"..โจทก์ยังมีนางสาว ฮ. และ นาย พ. เบิกความได้ความว่า ช่วงบ่ายวันหนึ่งในเวลาราชการเมื่อปี 2559 พยานทั้งสอง และนางสาว น. ไปยังห้างหุ้นส่วนจํากัด ข. ของนาย บ. นาย พ. ลงจากรถไปที่หน้าอาคารดังกล่าว แล้วนาย บ. ซึ่งอยู่ที่ชั้นสองของอาคารได้หย่อนตะกร้าด้วยเชือกลงมาที่นาย พ. ในตะกร้ามีซองกระดาษสีขาวแล้ว นาย พ. นําของดังกล่าวไปมอบให้แก่จําเลยด้วย ..."
คดีกล่าวหา นายสมาน สะแต อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา (ทสจ.ยะลา) เรียกรับเงินในลักษณะเป็นค่าดูแลหรือค่าคุ้มครองจากผู้ประกอบกิจการค้าไม้เป็นรายเดือน โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นายสมาน สะแต เป็นเวลา 5 ปี นั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ ของ นายสมาน สะแต มานำเสนอไปแล้วว่า
เหตุเกิดในช่วงเดือนเมษายน 2555 -มีนาคม 2559 ขณะที่นายสมาน สะแต เข้าไปรับตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา (สทจ.ยะลา) ได้เชิญผู้ประกอบการไม้ในจังหวัดยะลาไปพบที่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา โดยนายสมาน สะแต ได้ต่อว่าผู้ประกอบการพร้อมแสดงพฤติการณ์ข่มขู่ว่าตนเองมีอํานาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการได้
จากนั้น นายสมาน สะแต ได้โทรศัพท์แจ้งผู้ประกอบการรายหนึ่งว่า ให้ผู้ประกอบการโรงค้าไม้ และโรงเลื่อยไม้ หาเงินมาให้เดือนละ 90,000 บาท ภายในวันที่ 1-5 ของทุกเดือน โดยการรวบรวมเงินจากผู้ประกอบการนั้น ให้นําเงินสดไปให้ที่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา บางเดือนจะมีเจ้าหน้าที่ของสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลาไปรับเงินที่บ้านผู้ประกอบการด้วย
- ขอเดือนละ 9 หมื่น! เผยพฤติการณ์ อดีตผอ.ทสจ.ยะลา คดีเรียกเงินค่าคุ้มครอง โดนคุก 5 ปี
- โดนคุกอีก 5 ปี! คดีที่ 3 อดีตผอ.สนง.ทรัพยากรฯยะลา เรียกเงินค่าคุ้มครองผู้ประกอบ
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ฉบับเต็ม ที่พิพากษาลงโทษจำคุก นายสมาน สะแต เป็นเวลา 5 ปี
มีรายละเอียดดังนี้
@ จําเลยให้การปฏิเสธ
จากคำฟ้องฝ่ายโจทก์ ที่ระบุว่า จําเลยใช้อํานาจในตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลาโดยมิชอบตามกฎหมายระเบียบ และคําสั่งของทางราชการ ข่มขืนใจหรือได้จูงใจให้ผู้ประกอบการโรงค้าไม้แปรรูปและโรงเลื่อยไม้แปรรูป มอบเงินให้แก่จําเลยเป็นรายเดือนดังกล่าวข้างต้นเพื่อจําเลยพิจารณาและลงนามออกใบอนุญาตโรงค้าไม้แปรรูป และโรงเลื่อยไม้แปรรูป เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ทําให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สํานักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนและบุคคลอื่น
จําเลยให้การปฏิเสธว่า จําเลยไม่ได้เชิญผู้ประกอบการมาพบเพื่อเรียกให้ส่งรายเดือนให้แก่จําเลย แต่เชิญมาประชุมชี้แจง จําเลยไม่อาจใช้อํานาจให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการในการอนุมัติหรืออนุญาตเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้หรือประกอบการค้าไม้แปรรูปได้ เนื่องจากมีขั้นตอนการดําเนินการก่อนที่จําเลยจะอนุญาต
รายการเงิน 80,000 บาท ที่ นาย พ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) โอนเข้าบัญชีธนาคารของจําเลยนั้นเป็นการชําระหนี้เงินยืมแทนนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) ที่นาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) ยืมจําเลยไป
นาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) แอบอ้างชื่อจําเลยไปเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการค้าไม้ จําเลยไม่เคยได้รับเงินตามรายการที่นาย ว. (ผู้ประกอบการค้าไม้) โอนเข้าบัญชีธนาคารของนาย บ.(ผู้ประกอบการค้าไม้)
ขอให้ยกฟ้อง
@ ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์-จําเลย
ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ได้รับคําสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาให้มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการสั่ง การอนุญาตการอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยให้จําเลยเสนอความเห็นต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
เมื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาสั่งอนุญาตแล้วให้จําเลยลงนามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในใบอนุญาตได้ ตามคําสั่งจังหวัดยะลา เรื่องการมอบอํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหัวหน้าส่วนราชการประจําจังหวัด นายอําเภอ และหัวหน้าส่วนราชการประจําอําเภอ
หลังจากจําเลยดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา จําเลยเชิญนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) และผู้ประกอบการค้าไม้แปรรูปในพื้นที่จังหวัดยะลาไปพบที่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา
@ มีเงินโอนเข้าบัญชี 10 ครั้ง
ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2558 มีการโอนเงิน 80,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขายะลา เลขที่ XXX ของจําเลย ซึ่งนาย พ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) โอนจากบัญชีเงินฝากธนาคารเดียวกันเลขที่ XXX และระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2559 มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของนาย ว. (ผู้ประกอบการค้าไม้) เข้าบัญชีของนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) รวม 10 ครั้ง ตามรายการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน
@ เรียกเงินเดือนละ 9 หมื่น -นำส่งที่สนง.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเรียกรับเงินเป็นรายเดือนจากผู้ประกอบการกิจการค้าไม้แปรรูปอันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
ทางไต่สวนได้ความจากพยานโจทก์ปาก นาย ว. , นาย พ. , นาง ล. และนาย บ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานค้าไม้แปรรูป เบิกความได้ความทํานองเดียวกันว่า เมื่อประมาณต้นปี 2555 หลังจากที่จําเลยย้ายมาดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา จําเลยเชิญพยานและผู้ประกอบการค้าไม้แปรรูปให้ไปพบที่บ้านพักของจําเลย
โดยจําเลยพูดและแสดงพฤติการณ์ข่มขู่ทํานองว่าตนเองมีอํานาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานไม้แปรรูป จําเลยให้นาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) และผู้ประกอบการค้าไม้แปรรูปส่งเงินให้แก่จําเลยเป็นรายเดือน เดือนละ 90,000 บาท ภายในวันที่ 1-5 ของทุกเดือน
นาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) จึงรวบรวมเงินจากผู้ประกอบการส่งให้แก่จําเลยทุกเดือน โดยผู้ประกอบการคนอื่น ๆ จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) หรือนําเงินสดมามอบให้แก่นาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) แล้วนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) จะนําเงินสดไปมอบให้จําเลยที่สํานักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา แต่บางครั้งนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) มอบให้นาย พ.(ผู้ประกอบการค้าไม้) นําเงินไปให้จําเลย
นอกจากนี้จําเลยเคยให้เจ้าหน้าที่สํานักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลาไปรับเงินที่บ้านของนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้)
โดยนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) ทํารายการจ่ายเงินให้ป่าไม้ยะลา (สมาน สะแต และเขต 13) ไว้เป็นหลักฐาน และเคยส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่นาย ว. (ผู้ประกอบการค้าไม้) และผู้ประกอบการรายอื่น
นอกจากพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีนางสาว ฮ. และ นาย พ. เบิกความได้ความว่า ช่วงบ่ายวันหนึ่งในเวลาราชการเมื่อปี 2559 พยานทั้งสอง และนางสาว น. ไปยังห้างหุ้นส่วนจํากัด ข. ของนาย บ.
นาย พ. ลงจากรถไปที่หน้าอาคารดังกล่าว แล้วนาย บ. ซึ่งอยู่ที่ชั้นสองของอาคารได้หย่อนตะกร้าด้วยเชือกลงมาที่นาย พ. ในตะกร้ามีซองกระดาษสีขาวแล้ว นาย พ. นําของดังกล่าวไปมอบให้แก่จําเลยด้วย
@ ขับรถยนต์กระบะตามประกบ
จําเลยเคยขับรถยนต์กระบะติดตามรถยนต์ของนาย พ. และนางสาว ฮ. เพื่อข่มขู่ นาย พ. และนางสาว ฮ. เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากคําเบิกความของพยานโจทก์แต่ละปากมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลและยังสอดคล้องกับพยานเอกสาร
อีกทั้งคําเบิกความของจําเลยที่รับว่าได้เชิญผู้ประกอบการไปพบจริงแต่อ้างว่าเหตุที่เชิญไปพบเพราะมีความจําเป็นต้องชี้แจงแนวทางการปฏิบัติและกฎระเบียบเกี่ยวกับการแปรรูปไม้และการค้าไม้ต่อผู้ประกอบการยังเจือสมกับคําเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ประกอบการ ดังนี้ ยิ่งทําให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
@ ข้ออ้างให้ยืมเงิน 8 หมื่นบาท ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จําเลยอ้างว่า รายการโอนเงิน 80,000 บาท จากนาย พ. (ผู้ประกอบการค้าไม้) เข้าบัญชีธนาคารของตนเอง เป็นการชําระหนี้ของนาย บ. (ผู้ประกอบการค้าไม้)ที่เคยยืมไป
โดยนาย พ. เบิกความว่าตนเองเป็นหนี้ค่าไม้แปรรูปนาย บ. นาย บ จึงขอให้ตนเองโอนเงินให้แก่จําเลยเป็นการหักชําระหนี้กันนั้น
นาย บ. และจําเลยต่างก็เบิกความตรงกันว่า เพิ่งรู้จักกันเมื่อจําเลยย้ายมารับราชการในพื้นที่จังหวัดยะลา จึงไม่มีเหตุผลใดที่จําเลยจะต้องให้นาย บ. ยืมเงินโดยที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมจํานวนมากถึง 80,000 บาท
สําหรับที่ นาย ร. เบิกความว่า พยานอยู่ในขณะที่นาย บ. ยืมเงินจําเลย ก็น่าเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจําเลยเสียมากกว่า และหากข้อที่จําเลยอ้างว่านาย บ. โกรธเคืองจําเลยด้วยเรื่องที่จําเลยทวงถามให้นาย บ. ชําระหนี้ที่ยืมไปหลายครั้งจึงร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งจําเลย และนาย บ. ยังแอบอ้างชื่อของจําเลยไปเรียกเงินจากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม้แปรรูปเป็นความจริง นาย บ. ก็ไม่จําเป็นที่จะต้องจัดทําเอกสารรายการจ่ายเงินของผู้ประกอบการ ไว้และส่งให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้เป็นหลักฐานผูกมัดตนเอง
อีกทั้งจําเลยก็ควรที่จะดําเนินคดีเพื่อเอาผิดแก่นาย บ. แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยได้กระทําเช่นนั้น
@ คำให้การหลานมัด
จําเลยเป็นถึงหัวหน้าส่วนราชการมีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาทําความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาต การต่อใบอนุญาต และลงนามในใบอนุญาตแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ตรวจสอบกิจการและรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งพักใบอนุญาตกรณีผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้อกําหนดในการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
หากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจําเลยไม่เป็นความจริงเชื่อว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานค้าไม้ นางสาว ฮ. และนาย พ. ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นหลานอีกทั้งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยคงไม่กล้าที่จะให้การและเบิกความอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรําจําเลยเป็นแน่
ส่วนที่จําเลยอ้างว่า นางสาว ฮ. เคยไปชี้แจงต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมนั้น นางสาว ฮ. ก็เบิกความว่าได้กระทําไปเพราะความเคารพนับถือต่อจําเลย แต่ขอยืนยันว่าข้อเท็จจริงที่เคยให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นความจริงทุกประการ ดังนี้พยานหลักฐานตามข้ออ้างของจําเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
@ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนัก
พยานหลักฐานโจทก์ตามทางไต่สวนจากคําเบิกความของพยานบุคคลดังกล่าวข้างต้นเมื่อฟังประกอบกับรายการเดินบัญชีเงินฝากของจําเลย นาย บ. และนาย ว. แล้ว จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจําเลยใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบเรียกและรับเงินจากผู้ประกอบการค้าไม้แปรรูปในพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นรายเดือน จนผู้ประกอบการบางรายยินยอมมอบเงินให้แก่จําเลยผ่านนาย บ. เพราะเกรงกลัวว่าจําเลยจะใช้อํานาจหน้าที่กลั่นแกล้งในการประกอบกิจการ
การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ซึ่งทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 เมื่อการกระทําของจําเลยเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จําต้องปรับบทตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นทั่วไปอีก
@ โจทก์มีอานาจฟ้อง
ส่วนข้อที่จําเลยเบิกความตามบันทึกถ้อยคําและยื่นคําแถลงการณ์ปิดคดีว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ดําเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จภายในสองปี ตามพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่งและวรรคสาม นั้นกําหนดเวลาดังกล่าวมิใช่อายุความ เมื่อพ้นกําหนดเวลานั้นแล้วบทบัญญัติดังกล่าววรรคท้ายยังให้อํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการไต่สวนตามหน้าที่และอํานาจต่อไปได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอานาจฟ้อง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ภายหลังจําเลยกระทําความผิดมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 148 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทําความผิดไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับภายหลังกระทําความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทําของจําเลยเป็นความผิดและระวางโทษเท่าเดิม จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
@ พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
จําคุก 5 ปี ให้นับโทษต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีอาญาหมายเลขดํา ที่ อท 56/2563 หมายเลขแดงที่ 6/2565 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 57/2563 หมายเลขแดงที่ 9/2565 ของศาลนี้ตามลำดับ
************
เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นับเป็นคดีที่ 3 ของ นายสมาน สะแต ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งเรื่อง อสส.ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
คดีแรก เรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการออกหรือต่อใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ในยะลา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาจำคุกนายสมาน สะแต 83 กรรม จำคุกรวมสูงถึง 415 ปี แต่กำหนดโทษจริง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
คดีสอง ต่อใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร โดยมิชอบ ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้จำคุก 2 ปี
เท่ากับว่า นายสมาน สะแต โดนโทษ 3 คดี คดีแรก 415 ปี (ติดจริง 50 ปี) คดีสอง 2 ปี และคดีสาม 5 ปี)
อย่างไรก็ดี คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่อัยการสูงสุด (อสส.) หารือไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
แต่ไม่ว่าผลการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณี นายสมาน สะแต นับเป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์เตือนใจ และเป็นกรณีศึกษาสำคัญให้ไม่ให้ ผู้บริหาร อปท. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป