‘สุริยะ’ กางแผนเดินหน้า 8 โปรเจ็กต์ด้านพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ 1.8 หมื่นล้าน หวังรองรับจำนวนผู้โดยสารฟื้นกลับมาจากโควิดจำนวน 180 ล้านคนในปี 2568 ส่วนการโอนสนามบินจาก ทย.มาทอท. ยืนยันจบในปี 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศ เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ
โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เก็บข้อมูลผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ปี 2562 อยู่ที่ 165 ล้านคน เที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน หลังจากนั้นประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 มียอดผู้โดยสารรวม 76 ล้านคน ส่วนเที่ยวบินเหลือประมาณ 570,000 เที่ยวบิน และปีล่าสุด 2566 ผู้โดยสารฟื้นขึ้นมาเป็น 120 ล้านคน เที่ยวบินทั้งปีอยู่ที่ 792,000 เที่ยวบิน จึงคาดหมายว่าในปี 2567 จำนวนผู้โดยสารจะไต่ระดับขึ้นไปเท่าปี 2562 ส่วนในปี 2568 จำนวนผู้โดยสารน่าจะกระโดดที่ 180 ล้านคน/ปี และมีเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบิน
@ลุย 8 โปรเจ็กต์ด่วนทางอากาศ 1.8 หมื่นล้าน
นายสุริยะกล่าวต่อว่า ดังนั้น หน่วยงานด้านอากาศจะต้องมีโครงการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนี้ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation hub) ซึ่งจะมีโครงการรองรับจำนวน 46 โครงการ สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานระยะเร่งด่วนมีจำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 18,375.18 ล้านบาท
เริ่มที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) 2 โครงการ วงเงินรวม 11,939.88 ล้านบาท ได้แก่
1.การเปิดใช้งานทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ งบประมาณ 2,939.88 ล้านบาท ปัจจุบันเนื้องานเหลือการปูพื้นชั้นสุดท้าย ติดตั้งท่อลอดสายไฟ ถมชั้นระบายน้ำ งานส่วนนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2567 งานถัดมาคือการติดตั้งระบบไฟ ท่อระบายน้ำและประกาศเอกสารแถลงข่าวการบิน (AIP) งานนี้จะแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567 ก่อนที่ทำการทดสอบระบบต่าง ๆ และเปิดใช้งานบางส่วนในเดือน ก.ค. 2567 โดยคาดว่ารันเวย์เส้นนี้จะรองรับเที่ยวบินขึ้น-ลงจาก 68 เที่ยวบิน/ชม. เป็น 94 เที่ยวบิน/ชม.
2.การก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินลงทุน 9,000 ล้านบาท สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างการด้าเนินการศึกษารายละเอียดและขออนุมัติงบประมาณ โดยคาดว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจาณราให้ความเห็นชอบในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะประกวดราคาและเริ่มก่าอสร้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ทั้งนี้ คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2571
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 6,435.3 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง วงเงินโครงการ 1,070 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยอาคารผู้โดยสารหลังนี้ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคน/ปี
2.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลัง 1,2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินโครงการ 2,923.4 ล้านบาท โดยอาคารผู้โดยทั้ง 3 หลังจะรอง รับได้เพิ่มขึ้น จากเดิม 4.32 ล้านคน/ปีเป็น8 ล้านคน/ปี ส่วนอาคารจอดรถรองรับรถยนต์ได้ทั้งหมด 2,664 คัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568
3.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ ท่าอากาศยานชุมพร วงเงินโครงการ 1,500.00 ล้านบาท
4.โครงการงานซ่อมบ้ารุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงินโครงการ 941.9 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย การก่อสร้างชั้นทางของทางขับขนาน และทางขับออกด่วน พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำ และก่อสร้างอาคารประกอบพร้อมครุภัณฑ์จัดซื้อในอาคารก่อสร้างชั้นทาง รวมถึง Service Road ก่อสร้างและทดสอบระบบไฟฟ้าสนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 และหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเครื่องบินจาก 8 ลำ/ชม.เป็น 24 ลำ/ชั่วโมง
@โอน 3 สนามบินจบในปี 2567
นายสุริยะเปิดเผยอีกว่า ส่วนนโยบายการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานอุดรธานี ความคืบหน้าปัจจุบัน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ กพท. และ ทย. เรื่องข้อมูลและเอกสารด้านความปลอดภัยของ 3 สนามบินและขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ 3 สนามบิน ทั้งนี้ คาดว่า ทอท.จะเข้าบริหารจัดการทั้ง 3 ท่าอากาศยานได้ภายในปี 2567 นี้