"...คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป..."
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นหนึ่งในรายชื่อนักการเมือง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำข้อมูลมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่ตีตกคดีกล่าวหาหรือยุติการสอบสวนมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการ ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
ข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เห็นชอบให้ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 เห็นชอบให้ข้อกล่าวหาตกไป หรือยุติการสอบสวน
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทำความผิด และ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกคดีนี้ ที่ถูกเผยแพร่เป็นทางการต่อสาธารณะ
พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิด (โดยสรุป) :
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนของรัฐบาลชุดนี้ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (กรณีให้ออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง) ทั้งทางด้านสภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง รวมถึงทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง โดยไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงพฤติกรรมแห่งการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ยึดถือตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 ทั้งที่ได้มีหลายหน่วยงานรวมถึงองค์กรอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญได้มีข้อแนะนำไปยังรัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมิได้ฟังคำแนะนำจากองค์กรอิสระนั้น ๆ แต่อย่างใด
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. :
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับใช้ มาตรา 67 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 แต่ ณ วันที่มีคําวินิจฉัยยังไม่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ระหว่างนั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการประชุมข้อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีการประชุมครั้งแรก วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 และประชุมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552
จากนั้นคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ถึงเพิ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ฉะนั้น ในการประชุมของคณะกรรมการ กฤษฎีกาจึงไม่อาจทราบถึงการมีอยู่ของคําวินิจฉัยดังกล่าวได้
สอดคล้องกับปากคําของนางสาวธํารงลักษณ์ ลาพินี ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้การว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจทราบได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีคําวินิจฉัย เพราะคําวินิจฉัยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาประชุมเพื่อพิจารณา ข้อหารือเสร็จ จึงไม่ได้นําคําวินิจฉัยมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็น
แม้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่ได้นําคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นก็ตาม
แต่คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็หาได้ขัดหรือแย้งกันแต่กลับสอดคล้องต้องกันในทิศทางเดียวกัน
กล่าวคือ หน่วยงานสามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนได้ หากได้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สามประการที่กําหนดไว้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 67
ฉะนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ร่วมกับรัฐมนตรีรายอื่น มีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เห็นชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาออกใบอนุญาตดําเนินการตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และให้กระทรวงอุตสาหกรรมดําเนินการจัดทําบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง จึงเป็นการดําเนินการที่สอดคล้องกับคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552
จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 แล้ว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
โดยในการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 1 ราย ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อ
ข้อมูลเหล่านี้ คือ คำเฉลยทั้งหมดว่าทำไม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงรอดพ้นจากข้อกล่าวหาในคดีนี้
กล่าวสำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อเล่น มาร์ค เป็นนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 27 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 9 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 7