เปิดพฤติการณ์ 'สมาน สะแต' อดีตผอ.ทสจ.ยะลา คดีเรียกเงินค่าคุ้มครองผู้ประกอบการค้าไม้โดนคุก 5ปี เหตุเกิดช่วงไปเข้ารับตําแหน่งใหม่ เรียกมาประชุมข่มขู่ว่ามีอํานาจหน้าที่ให้คุณให้โทษได้ ก่อนแจ้งไปรวบรวมเงินมาให้เดือนละ 90,000 บาท ภายในวันที่ 1-5 ของทุกเดือน - บางเดือนส่ง จนท.ตามไปเก็บถึงบ้าน
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายสมาน สะแต อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา (ทสจ.ยะลา) เรียกรับเงินในลักษณะเป็นค่าดูแลหรือค่าคุ้มครองจากผู้ประกอบกิจการค้าไม้เป็นรายเดือน
โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นายสมาน สะแต เป็นเวลา 5 ปี นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ ของ นายสมาน สะแต เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2555 -มีนาคม 2559 ต่อเนื่องกัน ขณะที่นายสมาน สะแต เข้าไปรับตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ได้เชิญผู้ประกอบการไม้ในจังหวัดยะลาไปพบที่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา โดยนายสมาน สะแต ได้ต่อว่าผู้ประกอบการพร้อมแสดงพฤติการณ์ข่มขู่ว่าตนเองมีอํานาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการได้
จากนั้น นายสมาน สะแต ได้โทรศัพท์แจ้งผู้ประกอบการรายหนึ่งว่า ให้ผู้ประกอบการโรงค้าไม้ และโรงเลื่อยไม้ หาเงินมาให้เดือนละ 90,000 บาท ภายในวันที่ 1-5 ของทุกเดือน
โดยการรวบรวมเงินจากผู้ประกอบการนั้น ให้นําเงินสดไปให้ที่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา บางเดือนจะมีเจ้าหน้าที่ของสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลาไปรับเงินที่บ้านผู้ประกอบการด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า การกระทำความผิดในคดีนี้ เป็นผลมาจาก นายสมาน สะแต มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาทําความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตและต่อการอนุญาตและลงนามในใบอนุญาต ตรวจสอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้ และอื่น ๆตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเพื่อสั่งพักใบอนุญาตกรณีพบว่าผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกําหนดในการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
"คดีนี้ จําเลยใช้อํานาจในตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลาโดยมิชอบตามกฎหมายระเบียบ และคําสั่งของทางราชการ ข่มขืนใจหรือได้จูงใจให้ผู้ประกอบการโรงค้าไม้แปรรูปและโรงเลื่อยไม้แปรรูป มอบเงินให้แก่จําเลยเป็นรายเดือนดังกล่าวข้างต้น เพื่อจําเลยพิจารณาและลงนามออกใบอนุญาตโรงค้าไม้แปรรูป และโรงเลื่อยไม้แปรรูป เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ทําให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สํานักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนและบุคคลอื่น" แหล่งข่าวระบุ
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายสมาน สะแต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 , 157 และตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาว่า นายสมาน สะแต จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 148 (เดิม) พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 148 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อท 56/2563 หมายเลขแดงที่ 6/2565 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 57/2563 หมายเลขแดงที่ 9/2565 ของศาลนี้ตามลำดับ
คดีนี้ นับเป็นคดีที่ 3 ของ นายสมาน สะแต ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งเรื่อง อสส.ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
คดีแรก เรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการออกหรือต่อใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ในยะลา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาจำคุกนายสมาน สะแต 83 กรรม จำคุกรวมสูงถึง 415 ปี แต่กำหนดโทษจริง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
คดีสอง ต่อใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร โดยมิชอบ ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้จำคุก 2 ปี
เท่ากับว่า นายสมาน สะแต โดนโทษ 3 คดี คดีแรก 415 ปี (ติดจริง 50 ปี) คดีสอง 2 ปี และคดีสาม 5 ปี)
ขณะที่ จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้