“…ในพื้นที่ผมมีพื้นป่าชายเลนที่ท้องถิ่นไปตีความว่าเป็นที่รกร้าง เจ้าของที่เลยไปตัดป่าชายเลนออกแล้วถมดิน ผมมองว่าเรื่องนี้อันตรายต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้ายังมีป่าชายเลนอยู่ก็ช่วยป้องกันได้…”
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญและมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งในด้านเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำหลายชนิด เป็นป่าที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าป่าประเภทอื่น ๆ ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และไม้จากป่าชายเลนยังสามารถนำไปสกัดสารเคมีหรือนำมาเผาถ่านเป็นแหล่งพลังงานได้
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพทั้งหมดประมาณ 1,737,019.90 ไร่ กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ รวม 24 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา มีพื้นที่ป่าชายเลนคง สภาพจำนวน 288,443.90 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.61 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด
อย่างไรก็ตามแม้ป่าชายเลนจะมีประโยชน์มากมาย แต่ภายหลังที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 ให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ป่าชายเลนหลายแห่งถูกทำลาย เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ที่มีที่ดินเป็นป่าชายเลนรับภาระจ่ายเงินภาษีไม่ไหว จึงต้องถางทำลายป่าชายเลนทิ้งแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชผลทางการเกษตรแทนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน
คำถาม คือ เราจะรักษาป่าชายเลนไว้อย่างไร เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีที่ดิน?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมคำตอบจากนักวิชาการ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมาตราภาษี และเจ้าหน้าที่รัฐมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
@ เสียงจากตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีที่ดิน
นายวิสูตร นวมศิริ
นายวิสูตร นวมศิริ ผู้แทนชุมชนริมคลองบางบ่อ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า กฎหมายภาษีที่ดินไม่ใช่ไม่ดี เข้าใจว่าเพื่อให้คนที่ซื้อที่แล้วปล่อยทิ้งร้างมาทำประโยชน์กับที่ดิน แต่เพราะเป็นการประกาศใช้ทั่วประเทศจึงครอบคลุมไปถึงป่าชายเลนด้วย เมื่อกฎหมายออกมาก็มีการสั่งการมายังท้องถิ่นทุกที่ ท้องถิ่นจึงปฏิบัติตาม
“หมายความว่าใครมีที่ปล่อยรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ก็ต้องเสียภาษี ทีนี้ในพื้นที่ผมมีพื้นป่าชายเลนที่ท้องถิ่นไปตีความว่าเป็นที่รกร้าง เจ้าของที่เลยไปตัดป่าชายเลนออกแล้วถมดิน ผมมองว่าเรื่องนี้อันตรายต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้ายังมีป่าชายเลนอยู่ก็ช่วยป้องกันได้ อีกทั้งพื้นที่ป่าชายเลนยังรักษาระบบนิเวศได้อย่างดี ผมคิดง่าย ๆ แบบคนไม่รู้กฎหมาย คือ อยากให้มีวงเล็บในพ.ร.บ.ภาษีที่ดินโดยระบุว่า ป่าโกงกาง ป่าแสม ป่าจาก ไม่ถือเป็นที่รกร้าง แต่เป็นพื้นที่ป่ารักษาระบบนิเวศ ชาวบ้านก็แค่เสียภาษีตามปกติเขาก็จะไม่ตัดต้นไม้ถางป่าชายเลนแล้ว” นายวิสูตร กล่าว
@ สมุทรสงครามมีปัญหาถูกกัดเซาะชายฝั่ง ป่าชายเลนจึงมีความสำคัญ
นายวิสูตร กล่าวว่า นอกจากนี้แล้วการที่ประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณตำบลบางแก้วได้ครอบครองที่ดินบริเวณป่าชายเลน เพราะได้รับที่ดินสืบทอดต่อกันมาเป็นทอด ๆ นานหลายสิบปี ตั้งแต่ยังเป็น น.ส.3ก หรือ ส.ค.1 ต่อมาก็มาขอออกเป็นโฉนด อีกทั้งพื้นที่สมุทรสงครามยังมีปัญหาถูกกัดเซาะชายฝั่ง เลยขอเสนอว่าควรนำงบประมาณที่ใช้ในการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นที่มีมูลค่าประมาณสิบล้านกว่าบาท เปลี่ยนไปใช้เวนคืนพื้นที่ป่าสมบูรณ์คืน แล้วให้ชาวบ้านดูแลบำรุงรักษาป่า ก็จะเกิดประโยชน์มากมากมายและยังป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้
@ ตัวแทนภาครัฐเสนอใช้ที่ดินทำ MOU กับรัฐ แก้ปัญหาได้เร็วที่สุดและตรงจุด
นางสาวเอม เจริญทองตระกูล
นางสาวเอม เจริญทองตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี กองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ทางราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินไม่ได้มีข้อกังขาในประโยชน์ของป่าชายเลนและป่าบก ทั้งนี้ผู้จัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่ได้มีความประสงค์ร้ายในการทำลายป่า แต่ด้วยข้อกฎหมายของพ.ร.บ.ภาษีที่ดินระบุขอบเขตและเงื่อนไขไว้อย่างคลุมเครือ จึงมีการตีความพื้นป่าว่าเป็นที่รกร้าง เข้าใจว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมายต้องแก้ไข แต่ทางออกที่ทำได้ทันทีในการรักษาสภาพป่า คือ เอกชนสามารถทำ MOU ยินยอมให้จัดพื้นป่าไปใช้ประโยชน์กับทางราชการได้โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ
"อีกทางออกหนึ่ง คือ มีหน่วยงานที่ให้การรับรองกับเราได้ว่า นี่คือพื้นที่นิเวศป่าชายเลน ถ้าเป็นเช่นนี้จะมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการยกเว้นภาษีพื้นที่ป่าชายเลนได้" นางสาวเอม กล่าว
นายชรินทร์ สัจจามั่น
ด้านนายชรินทร์ สัจจามั่น ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ท้องถิ่นไม่ได้ต้องการรีดภาษีจากชาวบ้าน ทางออกที่ง่ายที่สุดให้นำที่ดินที่เป็นป่าชายเลนไปทำ MOU กับภาครัฐให้รัฐใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินมาตรา 8 (8) จะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินบริเวณที่เป็นป่าชายเลน วันนี้ความท้าทาย คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ทำงานอย่างจริงจังและจริงใจกับประชาชน
@ นักวิชาการมองการทำ MOU กับภาครัฐยังมีช่องว่าง
ผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล
ผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ประเด็นของป่าไม่ว่าจะเป็นป่าบกหรือป่าชายเลนก็ตาม ในพื้นที่เอกชนจะมีความแตกต่างกับป่าในพื้นที่ของรัฐ คือเอกชนมีกรรมสิทธิ์ของตนเอง จะเปลี่ยนสภาพพื้นที่เมื่อใดก็ได้ เข้าใจว่าภาครัฐจึงไม่สามารถออกมาตรการรับมือได้อย่างรวดเร็ว ทางเลือกหนึ่ง คือ ทำ MOU ก็ให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแลโดยตรง เพราะท้องถิ่นจะรู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นป่าที่มีประโยชน์ในเชิงนิเวศจริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง ที่ดินที่มีคนซื้อไว้แล้วมีต้นไม้ตามธรรมชาติขึ้น แล้วเจ้าของที่ดินก็มาอ้างว่าที่ดินที่ต้นไม้ขึ้น คือ พื้นที่ป่าที่เป็นประโยชน์ต่อเชิงนิเวศ แต่จริง ๆ แล้วคือการสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล ไม่ได้คิดว่าเป็นประโยชน์เชิงนิเวศ เพียงแต่บังเอิญมีต้นไม้ขึ้นจึงอ้างว่าเป็นป่าเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี จึงมีช่องว่างและมีนัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ
“ลักษณะของ MOU ท้องถิ่นจะเป็นคนที่พิจารณา แล้วเขาจะรู้ว่าถ้ายกเว้นภาษีในส่วนนี้ไปแล้ว เขามีรายได้เพียงพอที่จะพัฒนาท้องถิ่นหรือไม่ คือเขาต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าอันนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นจึง Trade Off ได้ ว่าไม่เก็บภาษีจากประชาชนแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม” ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าว
@ ประเด็นถางป่าชายเลนเลี่ยงภาษีที่ดินไม่คืบหน้า ยังอยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากที่ตนเองนำคณะกรรมาธิการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีประชาชนถางป่าชายเลนเพื่อลดการจ่ายภาษี ก็พบว่าเจ้าของที่ดินไม่เต็มใจจะถางป่า แต่เขาไม่อยากให้เป็นภาระลูกหลานที่ต้องมาจ่ายภาษีที่ดิน คณะกรรมาธิการจึงเรียบเรียงข้อเท็จจริงและปัญหา แล้วเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก แต่เวลาผ่านไปเมื่อติดต่อไปยังหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อสอบถามความคืบหน้าก็มักจะได้รับคำตอบว่ายังไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ที่มีการจัดเสวนาร่วมกัน แล้วทางหน่วยงานตอบมาว่าให้ใช้แนวทางมาตรา 8 (8) ในพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน นั่นถึงเป็นความคืบหน้าล่าสุด
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าเขายังไม่พร้อมที่จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมกลับมา เพราะเขายังไม่ได้ท่าที เราทำเรื่องนี้เพราะกำลังจะช่วยคน เราต้องช่วยเขาด้วยท่าทีและจังหวะ คำว่าจังหวะของผมก็คือ คุณอย่าเงียบ ที่คุณบอกมีวิธีคุณก็ต้องใช้จังหวะในการป่าวประกาศให้คนรู้ พวกคุณต้องมาประกาศ ส่งเสียงให้ประชาชนรู้ จะใช้การประกาศในฝ่ายการเมืองก็ได้ หรือจะเอามาประกาศให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย หรือให้เทศบาลในพื้นที่ประกาศ เป็นต้น นั่นเรียกว่าจังหวะ ไม่งั้นชาวบ้านเขาตัดไม้ไปก่อนที่คุณไปประกาศ ไม่มีประโยชน์แล้ว เขาตัดไปแล้ว เขาถมที่ไปแล้ว” นายวีระศักดิ์ กล่าว
@ ห่วงภาครัฐไม่แสดงท่าที เป็นเหตุให้ชาวบ้านถางป่าชายเลน
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนท่าทีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมี คือ ทำให้เข้าใจง่าย ไม่เป็นภาษาราชการ เช่น การบอกว่าทำ MOU ประชาชนในพื้นที่บางส่วนอาจจะไม่เข้าใจ หรือประกาศออกมาว่าไม่ประสงค์ให้ประชาชนตัดไม้ถางป่าชายเลนเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินโดยหน่วยงานรัฐกำลังวางมาตรการ เป็นต้น
“แค่เขารู้ว่าคุณกำลังพยายามทำแบบนี้ เขาก็จะชะลอการตัดไม้ถางป่าแล้ว ผมถึงได้บอกว่าผมรอไม่ได้ ผมพูดแถลงในสภาเลยว่า ควรจะพิจารณาทำพระราชกำหนดเลยไหม ส่วนรัฐบาลจะกล้าทำหรือไม่กล้าทำ ก็ไม่เป็นไร แต่ฝ่ายการเมืองตะโกนกันดัง ๆ เรามาหยุดการโค่นป่าชายเลนโดยไม่จำเป็นเพื่อจะเลี่ยงภาษีที่ดินกันเถอะ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ตอบสนองกับเรื่องนี้ แต่ผมถือว่าสิ่งที่ผมพูดมันเป็นสัญญาของฝ่ายการเมือง อย่างน้อยเจ้าของที่เหล่านั้นเขากำลังลังเลใจอยู่ เขาก็จะได้รอฟังเขาหน่อย เผื่อจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นความหวัง”
@ เสนอแนวทางปฏิบัติของการทำ MOU
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าใช้การทำ MOU กับภาครัฐได้ ก็มีแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้ทันที คือ ไปทำแบบฟอร์มในการทำ MOU ให้เจ้าของที่ดินที่อยากจะเข้าเงื่อนไขมารับแบบฟอร์ม หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ นำไปกรอกข้อมูลแล้วไปยื่นเรื่องทำการตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง แล้วให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือเวียนไปแจ้งท้องถิ่นทุกแห่งให้รับทราบ เพื่อท้องถิ่นที่มีป่าชายเลนรู้ว่าเป็นนโยบายเพื่อรักษาป่า ไม่ให้ประชาชนไปโค่นป่าชายเลนทิ้งโดยไม่จำเป็น
ส่วนเรื่องระยะเวลาและกิจกรรมในการใช้ที่ดินทำประโยชน์นั้น คิดว่าควรมาปรึกษาหารือกันว่าทำอย่างไร ที่จะทำให้เจ้าของที่ดินรู้สึกดึงดูดให้เขาไม่ต้องตัดไม้ เช่น ให้รัฐใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการเก็บขยะ ที่ให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชน หรือใครก็ได้สามารถเข้ามาจัดกิจกรรมเก็บขยะได้ หรือให้รัฐใช้พื้นที่ปักป้ายรณรงค์การทำประมงถูกกฎหมาย เป็นต้น
“เพราะเรากำลังจะหาเหตุให้ประชาชนที่มีที่ดินป่าชายเลนไม่ต้องโดนภาษี เราไม่ได้กำลังจะสร้างภาระใหม่ คือ ภาระทางค่าภาษี เราคิดว่าราคาภาระภาษีนั้นเท่าไร เราก็ต้องทำให้คุ้มกว่าที่เราจะไปทำเสียภาษีนั้นก็พอแล้ว ถ้าราชการเอาไปใช้ สมมติว่าเป็นพื้นที่ที่มีลานอยู่แล้ว ถ้าท้องถิ่นเอาไปเพื่อจะจัดการอีเวนต์ ยิงพลุ ซึ่งเจ้าของที่เขาอาจจะไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น หรือจะไปทำทางใหม่ค่าใช้จ่ายก็สูง ผมเลยมองว่าเก็บขยะก็พอแล้ว หรือเขาเปิดให้ว่า ให้ชุมชนแถบนั้นสามารถเข้ามาเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ของเขาได้ แล้วชุมชนก็มาเก็บน้ำผึ้งออกไป แค่อย่าเหยียบกิ่งไม้ในที่ดินหักก็พอแล้ว อย่างนี้เป็นต้น”
จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปแนวทางที่เป็นไปได้และรวดเร็วที่สุดในการแก้ปัญหาประชาชนที่ครอบครองที่ดินป่าชายเลนถางป่าเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดิน ได้แก่
- การใช้มาตรา 8 (8) ให้ทรัพย์สินของเอกชนที่ยินยอมให้ราชการจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดิน ในพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทำ MOU กับภาครัฐ
- ในการใช้มาตรา 8 (8) ควรให้ท้องถิ่นเป็นดูแลและผู้ดำเนินการจัดเก็บภาษี โดยท้องถิ่นจะต้องพิจารณาที่ดินบริเวณใดเป็นพื้นที่นิเวศป่าชายเลนอย่างถี่ถ้วน
- ให้ภาครัฐจัดทำแบบฟอร์มในการทำ MOU เพื่อให้ประชาชนที่ครอบครองที่ดินป่าชายเลนยื่นเรื่องต่อท้องถิ่น จากนั้นให้กระทรวงมหาดไทยทำหนังสืเวียนแจ้งท้องถิ่นทุกหน่วยให้ทราบถึงนโยบายรักษาป่าชายเลน
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีก 2 ประการ ดังนี้
- การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ดินบริเวณป่าชายเลน ออกมาประกาศว่ารัฐไม่ได้จงใจรีดภาษีจากชาวบ้าน ย่อมทำให้ประชาชนมีความหวังและไม่ลงมือถางป่าชายเลนทิ้ง
- การเปลี่ยนงบประมาณในส่วนของการใช้ไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น มาเป็นการเวนคืนที่ดินป่าชายเลนจากเอกชน โดยให้ประชาชนในท้องที่เป็นผู้ดูแลป่าชายเลนที่เวนคืนมา
ส่วนภาครัฐจะมีท่าทีและการดำเนินการอย่างไร หากมีความคืบหน้าสำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
หมายเหตุ: ที่มาภาพนายวิสูตร นายชรินทร์ และนายวีระศักดิ์ จากเฟซบุ๊ก Live โดย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์