"...การแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น วาระที่ 5.1 การเพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ 1 ราย และต่อมาได้มีการประชุมครั้งที่ กทภ.5/2548 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 เพื่อพิจารณารับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ดังกล่าวนั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) แต่อย่างใด..."
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหาหรือยุติการสอบสวน กรณีทุจริตนักการเมืองระดับชาติ มาเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการนั้น
- ป.ป.ช.เปิดกรุตีตกคดีนักการเมืองดัง 'ยิ่งลักษณ์' รอด 5 ข้อกล่าวหารวด
- เปิดสำนวน ป.ป.ช.เอกฉันท์ 8 เสียง 'อภิสิทธิ์' รอดคดีออกมติ ครม.พัฒนานิคมมาบตาพุด
ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กรณีแก้ไขรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น วาระที่ 5.1: การเพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ 1 ราย ให้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในการประชุมและที่ประชุมได้มีมติไปแล้ว และต่อมาคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 5/2548 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 ได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมที่คลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมอยู่ด้วย
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่การลงมติไม่เอกฉันท์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแยกเป็นสองฝ่าย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายชื่อผู้ถูกกล่าวหา
คดีนี้ รายชื่อผู้ถูกกล่าวหา ประกอบไปด้วย 1. นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 3. นายวราเทพ รัตนากร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 4. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 5. พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 6. พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
7. นายธีระศักดิ์ มงคลโภชน์ ผู้อำนวยการสำนักเงินกู้โครงการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 8. นายวันชัย ศารทูลทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม 9. นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 10. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
11. นายเฉลิมศักดิ์ ระบิลวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 12. นายพชร ยุติธรรมดำรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด 13. พลตำรวจโท วุฒิ พัวเวส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 14. นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 15. นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ
16. นายสุรสิทธิ์ อินทรประชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งวิศวกรวิชาชีพ 9 วช. กรมชลประทาน 17. นายพิชัย หาญตะล่อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศุลกากร 18. นายศรีสุข จันทรางศุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ) 19. นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
20. พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษ (ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561) 21. นายอำพน กิตติอำพน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 22. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 23. นายสมชัย สวัสดีผล เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 24. นายรัชทิน ศยามานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 25. นายไมตรี ศรีนราวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
26. พลตำรวจตรี พจนารถ หวลมานพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 27. นายเพิ่มศักดิ์ คิดหมาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง 9 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน 28. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร 29. นายณรงค์ แก้วเศวตพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนเงินกู้โครงการรัฐบาล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเงินกู้โครงการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
ทักษิณ ชินวัตร
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ในการประชุมครั้งที่ กทภ.4/2548 คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.)ประกอบด้วย นาย ทักษิณ ชินวัตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายวราเทพ รัตนากร นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ นายธีระศักดิ์ มงคลโภชน์ นายวันชัย ศารทูลทัต นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ นายเฉลิมศักดิ์ ระบิลวงศ์ นายพชร ยุติธรรมดำรง พลตำรวจโท วุฒิ พัวเวส นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ นายสุรสิทธิ์ อินทรประชา นายพิชัย หาญตะล่อม นายศรีสุข จันทรางศุ นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ นายอำพน กิตติอำพน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นายสมชัย สวัสดีผล ได้ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายการบริการจัดการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลายวาระ
โดยระเบียบวาระที่ 5.1 เรื่องอื่น ๆ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับโครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
มีรายละเอียดว่า ระเบียบวาระที่ 5.1: การเพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ 1 ราย กรรมการและเลขานุการได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการ กทภ. แจ้งที่ประชุมสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 กระทรวงคมนาคมโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเรื่องการขออนุมัติในหลักการให้มีผู้ประกอบการบริการคลังน้ำมันอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มอีก 1 ราย จากเดิมที่บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว โดยคลังน้ำมันของผู้ประกอบการรายใหม่จะอยู่ภายนอกเขตท่าอากาศยาน คณะกรรมการ กทภ. ให้ความเห็นชอบในหลักการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและลดความเสี่ยงกรณีมีคลังน้ำมันเพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้ หากที่ประชุมคณะกรรมการ กทภ. ให้ความเห็นชอบในหลักการดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องจัดทำรายละเอียดของโครงการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กทภ. พิจารณาต่อไป
ประธานกรรมการ กทภ. ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการคลังน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันการให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ น่าจะเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ
มติที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้เพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 ราย เป็นรายที่สองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำรายละเอียดโครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) เสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) พิจารณาต่อไป
ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการ กทภ. เพื่อพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งที่ กทภ.4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ส่งโทรสาร ด่วนที่สุด ถึงนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ กทภ.4/2548 วันที่ 25 ตุลาคม 2548 พร้อมกับแนบระเบียบวาระที่ 5.1 ที่ขอแก้ไขเป็น โครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรรมการและเลขานุการได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการ กทภ. แจ้งที่ประชุมสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 กระทรวงคมนาคมโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเรื่องขออนุมัติในหลักการให้มีผู้ประกอบการเอกชนรายอื่น ๆ ที่สร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำการเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณเชื่อมต่อที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานทั้งด้านราคา และคุณภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นคง และลดความเสี่ยงกรณีที่มีแหล่งน้ำมันจากภายนอกที่เชื่อมต่อเพียงแห่งเดียว
มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการ ให้ผู้ประกอบคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่น ๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การแก้ไขรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น วาระที่ 5.1 การเพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ 1 ราย
จากเห็นชอบในหลักการให้เพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 ราย เป็นรายที่สองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำรายละเอียดโครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) เสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพิจารณาต่อไป
เป็น เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่ บริษัทไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ กทภ. 5/2548 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 เพื่อพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ดังกล่าวนั้น
เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว
เนื่องจากการแก้ไขรายงานการประชุมเป็นสิทธิและความรับผิดชอบของกรรมการ และเมื่อที่ประชุมได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมที่ได้มีการแก้ไขโดยไม่มีการทักท้วงว่ามีการแก้ไขรายงานการประชุมที่คลาดเคลื่อนไปจากที่ได้มีการประชุมอีกทั้งการแก้ไขรายงานการประชุมดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการเชื่อมต่อท่อน้ำมันเข้ากับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) โดยได้กำหนดให้เอกชนที่จะเป็นผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ทำการเชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมก่อนที่จะมีการแก้ไข
จึงถือว่ารายงานการประชุมที่ได้มีการรับรองนั้นเป็นรายงานการประชุมที่สมบูรณ์ อีกทั้งรายงานการประชุมและมติที่ประชุมที่มีการแก้ไขดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่อย่างใด แต่ยังคงหลักการเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขโดยให้มีคลังน้ำมันเพิ่มขึ้นใหม่อีกหนึ่งราย และให้คลังน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นใหม่นั้นตั้งอยู่ภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยไม่มีข้อความที่แก้ไขใหม่ส่วนใดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอเอสไอจี (ไทยแลนด์) จำกัด (ASIG) ได้เป็นผู้มีสิทธิสร้างคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่อย่างใด
ดังนั้น การแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น วาระที่ 5.1 การเพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายใหม่ 1 ราย และต่อมาได้มีการประชุมครั้งที่ กทภ.5/2548 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 เพื่อพิจารณารับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ดังกล่าวนั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่าเรื่องกล่าวหานี้เป็นกรณีข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่เห็นชอบให้มีการก่อสร้างคลังน้ำมันให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว โดยมีที่ตั้งคลังน้ำมันอยู่ภายนอกเขตสนามบินตามข้อเสนอของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 เห็นชอบให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่น ๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป นั้น เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ามติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าวมีความขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างใด
จึงเห็นควรเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักมาตรการเชิงรุก และนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทำการศึกษามติคณะรัฐมนตรีทั้งสองดังกล่าวแล้วนำผลการศึกษาเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับกรณีบริษัท เอเอสไอจี (ไทยแลนด์) จำกัด อ้างรายงาน Jet Fuel Report ฉบับเดือนกันยายน 2549 หัวข้อ New Bangkok Airport set To Fully Open, But Fuel Contracts Hit Roadblocks ซึ่งกล่าวถึงการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยขอให้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว
จึงเห็นควรนำเรื่องดังกล่าวเสนอสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. ทำการศึกษาในคราวเดียวกัน
ฝ่ายเสียง ข้างน้อย จำนวน 2 เสียง เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 แต่เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 คดีขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
ประเด็นที่ 2 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่เป็นความผิดทางอาญาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 3 และมาตรา 12
ประเด็นที่ 3 เห็นควรมีมติเสนอแนะคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 26 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 27 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 28 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 29 จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประธานจึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่ามีมูลเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ประการใด นี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 7 เสียง ซึ่งเป็นความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนฝ่ายเสียงข้างมาก ที่เห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประการต่อไป ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 26 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 27 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 28 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 29 ว่ามีมูลเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ประการใด นี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมากและฝ่ายเสียงข้างน้อย ที่เป็นเอกฉันท์ประกอบกัน จำนวน 9 เสียง ว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ประการสุดท้าย ผลการลงคะแนนเสียง เพื่อมีมติของที่ประชุมในประเด็นที่ว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้ง 4/2548 ขัดและแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว ควรเสนอแนะคณะรัฐมนตรีดำเนินการอย่างไร นั้น ต้องถือความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 7 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ที่ให้ส่งข้อเท็จจริงให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับกรณีบริษัท เอเอสไอจี (ไทยแลนด์) จำกัด อ้างรายงาน Jet Fuel Report ฉบับเดือนกันยายน 2549 หัวข้อ New Bangkok Airport set To Fully Open, But Fuel Contracts Hit Roadblocks ซึ่งกล่าวถึงการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยขอให้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว จึงเห็นควรนำเรื่องดังกล่าวเสนอสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. ทำการศึกษาในคราวเดียวกัน
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ถึงแก่ความตาม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน ให้ดำเนินการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 ที่ประชุมจึงมีมติให้เพิกถอนมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1017-88/2561 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่มีมติให้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 20 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 วิธีนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญา หรือดำเนินการทางวินัยต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57
จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีความเกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร ในส่วนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ เหลือจำคุกต่อไป อีก 1 ปี จากโทษรวมจำคุก 8 ปี ซึ่งมาจาก 3 คดี คือ
1. คดีที่ 1. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี (คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท )
2. คดีที่ 2. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี (คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน) ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
และคดีที่ 3. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี (คดีให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ปฯ’-เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม )
ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทย
จากการสืบค้นข้อมูลคดีค้าง ของนายทักษิณ พบว่า ยังมีคดีกล่าวหาที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.อีก 2 คดี ได้แก่
1. คดี นายทักษิณ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รอง ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
2. คดีกล่าวหา นายทักษิณ กับพวก อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งกลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 51% เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และมีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณี ซึ่งในบอร์ด ทอท.ขณะนั้นมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นบอร์ดรวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ผลคดีค้างทั้ง 2 เรื่องนี้ เป็นอย่างไร ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการจาก ป.ป.ช.
คงต้องรอติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- กราบพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10! 'ทักษิณ' กลับถึงไทยแล้ว เครื่องบินลงจอด 09.08 น.
- หลังส่งตัว'ทักษิณ'! ศาลฎีกาฯ ยืนยันตัวจำเลย บังคับโทษ 3 คดี รวมติดคุก 8 ปี (3+5)
- ส่งตัว 'ทักษิณ' เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แยกขังเดี่ยวแดน 7 จัดจนท.เฝ้าระวัง 24 ชม.
- ไม่ได้อยู่ห้อง VIP-แอร์เสีย! อาการล่าสุด 'ทักษิณ' ดีขึ้นเล็กน้อย - งดเยี่ยมทุกกรณี
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาอภัย ลดโทษให้ 'ทักษิณ' เหลือจำคุกต่อไปอีก 1ปี