“…สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์ (ธนาคารออมสิน) และจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
.......................................
เป็นอีกหนึ่งคดีที่น่าสนใจ
เมื่อ ‘ศาลอุทธรณ์ ภาค 5’ ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ผบ 688/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 157/2567 ซึ่งเป็นคดีที่ ‘ธนาคารออมสิน’ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ’ หมู่ 3 ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน กับพวก รวม 12 ราย เป็นจำเลย เรียกให้จำเลยฯชำระหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี (วงเงิน OD) เป็นเงิน 2.55 ล้านบาทเศษ
โดยศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) หรือ ‘สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง’ ที่ธนาคารออมสินได้ทำสัญญากับจำเลย (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ กับพวก) นั้น เป็น ‘โมฆะ’ ไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ‘อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย’
แต่เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ (จำเลยที่ 1) ได้รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารออมสิน (โจทก์) แล้ว จึงพิพากษาให้ กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ ต้องชำระคืนเงินที่ยังคงค้างอยู่ให้กับธนาคารออมสิน เป็นเงิน 2.55 ล้านบาท ส่วน ‘กรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ’ ที่ลงนามในสัญญาค้ำประกันเงินกู้ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้ฯตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของข้อเท็จจริงและคำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ ผบ 688/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 157/2567) มีรายละเอียด ดังนี้
@‘ออมสิน’ปล่อยกู้โอดีให้‘กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ’ 3 ล้าน
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า
โจทก์ (ธนาคารออมสิน) เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงิน ออกพันธบัตร และสลากออมสิน ลงทุนแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ รมว.คลัง อนุญาต รวมทั้งให้กู้ยืม มีผู้อำนวยการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งโดยอำนาจของ รมว.คลัง เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารงานและกิจการต่างๆ ของโจทก์
และมีฐานะเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอและระดับจังหวัด ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2551
จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ณ สำนักงานนายทะเบียนจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2550 และเป็นลูกค้าโจทก์ (ธนาคารออมสิน) สาขาปัว เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับโจทก์ 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีที่ 1 ชื่อบัญชี กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ ม.3 เลขที่ 052440678564 และบัญชีที่ 2 ชื่อบัญชี เงินผลประโยชน์กองทุนบ้านค้างฮ่อ ม.3 เลขที่ 052440678598
ต่อมา ‘คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ’ เห็นชอบให้จัดโครงการขอขยายวงเงินของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ประเมินหลักเกณฑ์เงื่อนไขการอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงินไว้ ภายใต้การตรวจสอบคุณสมบัติของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ
จากนั้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2557 จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) ขอขยายวงเงินกู้จากสถาบันการเงินตามโครงการดังกล่าวกับโจทก์ สาขาบัว โดยแนบแบบคำขอขยายวงเงิน หนังสือขอขยายวงเงินกู้จากสถาบันการเงินแบบคำขอขยายวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ ม.3
ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค.2557 จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) โดย นาย ช. นาย ป. (จำเลยที่ 2) และนาง ล. (จำเลยที่ 3) ผู้มีอำนาจกระทำการแทน ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี (สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) กับโจทก์ เป็นจำนวนไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมี ‘กรรมการ’ ของกองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ เป็น ‘ผู้ค้ำประกันหนี้’ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ 22 ธ.ค.2557 โดยยอมรับผิดชอบอย่าง ‘ลูกหนี้ร่วม’ ตามสัญญาค้ำประกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการทำสัญญาจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) สั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินจากบัญชี (สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี) และนำเงินเข้าหักทอนบัญชีหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 13 พ.ย.2562 มียอดต้นเงินคงค้าง 2,551,695.87 บาท ส่วน นาย ช. ถึงแก่ความตาย โดยนาง ม. (จำเลยที่ 12) เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นาย ช.
(ที่มา : ธนาคารออมสิน)
@ชี้‘สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี’ฝ่าฝืนกม.-ตกเป็นโมฆะ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ หรือไม่
โจทก์ (ธนาคารออมสิน) อุทธรณ์ว่า การทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เป็นวิธีการหนึ่งที่จำเลยที่ 1 จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการปล่อยสินเชื่อให้แก่สมาชิกได้ และไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์
แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 12 จะให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎระเบียบและแนวปฏิบัติของจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) กฎระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงหลักเกณฑ์บริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 หามีผลทำให้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 นั้น
เห็นว่า จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 โดยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติ “ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์
(1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายหรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(2) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(3) รับฝากเงินจากสมาชิกและจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(4) ให้กู้ยืมเงินแก่กองทุนหมู่บ้านอื่น เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
(5) กระทำการใดๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต สวัสดิภาพ และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของกองทุนหมู่บ้านตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา 6 บัญญัติว่า “ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้าน ประกอบด้วย
(1) เงินที่คณะกรรมการจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(3) เงินที่สมาชิกนำมาลงหุ้นหรือฝากไว้กับกองทุนหมู่บ้านตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(4) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่กองทุนหมู่บ้านได้รับบริจาค โดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใดๆ
(5) ดอกผล รายได้ หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน”
มาตรา 8 บัญญัติว่า “การจัดตั้ง การจดทะเบียนและการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด”
และมาตรา 19 บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (16) ออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้”
จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการบริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยอาศัย พ.ร.บ.ดังกล่าว
เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แล้ว ไม่ปรากฏว่า มีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งให้มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่นใด ทั้งมาตรา 6 ก็ไม่ได้บัญญัติให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการของจำเลยที่ ประกอบด้วย ‘เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน’ ด้วย
แม้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติฯ พ.ศ.2551 ข้อ 29 จะกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเปิด “บัญชีกองทุนหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายใต้ ชื่อกองทุนหมู่บ้าน หรือ บัญชีที่ 1 ไว้รองรับเงินจัดสรรจากรัฐบาล
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านสามารถเปิด “บัญชีเงินสะสม” ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายใต้ชื่อกองทุนหมู่บ้าน หรือ บัญชีที่ 2 ไว้รองรับเงินฝากประเภทอื่น นอกเหนือจากเงินที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล
“บัญชีเงินกู้ยืม” ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายใต้ชื่อกองทุนหมู่บ้าน หรือ บัญชีที่ 3 ไว้รองรับการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และ “บัญชีเงินอุดหนุน” ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ภายใต้ชื่อกองทุนหมู่บ้าน หรือ บัญชีที่ 4 ไว้รองรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค
อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ แต่ก็มีข้อจำกัดให้ใช้เฉพาะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ (ธนาคารออมสิน) อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบดังกล่าวได้
ทั้งกฎหมายและระเบียบดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โจทก์ (ธนาคารออมสิน) จะอ้างว่าเป็นเพียงหลักเกณฑ์บริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันโจทก์หาได้ไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ (ธนาคารออมสิน) มีฐานะเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอและระดับจังหวัด ย่อมต้องทราบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่โจทก์กลับละเลยยินยอมให้มีการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์ (ธนาคารออมสิน) และจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) ได้รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ (ธนาคารออมสิน) แล้ว ย่อมเป็นการรับเงินไว้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์
เมื่อปรากฏว่ามีการชำระหนี้ต่อกันบางส่วนแล้วคงเหลือ 2,551,695.87 บาท จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ)จึงต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดนับถัดจากวันฟ้อง อันถือเป็นวันที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องด้วยในเหตุ แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในผล
@'ผู้ค้ำประกัน'ไม่ต้องรับผิดชอบเหตุสัญญาฯเป็นโมฆะ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 11 และที่ 12 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 12 ในฐานะทายาทผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่
เห็นว่า เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่อาจมีการค้ำประกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 12 ในฐานะทายาทผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 12 มิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง และหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลย ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 12 ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง โจทก์ (ธนาคารออมสิน) อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่น ตามจำนวนหนี้ที่จำเลยอื่น ต้องรับผิดแก่โจทก์เท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 51,033 บาท ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมา 50,833 บาท แก่โจทก์
“พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 (กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ) ชำระเงิน 2,551,695.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เม.ย.2564) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ชำระเกินมา 50,833 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ” คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 คดีหมายเลขดำที่ ผบ 688/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 157/2567 ลงวันที่ 16 ม.ค.2567 ระบุ
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ธนาคารออมสินมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯได้
ทั้งหมดนี้เป็นสาระสำคัญในคดีที่ ‘ธนาคารออมสิน’ ได้อนุมัติ ‘สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง’ หรือ ‘วงเงินกู้โอดี’ ให้แก่ ‘กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ’ ซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ได้วินิจฉัยว่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ดังกล่าว ‘ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย’
อย่างไรก็ตาม กองทุนหมู่บ้านค้างฮ่อ ยังคงมีภาระที่ต้องชำระคืนหนี้เงินกู้โอดีที่ค้างชำระให้แก่ธนาคารออมสิน ส่วน 'กรรมการ' กองทุนหมู่บ้านฯและทายาท ในฐานะ ‘ผู้ค้ำประกัน’ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้ตามสัญญาฯแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ปมหนี้ 45 ล้านยังไม่จบ! ‘ก้าวไกล’จี้‘ผู้ว่าฯโคราช’เร่งแก้ปัญหากองทุนหมู่บ้าน‘บัลลังก์’
โต้เดือดปมคืนหนี้ 15 ล.! DSI นำทีมถกแก้ปัญหาเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน 'ต.บัลลังก์' 45 ล้าน
‘ออมสิน’ไกล่เกลี่ย‘กองทุนหมู่บ้าน-สถาบันการเงินชุมชน’ต.บัลลังก์ ให้เวลาคืนหนี้ 5-7 ปี
ชะลอดำเนินคดีทุกสถานะ! ‘ออมสิน’เปิดทางกองทุนหมู่บ้าน ต.บัลลังก์ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้
4 กองทุนฯฟ้อง'ปธ.สถาบันการเงิน ต.บัลลังก์'ยักยอกทรัพย์-เผย'นายกฯ'สั่งเซ็นเช็คออก 10 ล.
'สทบ.' เผย 6 เดือน สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าโครงการพักชำระหนี้ 6.5 แสนราย 2 หมื่นล.
‘ออมสิน’เร่งปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนหมู่บ้าน‘อ.โนนไทย-อ.พระทองคำ’ที่มีปัญหาคืนเงินกู้
'ออมสิน'ส่งทนายแจ้งกองทุนหมู่บ้าน'บ.บัลลังก์' คืนเงินกู้ 3 ล้าน หลังผิดนัดฯตามสัญญา
ร้องสอบ'นายกเทศมนตรี' ต.บัลลังก์ ปมลงขัน'สถาบันการเงินชุมชนฯ’-เจ้าตัวแจงไม่ได้ทำลำพัง