"... ไม่แปลกในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ ‘ทักษิณ’ มีกระแสข่าวจะได้รับการพักโทษนั้น จะมีการขุดคุ้ยความผิดตามมาตรา 112 ขึ้นมาเล่นงานอีกครั้ง โดยสำนวนคดีนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุด (อสส.) ชี้ขาด 10 เม.ย.นี้ ..การถูกขุดคุ้ยคดีมาตรา 112 กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการสะกด ‘ปิดประตู’ การจูบปากระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ไปโดยปริยาย เพราะคดีนี้ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ นอกจากตัวของ ‘ทักษิณ’ เอง..."
แม้ว่าภารกิจแรกของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังกลับมาเข้าฐานบัญชาเกมอำนาจ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ในรอบเกือบ 17 ปี คือการเปิดบ้านต้อนรับ ‘ฮุน เซน’ อดีตนายกฯของกัมพูชาก็ตาม
แต่ในทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพทับซ้อนของ ‘นายกฯไทย’ ขณะนี้มีอยู่ 2 คนแนบทับกันอย่างแยกไม่ออก
คนแรก คือนายกฯคนที่ 30 ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แห่งพรรคเพื่อไทย อีกคนคืออดีตนายกฯคนที่ 23 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นั่นเอง
หากฉายภาพให้เห็นชัด ต้นเดือน ก.พ. ‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ คนล่าสุดของกัมพูชา บุตร ‘ฮุน เซน’ เดินทางเข้าพบ ‘เศรษฐา’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางการจับตาว่ามีวาระหารือประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลหรือไม่
แต่หลายฝ่ายปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี้ และแวดวงการเมืองก็มิได้มีการพูดถึงแต่อย่างใด
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
แตกต่างกับเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ‘ฮุน เซน’ เข้าพบ ‘ทักษิณ’ มิตรแท้ทางการเมืองในยามยาก กูรูการเมืองหลายคนต่างวิเคราะห์ว่า จะมีการหารือถึงประเด็น ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ด้านพลังงานระหว่างไทย-กัมพูชาหรือไม่แทน
นั่นทำให้ภาพทับซ้อน ‘2 นายกฯ’ ตามคำนิยามของ ‘ก้าวไกล’ เห็นชัดเจนขึ้นเข้าไปอีก
มิใช่แค่เรื่อง ‘ขุน’ กลับสู่กระดานการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นของ ‘ถ่านไฟเก่า’ ระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ จะสามารถกลับมาจูบปากกันอีกครั้งได้หรือไม่ด้วย
เพราะต้องไม่ลืมว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า ศูนย์รวมจิตใจ สส.ก้าวไกล-ด้อมส้มทั่วประเทศ เคยบินไปพบ ‘นายใหญ่ดูไบ’ จริง โดยสายข่าวด้านความมั่นคงก็ยืนยันการพบกันจริง ผ่านการประสานงานของ ‘หญิงเหล็กหลังม่าน’ แห่งตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ แม้แต่ ‘ธนาธร’ ยังออกมายอมรับทีหลังว่าได้บินไปพบกับ ‘ทักษิณ’ จริงเช่นกัน
บทสนทนาที่แท้จริงในวันดังกล่าว คงไม่สามารถเล็ดรอดออกมาถึงสาธารณชนได้ทั้งหมด
แต่ว่ากันว่ามีการหารือถึง ‘ดีลลับ’ ในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยฝ่ายหนึ่ง โยนข้อเสนอว่า จะยอมถอยทุกอย่างที่เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันฯ และจะออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ซึ่งอาจเหมารวมถึงความผิดของ ‘นายใหญ่’ ด้วย ทว่าดีลในครั้งนั้น ‘ล่มไม่เป็นท่า’ เมื่อ ‘นายใหญ่’ เซย์โน เพราะมี ‘ดีลพิเศษ’ รอท่าเอาไว้อยู่แล้ว
หลังจากนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองก็เป็นไปอย่างที่เห็น ‘ก้าวไกล’ ถูกเขี่ยทิ้งจากการจัดตั้งรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ หวนจูบปากกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ชู ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯคนที่ 30 จากแรงเซอร์ไพรส์ของ ‘อดีตน้องเล็ก’ หวังเอาคืน ‘พี่ใหญ่’ จึงส่งสัญญาณให้ สว.ในเครือข่ายโหวตช่วย ‘เศรษฐา’ เอาคืนจากการเคยโดน ‘เลื่อยขาเก้าอี้’ เมื่อครั้งมีอำนาจไม่กี่ปีก่อน
ผ่านมา 6 เดือนเศษ สมการการเมืองเริ่มเปลี่ยน พรรคภูมิใจไทย ในฐานะเสาหลักค้ำยันรัฐบาลชุดนี้ เริ่มระส่ำระส่ายจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี กรณีมีพฤติการณ์เชื่อได้ว่าให้ ‘นอมินี’ ถือครองหุ้นใน หจก.รับเหมาก่อสร้าง และถูกร้องเรียนตรวจสอบว่า เงินบริจาคเข้าพรรคส่อเข้าข่ายได้มาโดยมิชอบ ต้องถูกยุบพรรคหรือไม่
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ทำให้สูตรจัดตั้งรัฐบาล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ถูกโยนหินถามทางอีกครั้ง เนื่องจากกลางปี 2567 สว.จะหมดอำนาจโหวตเลือกนายกฯเช่นเดียวกัน แม้พรรคส้มจะถูกกล่าวหาล้มล้างการปกครองก็ตาม แต่บรรดาแกนนำ ‘แถว 2-3’ เตรียมพร้อม ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น ก็มี ‘พรรคอะไหล่’ เตรียมพร้อมไว้เช่นกัน
แต่สถานการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้การจับตาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเช่นกัน จึงไม่แปลกในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ ‘ทักษิณ’ มีกระแสข่าวจะได้รับการพักโทษนั้น จะมีการขุดคุ้ยความผิดตามมาตรา 112 ขึ้นมาเล่นงานอีกครั้ง โดยสำนวนคดีนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุด (อสส.) ชี้ขาด 10 เม.ย.นี้
การถูกขุดคุ้ยคดีมาตรา 112 กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการสะกด ‘ปิดประตู’ การจูบปากระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ไปโดยปริยาย เพราะคดีนี้ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ นอกจากตัวของ ‘ทักษิณ’ เอง
‘เพื่อไทย’ จำเป็นต้องแก้เกมด้วยการยกระดับเป็น ‘พรรคอนุรักษ์นิยม’ เต็มตัว ขึ้นเป็นเสาหลักแทน ชูนโยบายด้านประชานิยม ที่ได้ผลมาโดยตลอด หากสุดท้ายเกิดอุบัติเหตุกับพรรคภูมิใจไทยถูกยุบ บรรดา สส.-บ้านใหญ่ อาจย้ายกลับคืนรัง เพื่อหวังกวาดที่นั่งในสภาฯให้มากที่สุด สู้กับ ‘ก้าวไกล’ ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่-เสรีนิยมใหม่
หากเกมเป็นไปตามนี้ ‘นายใหญ่’ ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง 1.คือได้ขุนพลการเมืองมาช่วยเรียกเรตติ้งได้ 2.เอาคืน ‘ศัตรูเก่า’ ที่แค้นฝังหุ่นมานานนับทศวรรษ
เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่าความป๊อปปูล่าร์ของพรรคการเมืองในมือปัจจุบัน ไม่สามารถจูงใจ ‘คนรุ่นใหม่’ มานิยมชมชอบได้เลย
‘บิ๊กเนมค่ายส้ม’ รับรู้สถานการณ์มาได้สักระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน จึงเดินแคมเปญ ‘ปักธงทุกจังหวัด’ โดย ‘กลุ่มเพื่อนเอก’ เชื้อเชิญ ‘บ้านใหญ่’ ในหลายจังหวัดเข้าสังกัด ‘สีส้ม’ หวังส่งชิงเก้าอี้นายก อบจ. ที่จะเกิดการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อาจเป็นหนึ่งในฐานชี้วัดความนิยมระหว่าง ‘อนุรักษ์นิยม’ vs ‘เสรีนิยมใหม่’ ก็เป็นได้
ถึงคราวการเมืองไทยกลับมาสู่ยุค 2 ขั้วอีกครั้ง แต่คราวนี้เปลี่ยนตัวแสดงจาก ‘สีแดง’ vs ‘สีฟ้า’ เป็น ‘สีแดง’ vs ‘สีส้ม’ แทน และความขัดแย้งทางการเมืองไทยคงยังดำเนินต่อไปยังไม่เจอจุดสิ้นสุด
บทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามอย่ากระพริบตา