"..เราทำธุรกิจขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการมาหลายสิบปี เรามีช่องทางในการหาสินค้า ซึ่งงานนี้สินค้าบางตัว เราก็ไปซื้อมาจาก แม็คโคร ส่วนสินค้าชนิดไหนที่แม็คโครไม่มีเราก็ไปหาซื้อมาจากแหล่งอื่นที่เรารู้จัก และเมื่อเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลา ของบางอย่างจึงอาจจะมีราคาแพง อย่างเช่น หน้ากากอนามัยในจังหวัดไม่มี เราต้องไปสั่งซื้อจากโรงงานในกทม. มันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุน ค่าขนส่ง คนที่ขายของให้เรา เขาก็ต้องการกำไร เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่เราคิดว่าเราทำได้ เราก็เสนอราคาไป มันขึ้นอยู่กับ อบจ.ลำพูน ว่าจะพิจารณาเลือกเราเข้าไปรับงานหรือไม่..."
กรณี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดคดีทุจริตจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) วงเงิน 16,343,000 บาท ในโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ในช่วงปี 2563 เป็นทางการแล้ว นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ศาลฯ ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยหลายรายในคดีนี้ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น รองนายก อบจ., ปลัด อบจ., รองปลัด อบจ. คนละหลายปี และร่วมกันชดใช้เงิน แต่โทษจำคุกได้รอลงอาญา ส่วน นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน ศาลฯ พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ถูกลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา มี 2 ราย อยู่ในกลุ่มเอกชน คือ นางสาวณัฐวรรณ รัตนคำนวณ จำเลยที่ 8 นายเทวินทร์ วิธี จำเลยที่ 9 ถูกลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี
ขณะที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี. พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำเลยที่ 7 คู่สัญญาขาย ชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ให้กับ อบจ.ลำพูน ถูกศาลฯ ปรับเงินเป็นจำนวน 120,000 บาท และร่วมชดใช้เงินค่าเสียหายพร้อมจำเลยรายอื่น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูล ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี. พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง พบว่า ปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่
ในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง จดทะเบียนจัดตั้ง 3 ก.พ. 2552 ดำเนินกิจการมาแล้ว 15 ปี ทุนจดทะเบียนล่าสุด 1,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 209 หมู่ 3 ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แจ้งประกอบธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน
นางสาว ณัฐวรรณ รัตนคำนวณ จำเลยที่ 8 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ นาง นฤมล รัตนคำนวณ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถือหุ้นเท่ากันคนละ 50% มูลค่า 500,000 บาท )
หจก.พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง นำส่งงบแสดงผลประกอบการธุรกิจ รอบบัญชี วันที่ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ - สุทธิ 1,044,440.56 บาท รายได้รวม 1,044,440.56 บาท ต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 890,518.85 บาท กำไรสุทธิ 124,702.94 บาท
สำหรับข้อมูลเกี่บวกับ นายเทวินทร์ วิธี จำเลยที่ 9 ยังตรวจสอบไม่พบว่า เป็นเจ้าของธุรกิจที่ใดบ้าง แต่เคยปรากฏชื่อเป็นตัวแทนบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เข้าทำสัญญารับจ้างงานพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาอิเล็กทรอนิกศ์ของ อบจ.ลำพูน วงเงิน 448,500 บาท ในช่วงปี 2561
ส่วนบทบาทของ นายเทวินทร์ วิธี ในคดีจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ของ อบจ.ลำพูน นั้น ถูกระบุว่า ในขั้นตอนการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลาง นายเทวินทร์ ได้ส่งเอกสารใบเสนอราคาของ หจก.พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง, ร้านรุ่งทิพ เอ็นเตอร์ไพร์ท และห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มพูนโชค ซึ่งเป็นห้างและร้านในกลุ่มเดียวกัน และมีนายเทวินทร์ วิธี เป็นผู้ดำเนินการแทนห้างร้านดังกล่าวทั้งหมด นำมาใช้ในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ราคาชุดละ 590 บาท โดยมิได้มีการสืบราคา จากผู้มีอาชีพในท้องตลาดจริง ซึ่งทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคารวม 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท เท่ากัน และ อบจ.ลำพูนได้เลือกและเร่งรัดให้ หจก.พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง ได้เป็นคู่สัญญากับ อบจ.ลำพูน ตามบันทึกข้อตกลงซื้อขาย เลขที่ 53/2563 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 จำนวนเงิน 16,343,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อ หจก.พี. พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง เพื่อขอสัมภาษณ์ นางสาว ณัฐวรรณ รัตนคำนวณ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านแล้ว ตามเบอร์โทรที่แจ้งไว้ในฐานข้อมูลออนไลน์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ขณะที่ในช่วงเกิดประเด็นข่าวเรื่องนี้ เมื่อเดือน เม.ย.2563 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง หจก.พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง เพื่อขอสัมภาษณ์ นางสาว ณัฐวรรณ รัตนคำนวณ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในเอกสารส่งมอบสินค้าให้กับอบจ. ลำพูน เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้
เบื้องต้น มีผู้ชายรายหนึ่งรับสาย ระบุสถานะว่า เป็นแฟนของนางสาว ณัฐวรรณ รัตนคำนวณ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง
ก่อนจะให้ข้อมูลว่า หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้ง เข้าไปเสนอราคาขายสินค้าในโครงการฯ นี้ หลังได้รับหนังสือเชิญเป็นทางการจาก อบจ. ลำพูน
"ร้านเราทำธุรกิจขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการมากว่า 20 ปีแล้ว ได้งานหลายที่ไม่ใช่แค่ อบจ.ลำพูน เท่านั้น"
"ส่วนการขายสินค้าโครงการนี้ให้กับ อบจ.ลำพูน เริ่มต้นหลังจากที่เราได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้ารวมเหมือนกับเอกชนรายอื่น และก็ได้รับข้อมูลว่า ทางอบจ.ลำพูน ต้องการสินค้าอะไรบ้าง เราก็มาดูรายละเอียดในส่วนของเราว่าทำได้หรือไม่ เมื่อเห็นว่าเราพอจะทำได้ สามารถจัดหาสินค้าที่อบจ.ลำพูนต้องการได้ แม้ว่าจะมีเวลาไม่มากนัก และพอมีกำไรในการทำธุรกิจ เราก็เสนอราคาสินค้าไปให้ทาง อบจ.ลำพูน พิจารณา เมื่อเขาเลือกเรา เราก็รับงาน หาของมาส่งให้ครบถ้วนตามที่เขาต้องการ"
เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สินค้ากับราคาไม่เหมาะสมกัน
ตัวแทน หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ตอบว่า "ทางหจก.ฯ ไม่ได้เป็นคนกำหนดรายละเอียดสินค้าว่าจะต้องมีอะไรบ้าง ทาง อบจ.ลำพูน เป็นคนกำหนดสินค้ามา เรามีหน้าที่จัดหาของให้เขาให้ครบ ไปวิ่งหาของมาส่งให้ครบตามสเปคที่กำหนดไว้"
เมื่อถามว่า ไปรับสินค้าจำนวนมากจากไหนมาขายได้ในระยะเวลาสั้นๆ แบบนี้?
ตัวแทน หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ตอบว่า "เราทำธุรกิจขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการมาหลายสิบปี เรามีช่องทางในการหาสินค้า ซึ่งงานนี้สินค้าบางตัว เราก็ไปซื้อมาจาก แม็คโคร ส่วนสินค้าชนิดไหนที่แม็คโครไม่มีเราก็ไปหาซื้อมาจากแหล่งอื่นที่เรารู้จัก และเมื่อเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลา ของบางอย่างจึงอาจจะมีราคาแพง อย่างเช่น หน้ากากอนามัยในจังหวัดไม่มี เราต้องไปสั่งซื้อจากโรงงานในกทม. มันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุน ค่าขนส่ง คนที่ขายของให้เรา เขาก็ต้องการกำไร เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่เราคิดว่าเราทำได้ เราก็เสนอราคาไป มันขึ้นอยู่กับ อบจ.ลำพูน ว่าจะพิจารณาเลือกเราเข้าไปรับงานหรือไม่"
เมื่อถามว่า แต่สินค้าบางรายการ ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคาแพงเกินไปอย่างเช่น ถุงพลาสติกใสซิปล็อค ขนาด 12x18 นิ้ว พร้อมสติ๊กเกอร์ อบจ.ลำพูน ใบละ 55 บาท
ตัวแทน หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ตอบว่า "ราคาถุงในท้องตลาดอาจไม่สูงมาก แต่ที่ราคามันสูงเป็นเพราะต้องมีการติดสติกเกอร์ด้วย ซึ่งตอนแรกที่เราเข้าไปรับงาน เรายังไม่รู้ว่ารูปแบบของสติกเกอร์ที่จะให้ติดเป็นแบบไหน เราก็เลยบวกค่าความเสี่ยงเข้าไป และเมื่อเราได้งานมาแล้ว เราก็ไปจ้างออกแบบ สั่งพิมพ์สติกเกอร์มาติด ซึ่งในช่วงเวลางานเร่งด่วนและต้องการของจำนวนมากแบบนี้ ราคามันจึงต้องสูงเป็นธรรมดา"
เมื่อถามย้ำว่า รู้จักใครในอบจ.ลำพูน หรือไม่
ตัวแทน หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ตอบว่า "ผมทำธุรกิจขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการมาหลายปี ก็ต้องรู้จักคนในหน่วยงานราชการอยู่แล้ว แต่ก็แค่รู้จักกันในฐานะคู่ค้า แต่ไม่ได้สนิทสนมกับใครถึงขนาดไปนั่งกินข้าวด้วยกันแบบนั้นไม่มี"
เมื่อถามว่า สรุปแล้ว หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ทำธุรกิจอะไรกันแน่
ตัวแทน หจก. พี.พี.กรุ๊ป เทรดดิ้งฯ ตอบว่า "เรารับจ้างขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการทั่วไป แต่มีหน้าร้านขายเครื่องเขียนอยู่ แม้จะเป็นร้านค้าเล็กๆ เก่าๆ แต่เราก็ไม่เคยมีปัญหาในการทำธุรกิจอะไร เพราะเรารู้จักที่ติดต่อหาของมาส่งให้ได้"
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลของจำเลยในกลุ่มเอกชน ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษในคดีนี้โดยไม่รอลงอาญา ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด นางสาวณัฐวรรณ รัตนคำนวณ จำเลยที่ 8 นายเทวินทร์ วิธี จำเลยที่ 9 ที่ถูกลงโทษคนละ 2 ปี ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
ผลการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์จะออกมาเป็นอย่างไร จะยืนตามศาลชั้นต้น หรือมีกลับคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรายใดหรือไม่
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
(ดูภาพแจกแจงรายละเอียดราคาสินค้าของเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านประกอบhttps://bit.ly/2xG2Bdn)