ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ประเทศเมียนมานั้นมีรายงานในช่วงเย็นของวันที่ 28 มี.ค.ระบุถึงตัวเลขของผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่อย่างน้อย 20 ราย และต่อมาในช่วงกลางดึกของวันที่ 28 มี.ค. ก็มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มไปถึง 144 ราย และบาดเจ็บอีก 700 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นยังไม่นิ่งและน่าจะมีพุ่งสูงกว่านี้อีก
สืบเนื่องจากข่าวแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 แมกนิจูด ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งลามมาถึงที่ประเทศไทย จนเป็นเหตุทำให้มีอาคารได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งจนถึงบัดนี้ข้อมูลความเสียหาย ข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ยังคงไม่นิ่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้มีการนำเอาข้อมูลที่นำเสนอจากสื่อต่างชาติโดยเฉพาะเกี่ยวกับที่เมียนมามานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
@ประมวลเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา
สำนักข่าว TRT Global ได้มีการประมวลเหตุการณ์แผ่นดินไหวเอาไว้ว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เกิดขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสะกายของเมียนมา ตามข้อมูลของหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกาหรือ USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีความลึกถึง 10 กิโลเมตร
แรงสั่นสะเทือนยังรู้สึกได้ในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตามรายงานของหน่วยงานแผ่นดินไหวของรัฐบาลปักกิ่ง อ้างว่าแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวครั้งนี้วัดได้ 7.9 แมกนิจูด
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ประเทศเมียนมานั้นมีรายงานในช่วงเย็นของวันที่ 28 มี.ค.ระบุถึงตัวเลขของผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่อย่างน้อย 20 ราย และต่อมาในช่วงกลางดึกของวันที่ 28 มี.ค. ก็มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มไปถึง 144 ราย และบาดเจ็บอีก 700 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นยังไม่นิ่งและน่าจะมีพุ่งสูงกว่านี้อีก จึงเป็นเหตุทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาขอความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ
โดยสำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษรายงานอ้างภาพโซเชียลมีเดียที่ปรากฏขึ้นแสดงให้เห็นว่าอาคารหลายหลังพังทลายหรือเสียหาย
และยังปรากฏวิดีโอจากสนามบินมัณฑะเลย์แสดงให้เห็นภาพของผู้คนวิ่งไปยังที่ปลอดภัยผ่านโถงทางเดินที่เต็มไปด้วยฝุ่นพื้นกระจัดกระจายไปด้วยแผ่นฝ้าเพดาน
ส่วนสะพาน Ava หรือที่รู้จักในชื่อสะพานสะกายเก่าซึ่งทอดข้ามผ่านแม่น้ำอิรวดีระหว่างภูมิภาคมัณฑะเลย์และเมืองสะกสาย ซึ่งสะพานนี้เดิมเดิมสร้างขึ้นโดยชาวอังกฤษในยุคอาณานิคมก็ได้พังลงเช่นกัน และเช่นเดียวกับตัวปราสาทมัณฑะเลย์
ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารเมียนมา นายซิน มาร์ ออง (Zin Mar Aung) นักการทูตจากรัฐบาลคู่ขนานรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาได้กล่าวยืนยันว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหรือ PDF ก็จะดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน และขอเรียกร้องความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือทางเทคนิคจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามความท้าทายก็คือในเรื่องของการสื่อสารโดยเฉพาะการตัดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลทหารควบคุมอยู่
ข่าวรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (อ้างอิงวิดีโอจาก News9)
@ท่าทีช่วยเหลือจากต่างประเทศ
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น ประเทศแรกที่แสดงท่าทีว่าจะให้ความช่วยเหลือมาจากอินเดีย โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ขอภาวนาให้ทุกคนปลอดภัยและอยู่ดีมีสุข อินเดียพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อม และขอให้กระทรวงกิจการภายนอก (MEA) หรือกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ติดต่อกับรัฐบาลของเมียนมาและไทยต่อไป
ส่วนที่กรุงวาติกัน โทรเลขของศาสนจักรได้เผยแพร่ถ้อยคำของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ได้ทรงตรัสแสดงความห่วงใย ว่าพระองค์ทรงรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการสูญเสียชีวิตและความหายนะในวงกว้าง ที่เกิดจากแผ่นดินไหว
ทางด้านของนางอูร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเยน ประธานสหภาพยุโรปหรืออียูกล่าวเมื่อวันวันที่ 29 มี.ค.ระบุว่าทุก ประเทศพร้อมที่จะช่วยเหลือหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและร้ายแรงในเมียนมาและไทย
ส่วนองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาอนุญาตให้เข้าถึงด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหว ว่าเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างแท้จริง และสหรัฐฯจะมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังประสานงานกับประเทศแห่งนั้น
แต่อย่างไรก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าความช่วยเหลือจะมาในรูปแบบใด หลังจากที่นายทรัมป์ได้สั่งตัดงบและไล่บุคลากรที่ในหน่วยงานเพื่อการช่วยเหลือต่างประเทศหรือ USaid ออกไปเกือบหมดแล้ว
ด้านนางแทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่ายืนยัน ว่ายังคงมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และการตอบสนองต่อแผ่นดินไหว เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ประสบภัยอยู่
นายทรัมป์อ้างว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว (อ้างอิงวิดีโอจากฟอร์บส์)
@ย้อนรอยเหตุแผ่นดินไหว
สำนักข่าวการ์เดียนรายงานข่าวอ้างข้อมูลจาก USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวค่อนข้างพบได้บ่อยในเมียนมา โดยในช่วง ค.ศ.1930-1956 มีแผ่นดินไหวระดับเกิน 7 แมกนิจูด ขึ้นไปเกิดขึ้นเป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง โดยเกิดใกล้กับรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งทอดจรดจากทางใต้ผ่านใจกลางประเทศ
แผ่นดินไหวที่รุนแรงครั้งล่าสุดในเมียนมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 โดยอยู่ที่ระดับ 6.8 แมกนิจูด จุดเกิดเหตุที่เมืองพุกามในตอนกลางของเมียนมา ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่งผลทำให้ยอดเจดีย์และกําแพงวัดในสถานที่ท่องเที่ยวพังทลาย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหลายเมืองในเมียนมามีการพัฒนาที่รวดเร็วแต่ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ล้มเหลว และการวางผังเมืองที่ไม่ดี ส่งผลทำให้พื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของประเทศเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่นๆ
ขณะที่ประเทศไทยนั้นมีข้อมูลว่าเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงในรอบสิบปี โดยเป็นแผ่นดินไหวระดับ 6.2 แมกนิจูด เกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 ที่พื้นที่ 96 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.น่าน โดยมีความลึกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ 10 กิโลเมตร
ส่วนแผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้คือแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1930 ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงใหม่
@อะไรเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหว?
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อแผ่นหินขนาดใหญ่ที่ประกอบกันเป็นเปลือกโลก หรือที่เรียกว่าแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้ากันเอง จากข้อมูลของ USGS แผ่นดินไหวในเมียนมาเกิดขึ้นจาก "รอยเลื่อนเข้าหากัน" ระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย ซึ่งหมายความว่าแผ่นเปลือกโลกทั้งสองนี้เสียดสีกันด้านข้าง
ทางด้านของนายบิล แมคไกวร์ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านธรณีฟิสิกส์และอันตรายจากสภาพอากาศที่ University College London กล่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงที่คุณภาพของสิ่งปลูกสร้างโดยทั่วไปจะไม่สูงพอที่จะอยู่รอดจากการสั่นสะเทือนในระดับนี้ และจํานวนผู้บาดเจ็บล้มตายเกือบจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญเมื่อทราบถึงขนาดของภัยพิบัติมากขึ้น
นายแมคไกวร์กล่าวอีกว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่รอยเลื่อนสะกายนั้นเป็นพรมแดนของแผ่นเปลือกโลกระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียทางทิศตะวันตกและแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียทางทิศตะวันออก แผ่นเปลือกโลกอินเดียกําลังเคลื่อนตัวไปทางเหนือตามรอยเลื่อนเมื่อเทียบกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย
"นี่เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามมาตรฐาน และผลกระทบของมันแย่มากเนื่องจากความจริงที่ว่ามันเกิดขึ้นจุดศูนย์กลางตื้นมาก โดยเกิดขึ้นลึกลงไปเพียงประมาณ 10 กิโลเมตร หากมันเกิดขึ้นลึกลงไป 100 กิโลเมตร ผลกระทบจะเล็กกว่ามาก ดังนั้นความลึกและขนาดจึงมีความสําคัญ" นายแมคไกวร์กล่าว
@จะมีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมหรือไม่?
นายแมคไกวร์กล่าวว่าหลังจากแผ่นดินไหวที่เมียนมาก็มีอาฟเตอร์ช็อกครั้งใหญ่ตามมาอีกหนึ่งครั้งและคาดว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกอื่นๆ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวันข้างหน้า ซึ่งอาฟเตอร์ช็อกอาจจะทำให้อาคารที่มีความอ่อนแออยู่แล้วพังทลายลงมาและทำให้งานหน่วยกู้ภัยยากลำบากขึ้น
โดยข้อมูลจากเว็บบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวพบว่าหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ไปแล้วที่ภูมิภาคมัณฑะเลย์ ในช่วงเวลาประมาณ 12.50 น. ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 13.02 น.ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูด ตามมา และหลังจากนั้นในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาดเกินระดับ 4 เป็นจำนวนถึง 14 ครั้งด้วยกัน
แผ่นดินไหวที่ภูมิภาคมัณฑะเลย์หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด
นายแม็คไกวร์กล่าวทิ้งท้ายโดยยืนยันว่าเราไม่สามารถคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้เลย อย่างไรก็ตาม ตามหลักทั่วไปแล้วมันถูกคาดการณ์ว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนที่ไม่ได้ปะทุออกมาสักระยะหนึ่งแล้ว หรือที่เรียกกันว่าช่องว่างแผ่นดินไหวเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนที่ยังคุกรุ่น