"...ก่อนหน้านี้ เคยมี ตัวอย่างที่ กคช.ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกจากราชการมาแล้ว จากกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้ มูลมาว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรงคือ คดีบ้านเอื้ออาทร จ.สระแก้ว แต่กรณีนี้ แทนที่ กคช.จะมีการตั้งเรื่องลงโทษทางวินัยร้ายแรง กับบุคคลที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาแล้ว แต่กลับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการอันดับหนึ่ง จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก..."
"ขอเรียนว่าเรื่องนี้เราได้ทำตามขั้นตอนมีประเด็นชี้แจงกลับไปที่ทาง ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก็ถือว่านายวิญญาก็ยังไม่ต้องออกจากตำแหน่งตามการพิจารณาของ ป.ป.ช."
คือ คำชี้แจงจาก นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ต่อกรณีเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯ กคช. ได้ลงนามคำสั่งให้รองผู้ว่าฯ กคช.ทำหน้าที่เป็นรักษาการผู้ว่าฯ กคช.ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กคช. มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ ทุกประการ
โดยรองผู้ว่าฯ กคช.ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่เป็นรักษาการผู้ว่าการฯ กคช.อันดับหนึ่งได้แก่ นายวิญญา สิงห์อินทร์ ซึ่งปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหานายกฤษดา รักษากุล อดีตผู้ว่าการฯ กคช. กับพวก รวมถึงนายวิญญา ทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติไปก่อนหน้านี้
ป.ป.ช.ระบุว่าการกระทำของนายวิญญา สิงห์อินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์(ตำแหน่งในขณะนั้น) มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัดหรือลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 พ.ย.2566 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯ กคช. ยังได้ลงนามในคำสั่งอีก 1 ฉบับ เป็นเรื่องการมอบหมายอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบแทนผู้ว่าการ ในส่วน รองผู้ว่าฯ กคช. และ ผู้ช่วยผู้ว่าฯ
โดย นายวิญญา สิงห์อินทร์ ได้รับมอบอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนบนฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนล่าง ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคเหนือ ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคใต้ ด้วย
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
คําสั่งการเคหะแห่งชาติที่ ง. 225 /2566 เรื่องมอบหมายอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบแทนผู้ว่าการ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 และความในข้อ 3 แห่งข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 29 ว่าด้วย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังนี้
1.ให้ยกเลิกคําสั่งการเคหะแห่งชาติ ที่ ง. 185/2566 เรื่อง มอบหมายอํานาจหน้าที่ และความรับผิดชอบแทนผู้ว่าการ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566
2. มอบหมายอํานาจหน้าที่ให้รองผู้ว่าการ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้
2.1 นายวิญญา สิงห์อินทร์ รองผู้ว่าการประจําสํานักผู้ว่าการ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนบนฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนล่าง ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคเหนือ ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคใต้
2.3 นายสัญญา หวะสุวรรณ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายพัสดุและบริการโครงการก่อสร้าง ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริหารงานขาย ฝ่ายจัดประโยชน์ทรัพย์สิน ฝ่ายทรัพย์สินและ อาคารเช่า และฝ่ายที่ดิน
2.4 นายธนัญชัย โชติศรีลือชา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารสินเชื่อและหนี้ และฝ่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคม
2.5 เรืออากาศโทชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายวิชาการและพัฒนานวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัย และฝ่ายบริหารความเสี่ยงองค์กร
2.6 นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง และสํานักงานกํากับติดตามบริษัทในเครือ
2.7 นายปรีดา สุขสุมิตร รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับ บัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายพัฒนาโครงการ 1 ฝ่ายพัฒนาโครงการ 2 ฝ่ายพัฒนาโครงการ 3 ฝ่ายสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสํารวจ และทดสอบวัสดุ และฝ่ายปรับปรุงและบํารุงรักษาชุมชน
2.4 นางฐิตาภรณ์ ลาภเกียรติเสรี รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับ บัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายการบัญชี ฝ่ายบริหารการเงินและงบประมาณ ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาโครงการ ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาโครงการ 2 ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาโครงการ 3 และฝ่ายนโยบายและแผน
3.มอบหมายอํานาจหน้าที่ให้ผู้ช่วยผู้ว่าการ มีอํานาจสั่งการและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการ
ในงานที่เป็นปกติธุระและมิใช่งานนโยบายโดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ว่าการและรองผู้ว่าการที่รับผิดชอบหน่วยงาน ดังนี้
3.1 นายระวิน สุพพัตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารความเสี่ยงองค์กร โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชา ของเรืออากาศโทชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.2 นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้
3.2.1 งานของฝ่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ขึ้นตรง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายธนัญชัย โชติศรีลือชา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.2.2 งานของสํานักงานกํากับติดตามบริษัทในเครือ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.3 นางสุขุมาภรณ์ จงภักดี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารสินเชื่อและหนี้ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของ นายธนัญชัย โชติศรีลือชา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.4 นายคําแหง ทองอินทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายพัฒนาโครงการ 3 และฝ่ายสิ่งแวดล้อมวิศวกรรมสํารวจ และทดสอบวัสดุ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายปรีดา สุขสุมิตร รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.5 นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้
3.5.1 งานของฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ฝ่ายบริหารงาน ชุมชนภาคเหนือ และฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคใต้ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายวิญญา สิงห์อินทร์ รองผู้ว่าการประจําสํานักผู้ว่าการ
3.5.2 งานของฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของ นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.6 นายมงคล จันทนี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริหารงานขาย ฝ่ายจัดประโยชน์ทรัพย์สิน ฝ่ายทรัพย์สินและ อาคารเช่า และฝ่ายที่ดิน โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายสัญญา หวะสุวรรณ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.7 นายเอกพล เทพมณี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้ คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.7.1 งานของฝ่ายสื่อสารองค์กร ฝ่ายอํานวยการกลาง และสํานักงานเลขานุการ
3.7.2 งานของฝ่ายวิชาการและพัฒนานวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ ในบังคับบัญชาของเรืออากาศโทชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.4 นางสาววนิดา สุทธิช่วย ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนบนและฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนล่าง โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชา ของนายวิญญา สิงห์อินทร์ รองผู้ว่าการประจําสํานักผู้ว่าการ
3.9 นางวราพร จันทร์บํารุง ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายสัญญา หวะสุวรรณ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.10 นางพรจิตต์ รังสาคร ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติด้านการเงิน มีอํานาจหน้าที่ ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายการบัญชี ฝ่ายบริหารการเงินและงบประมาณ โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนางฐิตาภรณ์ ลาภเกียรติเสรี รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.11 นายต่อพงศ์ จําจด ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับ บัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาโครงการ 1 ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาโครงการ 2 และฝ่ายกลยุทธ์ พัฒนา 3 โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนางฐิตาภรณ์ ลาภเกียรติเสรี รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.12 นางสิริกร พัชรกุลวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายพัสดุและบริการโครงการก่อสร้าง โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของ นายสัญญา หวะสุวรรณ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
3.13 นายคมสัน พิลาสมบัติ ผู้ช่วยผู้ว่าการประจําสํานักผู้ว่าการ มีอํานาจหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายพัฒนาโครงการ 1 ฝ่ายพัฒนาโครงการ 2 และฝ่ายปรับปรุงและบํารุงรักษา ชุมชน โดยให้ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับบัญชาของนายปรีดา สุขสุมิตร รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
4. ให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน คณะผู้ตรวจการ และฝ่ายอํานวยการกลาง ขึ้นตรงและอยู่ในบังคับ บัญชาของผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (ดูคำสั่งประกอบ)
จากข้อมูลในคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ทั้งการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้ว่าการฯ กคช.อันดับหนึ่ง และ อํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานของฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนบนฝ่ายบริหารงานชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตอนล่าง ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคเหนือ ฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และฝ่ายบริหารงานชุมชนภาคใต้
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน นายวิญญา สิงห์อินทร์ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร กคช. เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงไปแล้ว
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงใน กคช. ให้ความเห็นสำนักข่าวอิศราว่า ตามหลักปฏิบัติของ กคช.ที่ผ่านมา หากมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และส่งเรื่องมา ผู้บริหาร กคช. จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในการออกคำสั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้อง เพราะถือว่า ป.ป.ช.ได้ไต่สวนสอบสวน พร้อมให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้แก้ต่าง ชี้แจง โต้แย้งด้านเอกสารหรืออื่น ๆ จนเพียงพอที่ ป.ป.ช.จะใช้ดุลยพินิจ ตัดสินชี้ขาดได้แล้ว
"ก่อนหน้านี้ เคยมี ตัวอย่างที่ กคช.ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกจากราชการมาแล้ว จากกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้ มูลมาว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรงคือ คดีบ้านเอื้ออาทร จ.สระแก้ว แต่กรณีนี้ แทนที่ กคช.จะมีการตั้งเรื่องลงโทษทางวินัยร้ายแรง กับบุคคลที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาแล้ว แต่กลับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการอันดับหนึ่ง จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ
สำหรับการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 98 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณีด้วย
แต่ที่ผ่านมามีหลายกรณี ที่ผู้ถูกกล่าวหา ได้ทำเรื่องขออุทธรณ์ผลการชี้มูล ป.ป.ช. ผ่านผู้บังคับบัญชา ในกรณีที่มีข้อมูลเอกสารหลักฐานใหม่ เพื่อให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนมติอีกครั้ง ซึ่งในกรณีนี้ นายทวีพงษ์ ผู้ว่าฯ กคช.ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราไปแล้วว่า ได้ประสานไปทาง ป.ป.ช.ด้วยว่าไม่มีเจตนาจะยื้อแต่อย่างใด แต่ดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ซึ่งได้ข้อมูลและหลักฐาน โดยถ้าหากนำเอาหลักฐานเหล่านี้มาพิจารณาเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นเหตุบรรเทาโทษจากวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรงได้
“สรุปก็คืออยู่ในขั้นตอนการชี้แจงเพิ่มเติม ตามที่กฎหมายบัญญัติว่าให้ดำเนินการได้ เพื่อที่จะลดโทษเขาจากวินัยร้ายแรงเป็นโทษวินัย คือ เจ้าตัวก็ยอมรับว่าอาจจะบกพร่องที่ไม่ได้รัดกุม แต่ถือว่าไม่ถึงกับเป็นความผิดร้ายแรง”
"เรื่องนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการชี้แจงแต่ถ้าหาก ป.ป.ช.เขายืนยันว่าต้องดำเนินการตามเดิม ก็ต้องทำตามขั้นตอนต่อไป" ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวทิ้งท้าย
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯ กคช.
ท่าทีของ ป.ป.ช.ต่อเรื่องนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณะอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีกล่าวหา นายกฤษดา รักษากุล อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก ทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว
ปัจจุบันศาลยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิด
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่