"....มีรายงานข่าวสำคัญแจ้งว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอความเป็นธรรม ในการเรียกสำนวน คดีกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในส่วนแรกจำนวน 14 ราย มารวมกับสำนวนคดีกล่าวหาตนเอง กับพวก 5 ราย ด้วย ..."
การรับสำนวนคดีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กับพวกอีก 5 ราย มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีพนันออนไลน์ "มินนี่" ไว้เข้าสู่กระบวนการสอบสวน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตื (ป.ป.ช.) นั้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบแล้ว คือ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นทางการ 5 ต่อ 1 เสียง ให้รวมสำนวนคดีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กับพวกอีก 5 ราย มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีพนันออนไลน์ "มินนี่" และคดีกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในส่วนแรกจำนวน 14 ราย ให้เป็นสำนวนเดียวกัน
พร้อมมอบหมายให้สำนักบริหารกลางไปรวบรวมข้อเท็จจริงมานำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ส่วนสาเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมีการพิจารณารวมสำนวนคดีใหม่ดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้มีการลงรับออกเลขสำนวนไว้คดีละเลขกัน จึงต้องมีการพิจารณารวมสำนวนใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคเท่านั้น
แต่ปัญหาที่แท้จริงหรือการเรียกสำนวนคดีกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในส่วนแรกจำนวน 14 ราย กลับคืนมาจากอัยการ ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องมีการเจรจาหารือร่วมกับฝ่ายอัยการอีกครั้ง และยังไม่ทราบท่าทีของฝ่ายอัยการว่าเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ในการรวมสำนวนคดีใหม่ดังกล่าว ที่ประชุม ป.ป.ช. ได้เห็นชอบให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามารับทำสำนวนนี้แทนเจ้าหน้าที่คนเก่า เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมองว่าการทำสำนวนไม่มีความชอบธรรม โดยให้เจ้าหน้าที่คนใหม่กลับไปทำใหม่แล้วค่อยเสนอกลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่มีรายงานข่าวสำคัญแจ้งว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอความเป็นธรรม ในการเรียกสำนวน คดีกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในส่วนแรกจำนวน 14 ราย มารวมกับสำนวนคดีกล่าวหาตนเอง กับพวก 5 ราย ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงกระบวนการสอบสวน และเหตุผลในการลงมติรับคดีนี้ ของ ป.ป.ช.มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก จุดเริ่มต้น เส้นทางการรับคดีนี้ เข้าสู่กระบวนการสอบสวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. พบรายละเอียดสำคัญเพิ่มเติมดังนี้
หนึ่ง.
ในช่วงเดือน ธ.ค.2566 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 รายงานผลการดำเนินการกรณีกล่าวหา พันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิศมัย กับพวก ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดที่เกี่ยวข้องกัน
หลังคณะพนักงานสิบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 593/2566 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกราย
แต่เนื่องจากคดีนี้มีการกล่าวหาผู้ต้องหาในความผิดเกี่ยวกับการพนัน สมคบกันฟอกเงินและผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พลเรือนผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน และผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน จึงแยกสำนวนการสอบสวนออกเป็น 3 สำนวน แล้วส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา
แต่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ไม่ได้แนบสำเนารายงานการสอบสวนมาด้วย สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือลงวันที่ 5 ก.พ.2567 ขอสำเนารายงานการสอบสวนจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณารายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 65
สอง.
ต่อมากองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 ก.พ.2567 ส่งสำเนารายงานการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 มายังสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเฉพาะในส่วนความผิดต่อเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุน มีผู้ต้องหาจำนวน 14 คน
พฤติการณ์การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 20 (ผู้ถูกร้อง) ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 และที่ 61 พบว่า การที่ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ต้องหาที่ 20 (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและยินยอมจ่ายเงินค่าตำรวจ (เงินสินบน) จากเงินพนันออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครือข่ายขอผู้ต้องหาที่ 20 (ผู้ถูกร้อง) และผู้ต้องหาที่ 21 โดยมีการฝากเงินสด และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 14 หลายบัญชี (บัญชีม้าพักเงิน) และโอนต่อไปยังบัญชีผู้ต้องหาที่ 13 (บัญชีม้าใกล้ชิดของผู้ต้องหาที่ 20 (ผู้ถูกร้อง) และผู้ต้องหาที่ 61 ก่อนจะถอนเงินไปฝากเข้าบัญชีผู้ต้องหาที่ 61 ตามห้วงวันเวลาใกล้เคียงกัน และบัญชีธนาคารผู้ต้องหาที่ 15 และบัญชีธนาคารผู้ต้องหาที่ 7 (บัญชีม้าของ ผู้ต้องหาที่ 21) และบัญชีม้าธนาคารอื่น ๆ อีกหลายบัญชี ซึ่งเป็นบัญชีม้าสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน รับโอนเงินที่ได้มาจากเครือข่ายพนันออนไลน์
ส่วนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดปกปิดอำพรางแหล่งที่มาและใช้ทรัพย์สินนั้น ในเครือข่ายของผู้ต้องหาที่ 20 กับพวก เป็นรายเดือนและนำไปใช้จ่ายเป็นผลประโยชน์ค่าบริการหรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อมีวัตถุประสงค์ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 2 กับพรรคพวกผู้ที่ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ เพื่อมิให้ต้องถูกดำเนินคดี
ผู้ต้องหาที่ 21 กับพวก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประจำ ศปอส.ตร. ซึ่งผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นชุดปฏิบัติการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกันมาโดยตลอด มีหน้าที่สืบสวน ปราบปราม จับกุม การกระทำความผิดทุกชนิด รวมถึงคดีเกี่ยวกับความผิดทางเทคโนโลยีหรือความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ แต่กลับไม่ทำการจับกุมเว็บไซต์การพนัน http://vwwbetfiroyalcom http://www.bettikroyalnet http:/wwspinxcenter.com และเว็บไชต์ในเครือ Betflik กลับใช้บัญชีธนาคารของผู้อื่น (บัญชีม้า) เรียกรับผลประโยชน์เป็นรายเดือน และแบ่งผลประโยชน์ต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือข่ายของตนในคดีนี้
ประกอบกับการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต
สาม.
จากนั้น สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งว่าได้ส่งสำเนารายงานการสอบสวนให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนฯ แล้ว ในรายงานการสอบสวนระบุว่ามีการแยกส่งสำนวนบางส่วนต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 พิจารณาแล้ว สั่งให้คณะหนักงานสืบสวนสอบสวนฯ ทำการสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น รวมถึงให้ส่งหนังสือที่พนักงานสอบสวนร้ายงานผลการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาประกอบสำนวน
สี่.
ต่อมา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 ส่งคืนสำนวนบางส่วนเฉพาะเรื่องที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
ห้า.
ในระหว่างนั้น ผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้หลายคนได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้
- พันตำรวจโท คริษฐ์ ปริยะเกตุ ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 มีนาคม 2567 ร้องขอให้รวมคดีเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยอ้างว่าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้นำหลักฐานเส้นทางการเงินมาใช้ในการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับตนเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการซ้ำกับคดีเดิม
- พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย พล.ต.ต. นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ พ.ต.อ. เขมรินทร์ พิสมัย พ.ต.อ.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ พ.ต.ต. ชานนท์ อ่วมทร ส.ต.อ. ณัฐวุฒิ หวัดแวว และ ส.ต.อ.อภิสิทธิ์ คนยงค์ รวม 8 คน ร่วมกันทำหนังสือฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2567
สรุปความได้ว่า จากการที่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 มีการจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ที่มีการดำเนินคดีกับนางสาวรันยนันท์ สุจริตชินศรี (มินนี่) นางสาวอรณี ทองอรุณ และนายรัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ และสมคบกันฟอกเงิน และได้มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในความผิดเดียวกัน โดยสำนักงนตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 593/2566 แต่งตั้งคณะพนักงานสีบสวนสอบสวน
พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย กับพวก ขอให้ตรวจสอบไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ จำนวน 2 ราย ที่ให้คำปรึกษาต่อคณะพนักงานสอบสวนด้วยการชี้แนะ แนะนำและน่าจะชี้นำ ให้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเดิมแก่ พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย กับพวก ณ กองบังคับการตำรวจนครบาง 5 เพื่อพิจารณาว่าการให้คำปรึกษาของบุคคลทั้งสอง เกินอำนาจหน้าที่ของที่ปรึกษาหรือไม่ เป็นการกระทำที่เป็นการชี้นำให้พนักงานสอบสวนทำการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 149 และมาตรา 157 เพื่อเอาผิดและเพื่อกลั่นแกล้ง พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย กับพวก ให้ต้องรับโทษหนักขึ้นอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด และเป็นการสนับสนุนพนักงนสอบสวนในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 149 และมาตรา 157 หรือไม่ เพียงใด
พลตำรวจตรี ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สรุปว่า ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องภารปฏิบัติหน้าที่ของคณะหนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 593/2566 โดยตรวจสอบรายงานการสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานอัยการที่รับผิดชอบคดี ว่าสำนวนการสอบสวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อมูลในสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในความครอบครองของคณะหนักงานสืบสวนสอบสวนฯหลุดออกมาเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะได้อย่างไร และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนส่งเรื่องของตนกับพวกรวม 5 คน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการนั้นมีการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนำข้อมูลในสำนวนการสอบสวนออกมาเผยแพร่ หากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับมาให้คณะพนักงานสีบสวนสอบสวนชุดดังกล่าวดำเนินการสอบสวนต่อ พวกตนอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับเรื่องไว้ดำเนินการเอง
โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ตนได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในคดีแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่นำไปพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 มาตรา 134 วรรคสาม และสี่ มีการเปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนประกอบด้วยภาพบันทึกข้อความที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล พล.ต.ต. ไพโรน์ กุจิรพันธ์ พ.ต.อ. แดนไพร แก้วเวหล พ.ต.อ. นฤวัต พุทธวิโร และ ส.ต.อ. ณัฐนันท์ ชูจักร และหนังสือสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เรียนหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน โดยมีเนื้อความระบุว่าพนักงานอัยการถูกคุกคาม
(พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล, ภาพจาก the bangkokinsight)
- พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล มีหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2567 เรียนกรรมการป.ป.ช. สรุปความว่า สำนวนการสอบสวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งคืนให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนที่กล่าวหาตนกับพวกรวม 5 นายว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเพิ่มเติม เพราะเป็นการดำเนินการกับตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนและเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกันและ ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
แต่ตนทราบว่าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนซึ่งรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 มีการนำข้อเท็จจริงจากการทำธุรกรรมการเงินและพยานหลักฐานเดิมที่มีการดำเนินคดีกับพันตำรวจโท คริษฐ์ ปริยะเกตุ ไปแล้วเป็นสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีใหม่ที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน เป็นคดีอาญาที่ 391/2566 จึงขอให้เรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 391/2566 ของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ไปรวมกับสำนวนคดีอาญาที่ 724/2566 ที่คณะกรรมการ .ป.ช. รับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแล้ว
หก.
หลังจากนั้น กองยังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 มีหนังสือ ลงวันที่ 4 มีนาคม 2567 เรียน กรรมการ ป.ป.ซ. แต่ละท่าน
สรุปความว่าตามที่คณะพนักงานสีบสวนสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณากรณีกล่าวหาพันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมกรณีกล่าวหาพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล กับพวกรวม 5 คน เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้เพิ่มเติม พร้อมทั้งได้รายงานมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับหนังสือพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ไว้แล้วนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขอความเห็นจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 เป็นการให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้นหรือไม่
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้ผู้ถูกร้องได้มีหนังสือแจ้งว่าการสอบสวนดังกล่าวอาจทำให้ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดำเนินการนั้นจะไม่เที่ยงธรรม ประกอบกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหนังสือลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษให้สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการกรณีมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีให้ลูกน้องเป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้ารายเดือนเดือนละ 10,000 บาท ต่อมาทราบว่าผู้ชำระเงินคือนายครรชิต สองสมาน ซึ่งไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ฯ แต่เป็นบุคคลที่ใช้บัญชีเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับการทำเว็ปพนันออนไลน์เครือข่ายของมินนี่ หรือนางสาวสุซานันท์ หรือ ธนัยนันท์ ผู้ต้องหาคดีเว็ปพนันออนไลน์ ซึ่งสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ได้รับไว้ดำเนินการตรวจสอบเป็นเรื่องกล่าวหา ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษมาให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการ
กรณีมีการส่งเรื่องร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล กับพวกกรณีผู้ถูกร้องกับพวกได้มีการโอนเงิน จำนวน 200,000 บาท ทำบุญให้แก่วัดศาลาปูนวรวิหาร และทางวัดได้มีการออกใบอนุโมทนาบัตรให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยเชื่อว่าผู้ถูกร้องกับพวกรับทรัพย์สินเกินกว่าสามพันบาทก่อนที่จะมีการโอนเงินให้แก่วัด เหตุเกิดที่วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ควรดำเนินการไปในคราวเดียวกันเห็นควรพิจารณาเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ตามหมายเลขติดตามของสำนักงาน ป.ป.ช. ในส่วนของสำนวนการสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ต้องหาจำนวน 14 คน ซึ่งเป็นคดีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน มาเพื่อดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 66
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น เส้นทางการรับคดีนี้ เข้าสู่กระบวนการสอบสวน ของ ป.ป.ช. เป็นทางการ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด ซึ่งข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน
ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ให้ข้อมูลยืนยันต่อสาธารณชนว่า ป.ป.ช.มีมติไปแล้วว่าจะพิจารณาเรื่องนี้เองเพราะถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องไต่สวนในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องรอให้เจ้าหน้าที่หาข้อเท็จจริงและดำเนินการก่อน ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนต้องเป็นไปตามกระบวนการ พร้อมยืนยันว่า ไม่หนักใจ แม้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะเป็นตำรวจรุ่นน้อง เพราะทุกอย่างต้องขึ้นอยู่ที่พยานหลักฐาน และที่สำคัญ คือ ต้องให้ความเป็นธรรม และจะไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบเนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญและประชาชนให้ความสนใจ ต้องทำให้ชัดเจนและมีความโปร่งใส (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/338545)
ส่วนบทสรุปสุดท้ายผลการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช.จะออกเป็นอย่างไร จับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด
อนึ่งปัจจุบันคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีการสรุปสำนวนไต่สวน ชี้มูลความผิดแต่อย่างใด ผู้เกี่ยวข้องทุกรายยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ดังเช่น ที่ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ เคยกล่าวต่อสาธารณชนไปแล้วก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :