"...เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2555 นายธาริต กลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่พนักงานอัยการที่มาสอบสวนร่วมหรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมตามมาตรา 32 เป็นรายครั้ง (จ่ายทุกครั้งเป็นรายคดี) โดยให้เหมาจ่ายครั้งละ 2,000 บาท ในกรณีปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร และสำหรับปฏิบัติงานในต่างจังหวัดให้เหมาจ่ายค่าใช้จ่ายครั้งละ 4,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นคำใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนและสอบสวนคดีของพนักงานอัยการ..."
การออกคำสั่งให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานอัยการพิเศษที่มีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วยโดยมิขอบด้วยระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนและสอบสวนดีพิเศษและวิธีการเบิกจ่ายทดรองจ่าย ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ 2547 พ.ศ. 2548
คือ คดีใหม่ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยความผิดของ นายธาริต ที่ถูกชี้มูลความผิดครั้งนี้ เป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2542 มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ .2551
ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ และให้ส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ต่อไป
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นคดีนี้ รวมไปถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายธาริต ที่ทำให้ถูกชี้มูลความผิด และผลการพิจารณาของคณะไต่สวน ที่เสนอให้ชี้มูลความผิด นายธาริต เพียงคนเดียว ขณะที่ผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ถูกชี้มูลความผิดด้วย เนื่องจากทำตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดแต่อย่างใด
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ จุดเริ่มต้นคดี
จุดเริ่มต้นคดีนี้ มาจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยมีหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลาง ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ จะสามารถจ่ายค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานร่วมสอบสวนคดีพิเศษให้แก่พนักงานอัยการที่มาสอบสวนร่วม หรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะพิจารณาจ่ายในอัตราเหมาจ่ายเป็นรายคดีประการหนึ่ง หรือจ่ายในอัตราแต่ละครั้งของการมาสอบสวนหรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมอีกประการหนึ่งได้หรือไม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2549 กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือตอบข้อหารือแล้วว่าตามเจตนารมณ์ของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษและวิธีการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่าย ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 254 7 พ.ศ. 2548 เป็นการจ่ายเพื่อชดเชยให้กับหน่วยงานอื่น ซึ่งได้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ อันเนื่องจากการปฏิบัติราชการในภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มิได้มีเจตนาเพื่อจ่ายเป็นคำตอบแทนกับเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอื่นแต่อย่างใด
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการสอบสวนคดีพิเศษตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ได้
พร้อมได้แจ้งหนังสือให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ตำแหน่งในขณะนั้น) และผู้บัญชาการสำนักทุกสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ ทุกท่าน และหัวหน้ากลุ่มทุกกลุ่มงานทราบและถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน
ต่อมากองกฎหมายและกลุ่มค่าใช้จ่ายคดีพิเศษ ได้มีบันทึกเกี่ยวกับปัญหาข้อขัดข้องในการเบิกค่าตอบแทนให้พนักงานอัยการหรืออัยการทหารที่มาสอบสวนร่วมตามมาตรา 32 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยอาศัยมาตรา 31 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยมีความเห็นว่าน่าจะไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบดังกล่าวข้างต้น และการใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนสอบสวนฯ ก็มิใช่เป็นไปเพื่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่มาร่วมสอบสวน จะเบิกจ่ายได้เฉพาะกรณีผู้ที่มาร่วมสอบสวนมีค่าใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น ซึ่งได้มีการแจ้งไปยังนายธาริต เพื่อทราบด้วยแล้วเช่นกัน
@ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายธาริต
แต่เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2555 นายธาริต กลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่พนักงานอัยการที่มาสอบสวนร่วมหรือมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมตามมาตรา 32 เป็นรายครั้ง (จ่ายทุกครั้งเป็นรายคดี) โดยให้เหมาจ่ายครั้งละ 2,000 บาท ในกรณีปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร และสำหรับปฏิบัติงานในต่างจังหวัดให้เหมาจ่ายค่าใช้จ่ายครั้งละ 4,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นคำใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนและสอบสวนคดีของพนักงานอัยการ ได้แก่ ค่าศึกษาค้นคว้าข้อมูล ค่าจัดทำเอกสาร ค่าติดต่อสื่อสาร ค่าอาหารและเครื่องดื่มและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ซึ่งในกรณีดังกล่าวได้กำหนดให้เหมาจ่ายเป็นรายครั้งและเป็นจำนวนเท่ากันทุกครั้ง
โดยไม่มีการพิจารณาว่าในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลาง ฝ่ายกฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกลุ่มค่าใช้จ่ายคดีพิเศษได้ให้ความเห็นไว้ข้างต้น
ทั้งนี้ ในสำนวนการไต่สวนคดี ระบุตัวเลขความเสียหาย 1,092,000 บาท (313 ครั้ง)
การกระทำของนายธาริต จึงเป็นการใช้อำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ในกรมสอบสวนดีพิเศษ สั่งการให้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่พนักงานอัยการที่มาร่วมสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามอัตราที่ตนเองได้กำหนดไว้ทุกรายในลักษณะเป็นคำตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษและวิธีการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายตามพระราชบัญญัติสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2548 เป็นการอาศัยที่ตนเองมีหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สิน คือเงินงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทำการโดยผิดระเบียบกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พนักงานอัยการได้เงินในลักษณะเป็นค่าตอบแทน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมอบหมายให้ดำเนินการอนุมัติเงิน ซึ่งประกอบด้วย นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ณาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิศษ พ.ต.ท.วรรณ์พงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
อย่างไรก็ดี ในการไต่สวนพบว่า ผู้บริหารดีเอสไอ เหล่านี้ ได้ดำเนินการอนุมัติตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดแต่อย่างใด
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกการไต่สวนคดีนี้ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดี ดีเอสไอ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การไต่สวนคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ส่วน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ หลังพ้นตำแหน่งถูกสอบสวนความผิดจากการทำหน้าที่หลายคดี รวมถึงคดีร่ำรวยผิดปกติ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นเวลา 2 ปีไม่รอลงอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเจตนากลั่นแกล้ง ให้ถูกดำเนินคดี กรณีแจ้งข้อหา อภิสิทธิ์ - สุเทพ สั่งสลายการชุมนุม ปี 2553 ให้คุมตัวเข้าเรือนจำทันที
ผลการต่อสู้คดีใหม่นี้ บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
- เข้าเรือนจำทันที! คุก 2 ปี ธาริต คดีกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายชุมนุม นปช.ปี 53 มิชอบ
- ข้อมูล 'ลับ' คดีร่ำรวยผิดปกติ ‘ธาริต' ป.ป.ช.ฟ้องยึดทรัพย์ก้อนใหม่ปี 64 อีก 53 ล้าน
- ฉบับเต็มคดี‘ธาริต’ซุกทรัพย์สิน! รับโอนหุ้น บ.ในฮ่องกง-เงินฝากโผล่ บช.หลานเมีย
- ชีวิตเปลี่ยนสี 'ธาริต เพ็งดิษฐ์' จากสูงสุดสู่โดนยึดทรัพย์ 346 ล.