วิจารณ์ขรม! ผู้ว่าฯ กคช.ตั้งรองฯ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริตขายที่เป็นรักษาการอันดับหนึ่ง เจ้าตัวแจงเหตุยังไม่ได้ตัดสินลงโทษ อยู่ระหว่างขั้นตอนส่งเรื่องขอความเป็นธรรมเพิ่ม อาจบรรเทาโทษเป็นผิดวินัยไม่ร้ายแรงได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า ได้กำลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จากกรณีเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯ กคช. ได้ลงนามคำสั่งให้รองผู้ว่าฯ กคช.ทำหน้าที่เป็นรักษาการผู้ว่าฯ กคช.ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กคช. มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ ทุกประการ
โดยรองผู้ว่าฯ กคช.ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่เป็นรักษาการผู้ว่าการฯ กคช.อันดับหนึ่งได้แก่ นายวิญญา สิงห์อินทร์ (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ดี นายวิญญา สิงห์อินทร์ ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหานายกฤษดา รักษากุล อดีตผู้ว่าการฯ กคช. กับพวก รวมถึงนายวิญญา ทุจริตในการขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติ
โดย ป.ป.ช.ระบุว่าการกระทำของนายวิญญา สิงห์อินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานสินทรัพย์(ตำแหน่งในขณะนั้น) มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะ ฉบับที่ 66 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การตัดหรือลดขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงาน ข้อ 38
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังนายทวีพงษ์ ผู้ว่าฯ กคช. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายทวีพงษ์ ชี้แจงว่าการดำเนินการเกี่ยวกับนายวิญญานั้นเป็นการดำเนินการตามมาตรา 99 ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งระบุว่าสามารถทำเรื่องชี้แจงให้ข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมได้ เพื่อให้ทางอนุกรรมการไต่สวนได้วินิจฉัย หลังจากที่ได้มีการทำเอกสารมาเป็นจำนวนสามพันกว่าแผ่น
นายทวีพงษ์ กล่าวต่อไปว่า "ขอเรียนว่าเรื่องนี้เราได้ทำตามขั้นตอน มีประเด็นชี้แจงกลับไปที่ทาง ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก็ถือนายวิญญาก็ยังไม่ต้องออกจากตำแหน่งตามการพิจารณาของ ป.ป.ช."
“ก็คือ ป.ป.ช.ตัดสินแล้ว แต่ว่าพอเรื่องมาถึงการเคหะแห่งชาติ เราก็มองว่าประเด็นที่ทาง ป.ป.ช.เขาพิจารณามันอาจจะยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยังไม่ได้เชิญพยานอีกหลายปาก ผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งตอนที่นายวิญญามาตอนนั้นมันก็เป็นปลายทางแล้ว เราก็มีข้อมูลและเอกสาร ซึ่งก็ส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามที่บทบัญญัติกฎหมายกำหนดไว้แล้ว"
นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่าการทำหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยนั้น ต้องมีการพิจารณาข้อมูล ซึ่งทางบุคคลที่โดนชี้มูลนั้นไม่ได้มีแค่นายวิญญาคนเดียว แต่มีอีกห้าคน
“คือแต่ละท่านเขาก็ร้องขอความเป็นธรรมมาที่ผม เรื่องนี้ผมก็ไม่ได้ไปอยู่ในขั้นตอนอะไร ผมมาทีหลัง เรื่องนี้มันตั้งแต่ปี 57 , 58 , 59 แต่พอมันมาที่ผม ผมในฐานะผู้ว่าฯ ก็ต้องมีการสั่งการ ก็มีเวลา 30 วันในการดำเนินการ เขาก็ต้องไปสรุปเรื่องราวมาให้ผม พอดำเนินการเสร็จ ผมก็ไม่ได้ทำคนเดียว ก็มีการเชิญฝ่ายกฎหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เชิญฝ่ายกฎหมายของ กคช. เชิญรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นองค์คณะมาพิจารณาว่าประเด็นนี้มันครบถ้วนหรือไม่ สามารถเป็นเหตุจะส่งไปยัง ป.ป.ช.ได้หรือไม่” นายทวีพงษ์ระบุ
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯ กคช.
นายทวีพงษ์ ยังย้ำว่า ได้ประสานไปทาง ป.ป.ช.ด้วยว่าไม่มีเจตนาจะยื้อแต่อย่างใด แต่ดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ซึ่งได้ข้อมูลและหลักฐาน โดยถ้าหากนำเอาหลักฐานเหล่านี้มาพิจารณาเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นเหตุบรรเทาโทษจากวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรงได้
ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการชี้แจงแต่ถ้าหาก ป.ป.ช.เขายืนยันว่าต้องดำเนินการตามเดิม ก็ต้องทำตามขั้นตอนต่อไป
“สรุปก็คืออยู่ในขั้นตอนการชี้แจงเพิ่มเติม ตามที่กฎหมายบัญญัติว่าให้ดำเนินการได้ เพื่อที่จะลดโทษเขาจากวินัยร้ายแรงเป็นโทษวินัย คือ เจ้าตัวก็ยอมรับว่าอาจจะบกพร่องที่ไม่ได้รัดกุม แต่ถือว่าไม่ถึงกับเป็นความผิดร้ายแรง” ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวทิ้งท้าย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรา 99 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระบุว่าในการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทําความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทําความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา
ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในการพิจารณาทบทวนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นประการใดให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนทราบเพื่อดําเนินการต่อไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.