"...ในการดำเนินการตรวจสอบได้มีการเสนอให้มีหนังสือถึงมารดาของ พล.อ. ประวิตร เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมอบแหวนให้ พล.อ. ประวิตร ใส่นั้น ยังไม่ได้รับการเห็นชอบ ทั้งนี้ คณะทำงานเห็นว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ดังนั้น ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องสอบถามไปยังมารดาของ พล.อ. ประวิตร จึงเห็นควรตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
ผลการสอบสวนคดีนาฬิกาหรูและแหวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
- โหมโรง! เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรู บิ๊กป้อม ยัน Blancpain/Limited edition คืนเพื่อนด้วยตัวเอง
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (1) ป.ป.ช.ล่าข้อมูล Richard Mille, Patek 4 ปท. 'เหลว'
- เปิดผลสอบคดีนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม (2) สรุป 22 เรือน 6 กลุ่ม ป.ป.ช.พบข้อสังเกตอะไรบ้าง?
เนื้อหาในตอนนี้ เข้าสู่ตอนที่ 3 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อมูลแหวนจำนวน 12 วง ของ พล.อ.ประวิตร ที่ปรากฎภาพข่าวใส่ต่อสาธารณะ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เสนอคำชี้แจงของพล.อ.ประวิตร เบื้องต้นไปแล้วว่า มารดานำมาให้ใส่ จำนวน 3 วง ส่วนวงอื่น ๆ นั้น บางวงเป็นแหวนที่มีราคาในห้วงเวลาที่ซื้อประมาณหมื่นกว่าบาท บางวงเป็นแหวนพระราชทาน แหวนวัตถุมงคล
นับจากบรรทัดนี้ เป็นต้นไป เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบข้อมูลแหวนจำนวน 12 วง ทั้งหมด
แหวน จำนวน 12 วง
ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ป.ป.ช.ระบุข้อมูลการตรวจสอบแหวน จำนวน 12 วง พร้อมคำชี้แจง พล.อ.ประวิตร ดังนี้
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 1 เป็นภาพถ่าย ในขณะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกันเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ณ ทำเนียบรัฐบาล ตัวเรือน น่าจะทำมาจากทองขาว หนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับเพชร น้ำหนัก ประมาณ 1 กะรัต ไม่ทราบราคา เดิมเป็นแหวนของบิดา
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 2 เป็นภาพที่ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายภาพที่ 3 ตัวเรือนจะทำมาจากทองขาว หนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยแร่ที่ใช้ทำวัตถุมงคล ล้อมด้วยเพชร น้ำหนักไม่ถึง 1 กะรัต มูลค่าในห้วงเวลาที่ซื้อ น่าจะราคาประมาณหมื่นกว่าบาท เป็นแหวนวัตถุมงคล
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 3 เป็นภาพถ่ายในขณะเตรียมการที่จะเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายที่ 2
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 4 น่าจะเป็นภาพถ่ายในวันทหารผ่านศึก วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายภาพที่ 9 ตัวเรือนทำจากทองคำผสมหนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยแร่ที่ใช้ทำวัตถุมงคล ล้อมด้วยเพซร น้ำหนัก ประมาณไม่ถึง 2 กะรัต มูลค่า ในห้วงเวลาที่ซื้อน่าจะราคาประมาณหมื่นกว่าบาท เป็นแหวนวัตถุมงคล
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 5 ไม่สามารถระบุวันเวลาได้ แต่ถ้าสังเกตจากสภาพแวดล้อมน่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ศาลาว่าการกลาโหม แหวนวงนี้เป็นแหวนสัญลักษณ์หน่วยทหาร ตัวเรือนทำด้วยทองคำ หนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยเพชร น้ำหนัก ประมาณไม่ถึง 1 กะรัต มูลค่า ขณะได้มาน่าจะราคาประมาณหมื่นกว่าบาท เป็นแหวนสัญลักษณ์หน่วยทหาร ที่ได้รับมาประมาณปี 2545
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 6 ไม่สามารถระบุวันเวลาได้ แต่ถ้าสังเกตจากสภาพแวดล้อมน่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ศาลาว่าการกลาโหม แหวนวงนี้ตัวเรือนทำจากทองคำ หนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยเพพร น้ำหนัก ประมาณ 1 กะรัต ไม่ทราบราคา เดิมเป็นแหวนของบิดา
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 7 ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ แหวนวงนี้ตัวเรือนทำจากทองคำผสม หนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยอัญมณีสีแดงล้อมเพชร น้ำหนักประมาณไม่ถึง 1 กะรัต ไม่ทราบราคา เดิมเป็นแหวนของบิดา
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 8 ไม่สามารถระบุวันและสถานที่ได้ และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายที่ 10 แหวนวงนี้ตัวเรือนทำจากทองคำ หนักประมาณ 2 บาท ตัวเรือนด้านมุมของแหวนประดับด้วยเพชร น้ำหนักประมาณไม่ถึง 1 กะรัต ไม่ทราบราคา เป็นแหวนพระราชทานฯ
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 9 ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายที่ 4
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 10 ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ และแหวนวงนี้ซ้ำกับแหวนในภาพถ่ายภาพที่ 8
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 11 ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ แต่ถ้าสังเกตจากสภาพแวดล้อมน่าจะเป็นการถ่ายภาพที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แหวนวงนี้ตัวเรือนทำจากโลหะผสมหนักไม่ถึง 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยเพชร น้ำหนักประมาณไม่ถึง 2 กะรัต มูลค่าในห้วงเวลาที่ซื้อราคาประมาณหมื่นกว่าบาท เป็นแหวนมงคลประจำปีเกิด (ปีระกา)
ภาพถ่ายแหวนวงที่ 12 ไม่สามารถระบุวันเวลาและสถานที่ได้ ตัวเรือนทำจากทองคำ หนักไม่ถึง 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยเพชร น้ำหนักประมาณไม่ถึง 1 กะรัด มูลค่าในห้วงเวลาที่ซื้อราคาประมาณหมื่นกว่าบาท
การตรวจสอบแหวน
ในสำนวนการสอบสวน ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีของแหวน คำชี้แจงของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ประกอบกับภาพถ่ายขณะสวมใส่แหวน
ฟังเป็นที่ยุติว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น เพียงแต่อ้างว่า ส่วนหนึ่งเป็นของตนอีกส่วนหนึ่งรับให้จากมารดา เท่ากับกล่าวอ้างว่ามิได้ยึดถือเพื่อตน
จึงมีประเด็นที่ต้องพิสูจน์ว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ครอบครองเพื่อผู้อื่นตามที่อ้างจริงหรือไม่
หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าแหวนเป็นของมารดา ต้องฟังว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ครอบครองเพื่อตน จึงมีเหตุให้เชื่อว่าแหวนเป็นของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ หากฟังว่าแหวนเป็นของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ จริง ยังคงต้องพิสูจน์ต่อไปว่าทรัพย์สินอื่นของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ มีมูลค่ารวมกันถึงสองแสนบาท หรือไม่
จากภาพข่าวปรากฎว่า พล.อ. ประวิตร สวมใส่แหวนจำนวน 12 วง พล.อ. ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหวนว่ามีภาพถ่ายแหวนซ้ำจากวงเดียวกัน 2 คู่ รวม 4 ภาพ
จึงมีแหวนที่ปรากฏเป็นข่าว จำนวน 10 วง แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. แหวนพระราชทาน จำนวน 1 วง
รับฟังคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร แล้วเห็นว่ามีที่มาชัดเจน อีกทั้งมิบังควรคิดคำนวณให้เป็นมูลค่า จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบ
2. แหวนที่มารดามอบให้ จำนวน 3 วง
พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่าเดิมเป็นของบิดาคือ ต่อมาภายหลังจากที่บิดาถึงแก่กรรมแล้ว เพิ่งนำแหวนดังกล่าวมาให้ พล.อ. ประวิตร ใส่เมื่อปลายปี 2557 หลังเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในการดำเนินการตรวจสอบได้มีการเสนอให้มีหนังสือถึงมารดาของ พล.อ. ประวิตร เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมอบแหวนให้ พล.อ. ประวิตร ใส่นั้น ยังไม่ได้รับการเห็นชอบ ทั้งนี้ คณะทำงานเห็นว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ดังนั้น ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องสอบถามไปยังมารดาของ พล.อ. ประวิตร จึงเห็นควรตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป
3. แหวนวงอื่น ๆ นอกจากแหวนตามข้อ 1. และข้อ 2.
ตามคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร แหวนบางวงเป็นแหวนวัตถุมงคล บางวงเป็นแหวนสัญลักษณ์หน่วยทหาร และมีการประดับด้วยเพชร อัญมณี และแร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า
โดยพล.อ.ประวิตร รับแล้วว่าแหวนเหล่านี้เป็นแหวนของตน แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลค่าและวันเวลาที่สวมใส่ ยังไม่ปรากฎแน่ชัด จึงเห็นควรตรวจสอบมูลค่าของแหวนดังกล่าวโดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและวิเคราะห์เพื่อประเมินมูลค่า รวมถึงมอบหมายสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ตรวจสอบว่า พล.อ. ประวิตร ได้สวมใส่แหวนเหล่านี้ก่อนหรือหลังเข้ารับตำแหน่งบ้างหรือไม่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่า พล.อ. ประวิตรมีหน้าที่ต้องแสดงแหวนเหล่านี้ในบัญชีหรือไม่
ขณะที่ความเห็นของรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง ก็เห็นควรดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อไปทั้งในส่วนของแหวน และนาฬิกาบางส่วน เนื่องจากพยานหลักฐานในขณะนั้นยังรับฟังไม่ได้ว่า พล.อ. ประวิตร เป็นเจ้าของตามที่มีการกล่าวหาร้องเรียนหรือไม่
อย่างไรก็ดี ในการสรุปสำนวนการไต่สวนคดีนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีการสรุปความเห็นในส่วนผลการตรวจสอบแหวนที่ปรากฏตามภาพข่าวที่พล.อ. ประวิตร สวมใส่จำนวน 12 วง เห็นว่า พล.อ. ประวิตร ได้ยืนยันว่าเป็นแหวนของพล.อ. ประวิตร แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 แหวนพระราชทานจำนวน 1 วงเป็นแหวนทองคำหนักประมาณ 1 บาท ตัวเรือนประดับด้วยเพชรน้ำหนักไม่ถึง 1 กระรัต ไม่ทราบราคา พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของเจ้าของเรื่องว่าเป็นแหวนที่มีที่มาชัดเจน มิบังควรคำนวณให้เป็นมูลค่า
กลุ่มที่ 2 แหวนที่มารดามอบให้จำนวน 3 วง เห็นว่าเป็นทรัพย์มรดกของบิดาของพล.อ. ประวิตร จำนวน 3 วง ที่พล.อ. ประวิตร ได้รับมาจากมารดาในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงแหวนดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว
กลุ่มที่ 3 แหวนวงอื่นๆ อีก 8 วง เป็นแหวนที่เป็นสัญลักษณ์หน่วยทหาร หรือแหวนวัตถุมงคล ซึ่งพล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่าเป็นแหวนที่มีราคาไม่มาก ราคาเป็นหลักหมื่นบาท นำมาใส่เพื่อเป็นศิริมงคล หรือใส่เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของสังกัด
พิจารณาแล้วเห็นว่าคำชี้แจงรับฟังได้
(สำหรับการนำเสนอความเห็นของคณะทำงานตรวจสอบ และการสรุปความเห็นเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคดีนี้ มีรายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในตอนต่อไป)