึ้นหรือไม่
นายแอนดรูว์ได้บรรยายด้วยว่าหลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานในปี 2566 และมีความพยายามทางการทูตอยู่หลายครั้ง รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้มีการสืบสวนเกี่ยวกับรายงานนี้และมีความยินดีที่จะให้นายแอนดรูว์มาเยือนประเทศสิงคโปร์เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการสืบสวน
หลังจากที่สหรัฐอเมริกา ได้กําหนดมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ต่อธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา และธนาคารเพื่อการลงทุนและการพาณิชย์เมียนมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังให้ไฟเขียวแก่ธนาคารยูโอบีและธนาคารอื่นๆ ของสิงคโปร์ให้หยุดให้บริการบัญชีที่เชื่อมโยงกับเมียนมา
ส่วนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซาน ซูจีซึ่งถูกโค่นล้มในการรัฐประหารกล่าวว่าการแทรกแซงของสิงคโปร์ได้ลดความสามารถในการจัดซื้อจัดจ้างของเหล่าบรรดานายพลลงอย่างมาก
“การกระทําของสิงคโปร์ได้เน้นย้ำถึงอํานาจที่สมาชิกอาเซียนมีเพื่อขัดขวางการก่อการร้ายของรัฐบาลทหารเมียนมาต่อประชาชนของตนเองด้วยการตัดการเข้าถึงอาวุธ” นายซาซา รัฐมนตรีเงาของพรรค NUG กล่าว
นายซาซายังได้เรียกร้องให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนยุติยุคสมัยการปกครองที่โหดร้ายในเมียนมา และย้ำว่าต้องเอาเหล่าบรรดานายพลออกไป ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพไม่เพียงแต่ในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงเสถียรภาพในระดับโลก
“วิกฤตหายนะที่เกิดจากรัฐบาลทหารเมียนมาได้ลุกลามข้ามพรมแดนระหว่างประเทศแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของเรา หากรัฐบาลทหารดําเนินการบังคับใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร มีแต่จะยิ่งทําให้วิกฤตรุนแรงขึ้น ซึ่งนําไปสู่ความไม่มั่นคงในภูมิภาคต่อไป” นายซาซากล่าว
ขณะนี้รัฐบาลทหารกําลังอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหลังจากกองกําลังต่อต้านรัฐประหารรุกคืบ ซึ่งทําให้สูญเสียฐานทัพทหารหลายร้อยแห่งในรัฐทางตอนเหนือและเมืองสําคัญหลายแห่งตามแนวชายแดนจีน รวมถึงในรัฐยะไข่ทางตะวันตก
พันธมิตรของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกองกำลังต่อต้านรัฐประหารยังบังคับให้กองทัพต้องล่าถอยจากเมืองเมียวดีที่มีความสําคัญทางยุทธศาสตร์ที่ชายแดนไทย
ขณะที่รัสเซียและจีนยังคงเป็นแหล่งสำคัญของระบบอาวุธขั้นสูงของกองทัพเมียนมาซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (14,692,000,000 บาท) และ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,549,800,000 บาท) ตามลําดับนับตั้งแต่การรัฐประหาร ตามรายงานของนายแอนดรูว์ในปี 2566 ในช่วงวันกองทัพเมื่อเดือนที่แล้ว นายอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย เป็นแขกผู้มีเกียรติอีกครั้ง ขณะที่ประเทศเลือกที่จะคว่ำบาตรเมียนมา
รายงานข่าวเครื่องบินมิก-29 เมียนมา ซึ่งผลิตจากรัสเซียถูกยิงตก (อ้างอิงวิดีโอจาก Pro Tech Myanmar)
@จําเป็นต้องมีการดําเนินการในระดับภูมิภาค
วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการรัฐประหารส่งผลให้ ผู้คนมากกว่า 2.5 ล้านคนต้องลี้ภัยจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคงตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ตามการประมาณการของสหประชาชาติ เรื่องนี้สร้างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อประเทศในอาเซียนเกี่ยวกับความล้มเหลวในการตอบสนองต่อวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพหรือเพื่อยับยั้ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย
อาเซียนซึ่งเมียนมาเข้าร่วมในปี 2540 ถูกแบ่งแยกระหว่างประเทศที่ต้องการใช้มาตราการที่แข็งกร้าวต่อเมียนมา ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ และประเทศที่เรียกร้องให้มีส่วนร่วมกับเมียนมา เช่น กัมพูชา
สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้เคยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สไปว่า SAC กำลังสูญเสียความแข็งแกร่ง ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการพูดคุยกับเมียนมา
การแทรกแซงของนายกรัฐมนตรีไทยเกิดขึ้นหลังจากมีข้อมูลว่าประเทศไทยอนุญาตให้เหล่าบรรดาข้าราชการ ผู้นำทหารเมียนมา ใช้ไทยไปทางผ่านเมื่อตอนที่ต้องละทิ้งเมืองเมียวดี
ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหว Justice for Myanmar ได้มีการเรียกร้องให้สิงคโปร์เร่งการดำเนินคดีต่อเหล่าบรรดานายหน้าค้าอาวุธที่มีส่วนส่งอาวุธไปยังกองทัพเมียนมา เนื่องจากเป็นการละเมิดการควบคุมการส่งออกและเพื่อยับยั้งผู้อื่นที่แสวงหาผลกําไรจากการค้าอาวุธไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
“เรายินดีกับสิงคโปร์ที่ดําเนินการเพื่อขัดขวางนายหน้าค้าอาวุธของรัฐบาลทหาร แต่รัฐบาลสิงคโปร์จําเป็นต้องทํามากกว่านี้เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุน อาวุธ อุปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินของรัฐบาลทหาร มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ที่ว่ามีกลุ่มชาวเมียนมาที่มีฉาวโฉ่ยังคงทํางานและอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ และสิงคโปร์ยังไม่ได้มีการลงโทษใดๆกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารและธุรกิจของพวกเขา ซึ่งนี่ตรงกันข้ามเลยกับการมีมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับรัสเซียในกรณียูเครน” นายาดานาร์ หม่อง(Yadanar Maung)โฆษก Justice for Myanmar กล่าว
นายหม่องกล่าวต่อไปว่าแต่แม้ว่าสิงคโปร์จะเริ่มบีบคั้นเส้นทางส่งอาวุธไปยังเมียนมา เขากังวลว่าเหล่าบรรดาโบรกเกอร์อาวุธกำลังมองหาเส้นทางการค้าอื่นๆ
เส้นทางการค้าอื่นๆที่ว่านี้ก็ได้แก่ประเทศไทย โดยในรายงานของนายแอนดรูว์ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่ายังคงมีนิติบุคคลที่ดำเนินงานที่ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนร่วมในการจัดส่งอะไหล่สำหรับระบบอาวุธชั้นสูง วัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับการผลิตในระดับโรงงานผลิตอาวุธของ SAC ไปให้กับทางเผด็จการทหารเมียนมา
“มีสัญญาณว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สําหรับกลุ่มโจรและนายหน้าค้าอาวุธ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้จะดําเนินต่อไปหากไม่มีการดําเนินการระหว่างประเทศที่ประสานกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร” นายหม่องกล่าว