71 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่ามีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 45 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก 43 คะแนน โดยคะแนนที่อ่อนแอเหล่านี้สะท้อนว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือวาระงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งหมดไม่ได้มีการสานต่องานที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอีกประการก็คือว่าหลายประเทศมีการปราบปรามภาคประชาสังคม โจมตีเสรีภาพสื่อมวลชน การชุมนุมเพื่อแสดงออก และโจมตีกิจกรรมสมาคมต่างๆ
สืบเนื่องจากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติหรือ Transparency International (TI) ได้มีการจัดทำดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2566 หรือว่า CPI โดยคะแนนของประเทศไทยนั้นได้ 35 คะแนน คะแนนตกลงจากเมื่อปีที่แล้วที่ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก ซึ่งอันดับตกลงจากปีก่อนที่ได้อันดับ 101 และคะแนน 35 คะแนนดังกล่าวเทียบเท่ากับที่ไทยเคยได้คะแนนต่ำสุดเมื่อปี 2556 และปี 2559
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอบทความบนหน้าเว็บของ TI ซึ่งได้มีการประมวลภาพรวมประเทศต่างๆเอาไว้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าเป็นอย่างไรบ้างในปี 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกําลังเผชิญกับปีแห่งการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2567 โดยมีผู้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน หมู่เกาะโซโลมอน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ค่าคะแนน CPI ของปี 2566 ที่ปรากฎออกมาก็แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้นมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย จนถึงไม่มีเลย ในเรื่องของการควบคุมการทุจริตในภูมิภาคนี้
ในช่วงเวลาห้าปีติดต่อกัน คะเฉลี่ย CPI ของภูมิภาคซบเซาอยู่ที่ 45 จาก 100 คะแนน โดยมีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศที่แสดงให้เห็นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจนบ่งชี้ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ และก็มีอีกหลายประเทศที่อยู่ด้านบนของดัชนี ที่คะแนนกำลังลดลงอย่างช้าๆ
ประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่ามีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 45 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก 43 คะแนน โดยคะแนนที่อ่อนแอเหล่านี้สะท้อนว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือวาระงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งหมดไม่ได้มีการสานต่องานที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอีกประการก็คือว่าหลายประเทศมีการปราบปรามภาคประชาสังคม โจมตีเสรีภาพสื่อมวลชน การชุมนุมเพื่อแสดงออก และโจมตีกิจกรรมสมาคมต่างๆ
ประเทศที่มีคะแนนสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนิวซีแลนด์ (85 คะแนน) และสิงคโปร์ (83 คะแนน) ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งของตนเองเอาไว้ได้ในอันดับต้นๆ ตามมาด้วยประเทศที่มีกลไกการควบคุมการทุจริตที่แข็งแกร่ง อาทิ ออสเตรเลีย (75 คะแนน) ฮ่องกง (75 คะแนน) (ญี่ปุ่น 73 คะแนน) ภูฏาน (68 คะแนน) ไต้หวัน (67 คะแนน) และเกาหลีใต้ (63 คะแนน)
สำหรับคะแนนของประเทศนิวซีแลนด์พบว่ามีการลดลงตั้งแต่ปี 2563ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเรื่องความสมบูรณ์ของการทำสัญญาสาธารณะ การเก็บภาษีและโอกาสทางการค้า ในปี 2565 ออสเตรเลียได้มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และเริ่มแผนงานในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสภาครัฐและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนทางการเมือง
ขณะที่ภูฏานยังได้แสดงความก้าวหน้าผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานต่อต้านการทุจริต
ส่วนประเทศที่อยู่ด้านท้ายของดัชนีในภูมิภาคก็ยังเป็นประเทศที่มีลักษณะของรัฐที่อ่อนแอ และมีระบอบเผด็จการ อาทิ เกาหลีเหนือ (17 คะแนน) และเมียนมา (20 คะแนน) โดยเมียนมานั้นถือว่ามีคะแนนลดลงมาถึง 10 จุดนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ส่วนอัฟกานิสถาน (20 คะแนน) ก็กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ประเทศที่ได้คะแนน CPI สูงสุดและต่ำสุดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
@เหตุการณ์หลังจากการระบาดใหญ่ ประเทศอาเซียนกำลังดิ้นรนเพื่อส่งต่อความพยายามในการต่อต้านการทุจริต
ทั่วภูมิภาคอาเซียน ประเทศมาเลเซีย (50 คะแนน) ยังคงเป็นประเทศที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคเนื่องจากว่ามาเลเซียมีระบบการเลือกตั้งที่แข็งแกร่งควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการต่อต้านทุจริตในประเทศที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนที่ประเทศอินโดนีเซีย (34 คะแนน) ซึ่งอยู่ในภาวะประชาธิปไตยถอยหลัง ทำให้ตอนนี้ยังมีความไม่มั่นใจว่า หน่วยงานต่อต้านการทุจริตหรือ KPK ที่ถูกตัดอำนาจไปอย่างรุนแรง จะกลับมาฟื้นฟูอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ในเร็วๆนี้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นเสือกระดาษตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน
ที่เวียดนาม (41 คะแนน) พบว่ามีการรณรงค์การต่อต้านการทุจริตในระดับสูง อย่างไรก็ตามกระบวนการรณรงค์นี้กำลังถูกทำลาย เพราะมีการจำกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจำกัดการแสดงความเห็นอาจส่งผลทำลายความยั่งยืนของความพยายามปราบทุจริตดังกล่าว ส่วนฟิลิปปินส์ (34 คะแนน) และประเทศไทย (35 คะแนน) ยังคงเป็นประเทศที่มีคะแนนต่ำค่อนไปทางด้านล่างของตาราง
@ประเทศจีน
สำหรับประเทศจีน (42 คะแนน) พบว่าประเทศนี้มีข่าวพาดหัวหลายครั้งเกี่ยวกับกระบวนการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก เนื่องจากมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐกว่า 3.7 ล้านคน สำหรับการทุจริตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษารายละเอียดคดีที่มีคำตัดสินว่าผิดอย่างใกล้ชิด พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมุกใช้วิธีการทุจริตเป็นวิธีการเพิ่มรายได้
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพามาตรการลงโทษอย่างหนักของจีนมากกว่าการตรวจสอบอำนาจของสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดความสงสัยว่ามาตรการต่อต้านการทุจริตของจีนจะมีประสิทธิภาพในระยะยาวหรือไม่