“...ปัจจุบันถนนพระราม 2 มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย รับผิดชอบโดย กรมทางหลวง 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง และ 3. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย กทพ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการภายในปี 2568..."
กลายเป็นประเด็นบนหน้าสื่ออีกครั้ง สำหรับถนนพระราม 2 หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว
หลังจากโลกโซเชียลแห่แชร์เหตุผลที่ไม่ไปเที่ยวหัวหิน สาเหตุอันดับหนึ่งคือ การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยบ่อยครั้ง ตามมาด้วยการเผยแพร่ข้อมูลการก่อสร้างของถนนพระราม 2 ที่ยาวนานมากว่า 50 ปี สื่อบางแห่งถึงขนาดเปรียบเทียบว่า ใช้เวลาสร้างนานกว่ามหาพีระมิดกีซ่าแห่งอียิปต์อีก แถมท้ายด้วยการขุดคลิปรายการเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาตอกย้ำความยาวนานของการก่อสร้างถนนแห่งนี้
เรียกได้ว่าเป็นทุกข์ชาวบ้านที่พร้อมเป็นประเด็นในหน้าสื่อได้ทุกเมื่อ
งานก่อสร้างทางด่วน-มอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2
@สร้างนาน เพราะก่อสร้างได้แค่ตอนกลางคืน
ล่าสุด นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างและซ่อมบำรุงบนถนนพระราม 2 เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางปฏิบัติและดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างบริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตั้งแต่ดาวคะนอง-วังมะนาว เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้แก่ประชาชน
ปัจจุบันถนนพระราม 2 มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย รับผิดชอบโดย กรมทางหลวง 2. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง และ 3. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รับผิดชอบโดย กทพ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการภายในปี 2568
ส่วนประเด็นที่การก่อสร้างใช้ระยะเวลานานนั้น เนื่องด้วยโครงข่ายจราจรบนถนนพระราม 2 มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากกว่า 250,000 คัน/วัน เพราะเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญต่อการเดินทางสู่ภาคใต้ ทำให้การปิดเบี่ยงพื้นที่และบริหารจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างมีลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างจำกัด และเป็นจุดตัดทางเข้า-ออก กับชุมชน ซอยต่างๆ ส่งผลให้มีการชะลอตัวของรถสะสมแต่ละบริเวณมากกว่าพื้นที่นอกเขตเมือง เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง ทำให้ผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้างได้ในอัตราความก้าวหน้าที่ล่าช้ากว่าพื้นที่ปกติอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังได้มีการยกระดับมาตรการป้องกันความปลอดภัยระดับสูงสุด (Double Safety) ในพื้นที่การก่อสร้างทุกสัญญา ซึ่งผู้รับจ้างจำเป็นต้องปฏิบัติงานได้เฉพาะช่วงเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง อีกทั้งได้พิจารณาการปรับแผนการดำเนินการของผู้รับจ้างแต่ละสัญญาให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาครอบคลุมตามที่ได้รับสิทธิ์เนื่องจากผลกระทบ Covid-19
ส่วนกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนไม่เที่ยวหัวหิน เพราะรถติดจากถนนพระราม 2 นั้น นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวในหัวหินยังคงคึกคัก สะท้อนจากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งบริเวณชายหาด ถนนคนเดิน ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด ซึ่งจากการสำรวจนั้นมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย ยุโรป และจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้เข้าเจรจากับผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมในเมืองหัวหินยังพบว่าอัตราเข้าพักยังคงอยู่ในระดับสูง และยังมั่นใจว่ารายได้ที่จะเข้ามายังเมืองหัวหินยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้นของประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้ชื่นชมกระทรวงคมนาคม ที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพในทุกภาคส่วน และหวังว่าการจัดทำผิวจราจรด้านล่างจะแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การจราจรของประชาชาและนักท่องเที่ยวมีความราบรื่นช่วงสงกรานต์
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
@มอเตอร์เวย์พระราม 2 ช้ายกแผง ลากเสร็จ มิ.ย. 68
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของกรม 2 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 บางขุนเทียน - เอกชัย จำนวน 3 สัญญา ระยะทาง 11.7 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท และ 2. โครงการมอเตอร์เวย์ M82 ช่วงที่ 2 เอกชัย – บ้านแพ้ว จำนวน 10 สัญญา ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 18,759 ล้านบาท
ปัจจุบันสถานะ ณ เดือน ม.ค. 2567 ภาพรวมทั้ง 2 โครงการคืบหน้ารวม 51.872% ล่าช้า 27.022% จากแผน 78.894% โดยได้รับการต่อสัญญาจากภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาอยู่ที่วันที่ 14 มิ.ย. 2568
เมื่อลงรายละเอียดในแต่ละช่วงของโครงการ พบว่าช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย มีความคืบหน้ารวม 88.973% ล่าช้า 11.027% จากแผนที่จะต้องแล้วเสร็จ 100% แบ่งงานก่อสร้าง 3 สัญญา แต่ละสัญญามีความคืบหน้าดังนี้
สัญญาที่ 1 ช่วงกม.ที่ 11+959 - กม.ที่14+535 ระยะทาง 2.575 กม. วงเงิน 3,994 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เอ็นทีเอ (กลุ่ม บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 92.51% ล่าช้า 7.49% จากแผนที่ต้องเสร็จแล้ว 100% วันเริ่มต้นสัญญา 28 ส.ค. 2562 สิ้นสุดสัญญาไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 15 พ.ย. 2567 อุปสรรคสำคัญที่ทำการก่อสร้างล่าช้าเกิดจากการเข้าพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า และติดขัดสายไฟแรงสูงของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยเพิ่งย้ายสายไฟออกจากพื้นที่เมื่อเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา
สัญญาที่ 2 ช่วงกม.ที่ 14+535 - กม.ที่18+642 ระยะทาง 4.1 กม. วงเงิน 3,991 ล้านบาท มีบจ. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 85.485% ล่าช้า 14.515% จากแผนที่จะต้องแล้วเสร็จ 100% วันเริ่มต้นสัญญา 28 ส.ค. 2562 วันสิ้นสุดสัญญา 30 ต.ค. 2566 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่23 พ.ย. 2567 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าเกิดจากผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน
สัญญาที่ 3 ช่วงกม.ที่ 18+642 - กม.ที่ 20+295 ระยะทาง 1.65 กม. วงเงิน 2,491 มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้าที่ 91.653% ล่าช้า8.347% จากแผนที่ต้องแล้วเสร็จ 100% วันเริ่มต้นสัญญา 28 ส.ค. 2562 วันสิ้นสุดสัญญา 25 ต.ค. 2566 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่21 พ.ย. 2567 อุปสรรคที่ทำให้งานก่อสร้างล่าช้าเกิดจากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบางช่วงไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการก่อสร้างทางเลี้ยวเข้าถนนเอกชัย เพื่อไปยังมหาชัย ไม่สามารถทำได้เป็นระยะทาง 600 เมตร โดยเพิ่งแก้ไขได้เมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง กล่าวกับสำนักข่าวอิศราต่อไปว่า ในส่วนของช่วงที่ 2 ช่วง เอกชัย - บ้านแพ้ว ทั้ง 10 สัญญา มีความคืบหน้ารวม 40.395% ล่าช้า 11.509% จากแผนงานที่ต้อคืบหน้า 51.904% โดยทั้ง 10 สัญญา มีความคืบหน้าดังนี้
สัญญาที่ 1 ช่วงกม.ที่ 20+295 - กม.ที่22+474 ระยะทาง 2.179 กม. วงเงิน 1,757 ล้านบาท มีบจ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้าที่ 48.42% ล่าช้า 4.872% จากแผนที่จะต้องคืบหน้า 53.292% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 อุปสรรคที่ทำให้ล่าช้าคือ ติดขัดการขยายสะพานข้ามคลองช่วงกม.ที่20+450 และติดขัดสะพานเอกชัยเดิม ซึ่งจำเป็นจะต้องเพิ่มความยาวสะพาน โดยอยู่ระหว่างแก้ไขแบบและแก้ไขสัญญา
สัญญาที่ 2 ช่วงกม.ที่ 22+474 - กม.ที่ 24+670 ระยะทาง 2.196 กม. วงเงิน 1,861 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ากรุงธน-ไทย (ประกอบด้วย บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ และบจ.ไทย เอ็นยิเนียร์) เป็นผู้รับจ้าง สถานะปัจจุบันมีความคืบหน้า 41.032% ล่าช้า 11.465% จากแผนที่จะต้องคืบหน้า 52.497% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 อุปสรรคที่ทำให้งานล่าช้าคือ การดำเนินการไม่เป็นไปตามแผน
สัญญาที่ 3 ช่วงกม.ที่ 24+670 - กม.ที่25+734 ระยะทาง 1.064 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,910 ล้านบาท กิจการร่วมค้าวีเอ็น (ประกอบด้วย บจ.จิตรภัณฑ์ และบจ.นภาก่อสร้าง) ความคืบหน้าที่ 35.57% ล่าช้า 16.4% จากแผนงานที่ต้องคืบหน้า 51.98% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 สาเหตุของความล่าช้าเกิดจากปรับแก้ตอม่อทางยกระดับที่กีดขวางทางขึ้นลงของสะพานกลับรถที่ กท.26
สัญญาที่ 4 ช่วงกม.ที่25+734 - กม.ที่ 26+998 ระยะทาง 1.264 กม. วงเงิน 1,876 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 35.46% ล่าช้า 23.29% จากแผนงานที่ต้องคืบหน้า 58.75% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญาเดือน ธ.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 สาเหตุของความล่าช้าเกิดจาก การปรับแก้ตอม่อทางยกระดับซึ่งแบบออกแบบไว้ทับทางเท้าของประชาชนทั้งสองข้างทาง บริเวณกม.ที่ 26+100 - กม.ที่26+800 ทั้งขาเข้าและขาออก
สัญญาที่ 5 ช่วงกม.ที่ 26+998 - กม.ที่ 28+664 ระยะทาง 1.666 กม. วงเงิน 1,903 ล้านบาท มี บจ.บางแสนมหานคร เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้ารวมที่ 46.47% ล่าช้า 7.99% จากแผนที่ต้องคืบหน้า 54.46% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ทั้งนี้ สัญญานี้ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้งานล่าช้าแต่อย่างใด
สัญญาที่ 6 ช่วงกม.ที่ 28+664 - กม.ที่ 29+772 ระยะทาง 1.108 กม. วงเงิน 1,865 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอเอสไอ (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบจ.อสิตากิจ) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 20.872% ล่าช้า 37.865% จากแผนที่ต้องคืบหน้า 58.737% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญาเดือน ธ.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 อุปสรรคที่ทำให้งานล่าช้า ได้แก่ อบจ.สมุทรสาครส่งมอบสะพานกลับรถมอเตอร์ไซต์ล่าช้า ประกอบกับพื้นที่ที่จะต้องทำด่านขึ้น-ลง (ด่านสมุทรสาคร 2) ทับซ้อนกับสะพานกลับรถมอเตอร์ไซต์ของ อบจ.สมุทรสาคร โดยคาดว่าจะแก้ไขแบบก่อสร้างภายในเดือน มี.ค. 2567
สัญญาที่ 7 ช่วงกม.ที่ 29+772 - กม.ที่ 31+207 ระยะทาง 1.435 กม. วงเงิน 1,868 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าที่ 31.475% ล่าช้า 13.033% จากแผนที่จะต้องคืบหน้า 44.508% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 อุปสรรคที่ทำให้ก่อสร้างล่าช้ามาจากติดปัญหาการก่อสร้างตอม่อในแม่น้ำท่าจีน อยู่ระหว่างขออนุญาตกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยขออนุญาตไปเมื่อเดือน ส.ค. 2566
สัญญาที่ 8 ช่วงกม.ที่ 31+207 - กม.ที่ 33+366 ระยะทาง 2.159 กม. วงเงิน 1,910 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีซีเดสพี-เดอะซีอีซี (ประกอบด้วย บมจ. ซีวิลเอนจิเนียริและบจ.เดอะ ซี.อี.ซี. คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 45.676% ล่าช้า 3.428% จากแผนที่ต้องคืบหน้า 49.104% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ไม่ได้ระบุอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า
สัญญาที่ 9 ช่วงกม.ที่ 33+366 - กม.ที่ 35+511 ระยะทาง 2.145 กม. วงเงิน 1,859 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเอ็มซี-ทีบีทีซี (ประกอบด้วย บจ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น และ บจ.กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าที่ 65.749% เร็วกว่าแผน 3.787% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568
และสัญญาที่ 10 ช่วงกม.ที่ 35+511 – กม.ที่ 36+645 ระยะทาง 1.134 กม. วงเงิน 1,946 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอส.เค. (ประกอบด้วย บจ.เสริมสงวนก่อสร้าง และบจ. เค อาร์ ซี ทรานสปอร์ต แอนด์เซอร์วิส) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าที่ 45.308% ล่าช้า 18.216% จากแผนที่จะต้องแล้วเสร็จ 63.524% วันเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ. 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 และขยายเวลาค่าปรับเป็นศูนย์จากมาตรการโควิดถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 สาตุของความล่าช้าเกิดจากปรับแก้ไขตอม่อที่อยู่บนผิวจราจร คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2567
@โยธาจบ ต่องานระบบเก็บค่าผ่านทาง เปิดใช้เร็วสุดปี 69
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวไปข้างต้นเฉพาะงานก่อสร้างด้านโยธาเท่านั้น มอเตอร์เวย์สายนี้ยังต้องติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางและการบำรุงรักษา (O&M) ต่อไป ซึ่งนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)เปิดเผยว่า สำหรับโครงการ O&M ของมอเตอร์เวย์สายนี้ รูปแบบโครงการจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชนในรูปแบบ PPP- Gross Cost (ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ โดยจัดสรรผลตอบแทนให้เอกชนแบบกำหนดราคา (fixed payment) โดยผลตอบแทนที่เอกชนได้รับจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายได้จากการดำเนินงาน)
ขั้นตอน ณ ตอนนี้ หลังจากที่จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ต่อไปจะเป็นการจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนพร้อมขายเอกสารประกวดราคาในช่วงเดือน เม.ย.2567 หลังจากนั้นจะให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอ 4 เดือน กำหนดยื่นข้อเสนอภายในเดือน ส.ค.2567 โดยใช้เวลาประเมินข้อเสนอ 2 เดือน (เดือน ก.ย.-ต.ค.2567) จากนั้นจะเจรจาร่างสัญญาคาดว่าจะแล้วเสร็จสรุปผลการคัดเลือกได้ปลายปี 2567 และลงนามสัญญาร่วมลงทุนต้นปี 2568 มีเป้าหมายเปิดให้บริการปลายปี 2569 หรือต้นปี 2570
และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ก็คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการ อยู่ที่ 22.52 ล้านคัน รายได้ 1,272.71 ล้านบาท และปีที่ 30 มีปริมาณจราจรประมาณ 79.34 ล้านคัน มีรายได้ประมาณ 7,299.64 ล้านบาท โดยประเมินตลอดระยะเวลา 30 ปี จะมีปริมาณจราจรรวม 1,548.54 ล้านคัน มีรายได้ค่าผ่านทางรวม 116,954.15 ล้านบาท
@ทางด่วนพระราม 3 คืบ 46%
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทาง 18.7 กม. ซึ่งเป็นอีกงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 สถานะเดือน ม.ค. 2567 ความคืบหน้าแล้ว 46.21% จากแผนงาน 40.65% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% วางแผนเปิดให้บริการกลางปี 2568 แต่ละสัญญามีความคืบหน้า ดังนี้
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. มี กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ซีวิล เอนจีเนียริง) วงเงินโครงการ 7,350 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผลงานสะสม 18.85% จากแผนงาน 17.75% เร็วกว่าแผนงาน 1.10%
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกลุ่มไชน่าฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท ผลงานสะสม 63.16% จากแผนงาน 62.24% เร็วกว่าแผนงาน 0.92%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บจ. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 7,359.3 ล้านบาท ผลงานสะสม 16.98% จากแผนงาน 17.75% ช้ากว่าแผนงาน 0.77%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร และงานทางด่วน ขนาด 6 ช่องจราจร 2 กม. มี บมจ. ช.การช่าง เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินโครงการ 6,636 ล้านบาท ผลงานสะสม 98.23% จากแผนงาน 75.50% เร็วกว่าแผนงาน 22.73%
ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร กทพ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้าง โดยมีแผนจะออกประกาศประกวดราคาช่วงเดือนมีนาคม 2567 นี้
ถนนพระราม 2 ถนนแห่งการซ่อมสร้าง จะปิดตำนานการก่อสร้างในปี 2568-2569 นี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
แต่อย่าลืมว่า แผนงานของกรมทางหลวงนั้นมีต่อขยายไปถึงแยกวังมะนาว จ.ราชบุรี ดังนั้น กับโครงการนี้จะต้องมีอัปเดตให้ทราบในโอกาสต่อไปแน่นอน