"...ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ที่ตัดสินลงโทษจำคุก นายสามารถ เป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา แม้ว่าจําเลยรับราชการมาโดยตลอด ปัจจุบันอายุ 70 ปี มีอาการเจ็บป่วย แต่เนื่องจากเรียกรับเงินจํานวนมากอันอาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน ..."
กรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา นายสามารถ ใจสมุทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ในคดีเรียกรับเงินจากผู้ประสงค์จะรับงานตามโครงการของสำนกังานทรัพยากรน้ำภาค 8 จำนวน 4 โครงการ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา 149 และ 157
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดฉบับเต็มเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิด นายสามารถ ใจสมุทร ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ข้างต้น มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว ซึ่งมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการที่นายสามารถ อาศัยอำนาจหน้าที่ในเรียกรับเงินจากเอกชน เพื่อแลกงานโครงการ โดยอ้างการต่อรองจากข้างบนต้องจ่าย 32% วันลงนามสัญญาต้องจ่าย 30% ส่วนที่เหลืออีก 2% ให้จ่ายภายหลัง และมีการให้นาย พ. (ตัวย่อ) อ้างว่าเป็นผู้แทนฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหารือด้วย เพื่อให้เกิดความสมจริงและน่าเชื่อถือ
- ไม่รอลงอาญา! คุก 4 ปี อดีตผอ.ทรัพยากรน้ำภาค 8 เรียกรับเงินเอกชน 4 โครงการ
- คลิปเสียงมัด! ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตผอ.ทรัพยากรน้ำภาค8 ปิดห้องทำงานเรียกเงิน-รวยผิดปกติร้อยล.
- ขอ32%-อุปโลกน์ฝ่ายการเมืองเจรจา (1) พฤติการณ์อดีตผอ.ทรัพยากรน้ำภาค 8 เรียกเงินแลกโครงการ
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ที่ตัดสินลงโทษจำคุก นายสามารถ เป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา แม้ว่าจําเลยรับราชการมาโดยตลอด ปัจจุบันอายุ 70 ปี มีอาการเจ็บป่วย แต่เนื่องจากเรียกรับเงินจํานวนมากอันอาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน
********
การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเป็นอํานาจของจําเลย
ศาลฯ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจําเลยดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยหัวหน้าส่วนราชการมีอํานาจหน้าที่ในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง และหากเป็นการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งหนึ่งภายในวงเงินไม่เกิน 25,000,000 บาท การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างดังกล่าวเป็นอํานาจของจําเลย
ทั้งนี้ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและคําสั่งของทางราชการ ในปีงบประมาณ 2554 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำจัดทําโครงการเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบวงเงิน งบประมาณ 702,000,000 บาทเศษ
โดยแบ่งเป็นเขตพื้นที่เฉพาะกิจ คือ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อําเภอในจังหวัดสงขลา (เทพา สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ) วงเงินงบประมาณ 630,000,000 บาทเศษ และในเขตพื้นที่รับผิดชอบอีก 5 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล และสงขลา วงเงิน 74,000,000 บาทเศษ
สําหรับโครงการในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ได้แก่ (1) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ (ป้องกันการกัดเซาะ) ตําบลอาซ่อง อําเภอรามัน จังหวัดยะลา (2) โครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำตําบลช้างเผือก อําเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส (3) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำกะลุวอเหนือ อําเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส และ (4) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำบ้านเทพา อําเภอเทพา จังหวัดสงขลา
โครงการทั้ง 4 โครงการ เป็นโครงการจัดจ้างของสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ซึ่งดําเนินการจัดจ้างในปี 2554 อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ที่จําเลยเป็นผู้อํานวยการ โครงการทั้ง 4 โครงการดังกล่าวใช้วิธีการดําเนินการโดยการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้
ดังนั้น จําเลยจึงเป็นผู้มีอํานาจคัดเลือกผู้รับจ้างด้วยตนเอง และหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างเป็นดุลพินิจของจําเลย เนื่องจากตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกไว้แต่อย่างใด
ปัญหาต้องวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์มีนาย อ. และนาย ต. เป็นพยานเบิกความทํานองเดียวกันได้ความว่าเดือนมีนาคม 2554 นาย ว. ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ในนามห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตําบลสะเตงนอก อําเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา นาย อ. ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดยะลา ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ในนามห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. และนาย ต. ซึ่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลตะมะยูง อําเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างด้วย เดินทางเข้าพบจําเลยที่ห้องทํางานบริเวณชั้น 2 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 (หาดใหญ่) เพื่อเจรจาขอรับงานโครงการต่าง ๆ ในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อําเภอของจังหวัดสงขลา (เทพา สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ) จากจําเลย
โดยเข้าใจว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐบาลให้อำนาจหัวหน้าหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้มีอํานาจเด็ดขาดในการอนุมัติจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบโดยไม่ต้องมีการประกวดราคาและสอบราคา นาย อ. และนาย ต. กับพวกเดินทางไปพบกับจําเลยที่ห้องทํางานของจําเลยหลายครั้ง
ระหว่างการสนทนาได้บันทึกเสียงไว้ทุกครั้ง
หลักฐานคลิปเสียงมัด
สรุปได้ว่า ตามเทปบันทึกเสียงครั้งที่ 1 นาย ว. กับพวกเดินทางเข้าพบจําเลยที่ห้องทํางานบริเวณชั้น 2 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 (หาดใหญ่) ซึ่งมีการบันทึกเสียงไว้เป็นเวลา 27.06 นาที เป็นการหารือถึงหลักการโดยทั่วไปในการขอรับงานจากโครงการมีนาย ว. เป็นผู้ทําหน้าที่ในการเจรจากับจําเลย จําเลยแจ้งว่าในหลักการจะต้องจ่าย 30-35 % ในวันลงนามสัญญา แต่กําลังต่อรองกับข้างบนว่าจะให้เหลือเพียง 32%
ในเบื้องต้นจําเลยแจ้งให้นาย อ. ได้งานที่โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำตําบลอาซ่อง จําเลยสอบถามนาย อ. ว่ามีเงินที่จะต้องไปจ่ายจํานวนเท่าไหร่ และแจ้งว่าตามหลักเกณฑ์จะต้องจ่ายวันลงนามสัญญา
ตามเทปบันทึกเสียงครั้งที่ 2 นาย ว. และนาย อ. เดินทางเข้าพบจําเลยที่ห้องทํางานบริเวณชั้น 2 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 (หาดใหญ่) มีการบันทึกเสียงขณะที่มีการสนทนาเป็นเวลา 25.34 นาที สําหรับการเจรจาในครั้งนี้ยังไม่ได้มีข้อตกลงชัดเจนและไม่มีข้อมูลตัวเลขที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับการลงนามสัญญาในโครงการว่าจํานวนเท่าไหร่ จําเลยแจ้งว่าให้รอฟังคําตอบอีกครั้งหนึ่ง
ตามเทปบันทึกเสียงครั้งที่ 3 นาย ว. และนาย อ. เดินทางเข้าพบจําเลยที่ห้องทํางานบริเวณชั้น 2 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 (หาดใหญ่) มีการบันทึกเสียงเป็นเวลา 48.03 นาที การพบปะเจรจาในครั้งนี้จําเลยแนะนํานาย พ. ซึ่งจําเลยอ้างว่าเป็นผู้แทนฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหารือด้วย และจําเลยแจ้งต่อนาย ว. นาย อ. และนาย ต. ว่ามีการพูดคุยถึงเรื่องข้างบนมีนโยบายถ่ายทอดลงมาแล้ว
ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเงินว่าพร้อมที่จะรับเงื่อนไขเรื่องเงินหรือไม่ และสนใจโครงการที่อาซ่อง หรือไม่(โครงการที่ 1 โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ (ป้องกันการกัดเซาะ) ตําบลอาซ่อง อําเภอรามันจังหวัดยะลา) และมีการพูดว่าในวันลงนามสัญญานั้นจะต้องจ่าย 30% มีเงินจ่ายหรือไม่ ซึ่งนาย ว. ได้คํานวณตัวเลขคร่าว ๆ ประมาณ 3,100,000 บาท นาย พ. ชมนาย ว. ว่าคํานวณเก่ง
ในการเจรจาครั้งนี้มีนาย ว. เป็นผู้เจรจาหลักกับจ่าเลย ส่วนนาย อ. นั่งฟังการเจรจาบนโซฟาในห้องทํางานจําเลยใกล้กับนาย ว. ได้ยินเสียงสนทนาและเห็นพฤติการณ์ทั้งหมดอย่างชัดเจน
จําเลยกับนาย พ. ยินดีที่จะสนับสนุนให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. ได้งาน 4 โครงการประกอบด้วย (1) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำตําบลช้างเผือก (2) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำกะลุวอเหนือ(3) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำบ้านเทพา และ (4) โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ําตําบลอาซ่อง ทั้ง 4 โครงการมียอดเงินรวม 35,000,000 บาท ซึ่งจําเลยแจ้งว่ามีตัวเลขจากข้างบนออกมาชัดเจนแล้วต้องจ่าย 32% วันลงนามสัญญาต้องจ่าย 30% ส่วนที่เหลืออีก 2% ให้จ่ายภายหลัง ซึ่งหากรวมโครงการที่ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. จะได้รับทั้ง 4 โครงการ มียอดรวมประมาณ 30,000,000 บาทจะต้องเตรียมจ่ายประมาณ 11,000,000 บาท
จากนั้นจําเลยจึงได้เขียนโครงการที่ตกลงให้งานแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. ทั้ง 4 โครงการ ลงในกระดาษโน้ตสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ สีเหลือง 3 แผ่น โดยเขียนชื่อโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำทั้ง 4 โครงการ พร้อมจํานวนเงินแต่ละโครงการ
ตามเทปบันทึกเสียงครั้งที่ 4 นาย อ. และนาย ต. เดินทางเข้าพบจําเลยที่ห้องทํางานบริเวณชั้น 2 สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 (หาดใหญ่) มีการบันทึกเสียงไว้เป็นเวลา 45.24 นาที เมื่อนาย อ. และนาย ต. ไปถึงห้องทํางานของจําเลยพบจําเลยกับนาย พ. เข้ามาร่วมหารือด้วย
ในการเจรจาครั้งนี้ นาย อ. นําเอกสารเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. ไปมอบให้แก่จําเลยตามที่มีการแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ จําเลยแจ้งว่าที่มีการหารือก่อนหน้านี้ที่จะให้งาน 4 โครงการนั้น เนื่องจากมีเจ้าของพื้นที่จองโครงการต่าง ๆ ไว้แล้ว จึงมีปัญหากับเจ้าของพื้นที่หากจะมอบโครงการตามที่พูดคุยทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. จะต้องไปคุยกับเจ้าของพื้นที่โดยตรง
แต่สําหรับโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำตําบลอาซ่องนั้น จะให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. อย่างแน่นอน พร้อมให้นาย อ. เตรียมเงินที่จะต้องจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ 32% และเมื่อ นาย อ. ต่อรองเรื่องการจ่ายเปอร์เซ็นต์ดังกล่าว
จําเลยแจ้งว่าเฉพาะโครงการนี้สามารถลดได้คงเหลือ 30% จ่ายในวันที่ลงนามสัญญา 25% ที่เหลืออีก 5% จ่ายตอนเบิกงวด
ปรากฏว่านาย ว. นาย อ. และนาย ต. ไม่ได้เข้าทําสัญญาในนามห้างหุ้นส่วนจํากัด ฮ. กับสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ทั้ง 4 โครงการ
เห็นว่า โจทก์ มีนาย อ. และนาย ต. เป็นประจักษ์พยานเบิกความประกอบแผ่นบันทึกภาพและเสียงซึ่งได้มีการถอดข้อความที่จําเลยเรียกรับเงินกับประจักษ์พยานดังกล่าว และมีการตรวจพิสูจน์แผ่นบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวแล้วได้ความว่าเป็นเสียงของจําเลยที่เรียกรับเงินจริง และโจทก์มีบันทึกปากคําของนาย พ. ซึ่งนาย พ. ให้ถ้อยคํายืนยันได้ความว่า นาย พ. ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับนาย ว. นาย อ. และนาย ต.
แต่จําเลยขอให้ช่วยพูดคุยและอ้างตัวว่าเป็นผู้แทนฝ่ายการเมืองเพื่อให้มีความสมจริง และมีความน่าเชื่อถือ
จําเลยมีพฤติการณ์เรียกรับเงินตอบแทนจากนาย ว. นาย อ. และนาย ต. จริง และนาย พ. ตรวจสอบข้อความที่ถอดจากไฟล์เสียงแล้วยืนยันว่า เป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ในขณะที่มีการพูดคุยงานและบันทึกเสียงการสนทนาและยืนยันว่าเป็นเสียงของจําเลย
โดยข้อความที่มีการถอดจากไฟล์เสียงบันทึกเสียงสนทนานั้นสอดคล้องกับไฟล์เสียงที่ได้ฟัง และเป็นบทสนทนาในขณะที่มีการสนทนาจริง ตามแผ่นบันทึกภาพและเสียงที่แนบท้ายหนังสือเรื่องแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง และข้อความจากการถอดไฟล์เสียง พยานหลักฐานที่ไต่สวนประกอบคําให้การรับสารภาพของจําเลยรับฟังได้ว่า จําเลยเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินสําหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จําต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
อนึ่ง หลังจากจําเลยกระทําความผิด มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 149 ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทนซึ่งโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จําเลยต้องใช้กฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149(เดิม) ลงโทษ จําคุก 8 ปี
จําเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 4 ปี
แม้จําเลยรับราชการมาโดยตลอด และปัจจุบันจําเลยอายุ 70 ปี มีอาการเจ็บป่วย
แต่จําเลยเรียกรับเงินจํานวนมากอันอาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน จึงไม่สมควรรอการลงโทษ/
********
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่อัยการสูงสุดหารือไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
ขณะที่ จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ของผู้บริหารและข้าราชการ หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ
ไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป ดังที่เคยระบุไปแล้วในหลายคดีก่อนหน้านี้