ฉบับเต็ม!คำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ในศาลฎีกา‘นริศร ทองธิราช’อดีต สส. สกลนคร เพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน กรณีลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยืนจำคุก 16 เดือน ชี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ดุลยพินิจวางโทษเหมาะสมแล้ว พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่รอการลงโทษ
คดีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)
ราย นายนริศร ทองธิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสกลนคร สังกัดพรรคเพื่อไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษา จำคุกใน 2 คดี
คดีแรก คดีเสียบบัตรแทนกัน กรณีลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน ไม่รอการลงโทษ (คดีหมายเลขแดงที่ 22/2565 วันที่ 22 ก.ย.2565)
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- คุก 16 เดือน ‘นริศร ทองธิราช’ คดีเสียบบัตรแทนกันปี 56
- คำพิพากษาฉบับเต็ม คุก 16 เดือน‘นริศร ทองธิราช’เสียบบัตรแทนกัน ทุจริตออกเสียงลงคะแนน
คดีที่สอง คดีเสียบบัตรแทนกัน กรณีเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 1 ปี คําให้การรับสารภาพของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจําคุก กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 12 เดือน นับโทษต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 22/2565 ของศาลนี้(คดีหมายเลขดำ อม.8 2565 คดีหมายเลขแดงที่ อม.24 /2565 วันที่ 3 พ.ย.2565)
กระทั่ง วันที่ 11 ส.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืน (คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.11/2566)
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- โดนคดีที่สอง! ศาลฎีกาฯ จำคุก ‘นริศร ทองธิราช’ อีก 12 เดือน เสียบบัตรแทนกัน
- เปิดคำพิพากษาคดีที่สอง ‘นริศร ทองธิราช’ เสียบบัตรแทนคนอื่นหลายใบ คุกเพิ่ม 12 เดือน
- คดีถึงที่สุดแล้ว! ยืนโทษคุก 12 ด. ‘นริศร ทองธิราช’ อดีต สส.เพื่อไทย เสียบบัตรแทนกัน
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมาศาลฎีกาเผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกา วันที่ 25 ก.ค.2566 คดีนายนริศร ทองธิราช เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน (คดีแรก) หลังจากนายนริศรอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กระบวนไต่สวนของ ป.ป.ช.มิชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน และขอให้ลงโทษ สถานเบา รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ดุลยพินิจวางโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้หนึ่งในสามนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำผิดเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลย พิพากษายืน (คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 2/2566 คดีหมายเลขแดง อม.อธ.10/2566 วันที่ 25 ก.ค.2566)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดคำพิพากษามารายงาน เรียบเรียงดังนี้
วันที่ 25 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2566
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายนริศร ทองธิราช จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 22 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2565
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับอุทธรณ์วันที่ 20 เดือน เมษายน พุทธศักราช 2566
@เปิดที่มาของคดี-เหตุเกิด 10-11 ก.ย.2556
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสกลนคร สังกัดพรรคเพื่อไทย จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 จำเลยกับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) ต่อประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาส่งสำเนาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบรรจุเข้าวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาและลงมติในวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง และวาระที่สาม ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2556 ต่อเนื่องกันตามลำดับ จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 เวลากลางวัน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่สอง ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราครั้งที่ 9 (สมัยสามัญทั่วไป) เพื่อพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 9 กรณีห้ามมิให้จับกุมคุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้งไปทำการสอบสวนในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติมีผลใช้บังคับในวันดังกล่าว เวลา 17.33 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมแจ้งให้สมาชิกลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 9
และ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 เวลากลางวัน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่สอง ขั้นพิจารณา เรียงลำดับมาตราครั้งที่ 10 (สมัยสามัญทั่วไป) เพื่อพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 10 เรื่องให้สมาชิกวุฒิสภาที่มีสมาชิกภาพอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญช้บังคับยังคงมีสมาชิกภาพและปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาต่อไป ในวันดังกล่าว เวลา 16.43 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมขอมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาปิดการอภิปรายในมาตรา 10 ตามที่มีสมาชิกรัฐสภาอื่นเสนอญัตติขอปิดการอภิปรายตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
จำเลยเข้าประชุม ร่วมกันของรัฐสภาทั้ง 2 วันดังกล่าว จำเลยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของตนโดยมิชอบ นำบัตรประจำตัวและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภา รายอื่นจำนวนหลายใบอันเกินกว่าจำนวนบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยและสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีและใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนของจำเลย แสดงตนและออกเสียงแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่น
โดยเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนน และกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงคะแนนคราวละหลายใบในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน และจำเลย ออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 11 กันยายน 2556 ให้ปิดการอภิปราย อันเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียง ในการลงคะแนนมติในแต่ละครั้ง
การกระทำของจำเลยทั้งสองครั้งเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาปฏิญาณตนไว้ ขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 126 วรรคสาม ที่กำหนดให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน
การกระทำของจำเลยมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตบิดเบือนขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภโดยชัดแจ้ง ไม่เป็นไปตามเจตนารณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำการในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมิอาจถือว่ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมิชอบ การพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวม กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาอันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและสมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน ผู้มีชื่ออื่น และเป็นการกระทำโดยทุจริต
เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภา แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.8/2565 ของศาลนี้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุก ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.8/2565 ของศาลนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
@ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก 2 กระทง 16 เดือน ไม่รอลงโทษ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงแม้ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยกระทำความผิดใด ๆ มาก่อน ก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษ
แก่จำเลย ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.8/2565 ของศาลนี้ นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา คำขอส่วนนี้จึงให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
@ร่วมแสดงตนและลงคะแนนทั้ง 2 วัน
พิเคราะห์อุทธรณ์ของจำเลย พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำแถลงปิดคดีของจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า
จำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.64 วันที่ 20 มีนาคม 2556 จำเลยกับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาโดยเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา รวม 3 ฉบับ ประธานรัฐสภาส่งสำเนาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาและลงมติ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556
ขณะเกิดเหตุ วันที่ 10 กันยายน 2556 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระที่สอง ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราครั้งที่ 9 (สมัยสามัญทั่วไป) เพื่อพิจารณาและลงมติ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 9 ครั้นเวลา 17.33 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมแจ้งให้สมาชิกลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 9 จำเลยร่วมแสดงตนและลงคะแนนด้วย
ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2556 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่สอง ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราครั้งที่ 10 (สมัยสามัญทั่วไป) เพื่อพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 10 จำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย ครั้นเวลา 16.43 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมขอมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาปิดการอภิปรายในมาตรา 10 จำเลยร่วมแสดงตนและลงคะแนนด้วย ตามรายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเอกสารหมาย จ.59 ถึง จ.62 การประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นวาระที่สองทั้งสามร่าง
@ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีการในการแสดงตนและลงมติ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แต่ก่อนถึงกำหนดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระที่สาม สมาชิกรัฐสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 4 คำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่า วิธีการในการแสดงตนและลงมติ ในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนแต่จากพยานหลักฐานในการไต่สวนชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 162 (จำเลย) เป็นสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง
รับฟังได้ว่ามีสมาชิกรัฐสภาหลายรายมิได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับที่หนึ่ง) แต่มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 126 วรรคสาม และขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 เอกสารหมาย จ.23
ส่วนที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร้องเรียนสมาชิกรัฐสภา 312 คน ตามเอกสารหมาย จ.21 นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 และมาตรา 123/1 ตามเอกสารหมาย จ.7 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
@วินิจฉัย โจทก์มีอำนาจฟ้อง – ป.ป.ช.ไต่สวนชอบ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยไว้พิจารณา เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 มิได้บัญญัติ ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน และอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะมีอำนาจในการยื่นคำร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้และได้วินิจฉัยคำร้อง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องเอาความเห็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการไต่สวน ทำให้การไต่สวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกันนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีประเด็นเรื่องความรับผิดทางอาญา
การที่บุคคลใดจะมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการเป็นคดีอาญาอีกส่วนหนึ่งตามบทกฎหมาย กระบวนพิจารณา พิพากษาคดีอาญามีความแตกต่างจากการพิจารณาและวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้เป็นการ ดำเนินคดีอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงตามความจริงที่เกิดขึ้น แล้วมีความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้เอง ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานในคดีนี้นอกเหนือไปจากที่ปรากฎในคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และจำเลยย่อมมีสิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมเสนอพยานหลักฐานประกอบการชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการไต่สวนข้อเท็จจริงเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้โอกาสจำเลยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้ชี้มูลความผิดโดยอาศัยเหตุที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งข้อกล่าวหา 2 ครั้ง จำเลยได้รับแจ้งข้อกล่าวหาเพียงครั้งเดียว ในครั้งแรกตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2557 แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1 เสียง ระบุวันกระทำความผิด วันที่ 11 กันยายน 2556 จำเลยต่อสู้ว่าไม่มีวัน เวลา และรายละเอียด ส่วนครั้งที่สองตามบันทึก แจ้งข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ระบุวันกระทำความผิด 2 วัน ในวันที่ 10 และวันที่ 11 กันยายน 2556 จำเลยไม่เคยได้รับทราบ เป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจและผิดหลงไม่ได้ยื่นคำชี้แจง และขาดโอกาสแสวงหาหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา จำเลยทราบเมื่อมีการฟ้องเป็นคดีนี้ว่าคำกล่าวหามีวันเดือนปีและเวลาตามฟ้อง การแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.. ครั้งที่สอง จึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งบันทึก การแจ้งข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ตามเอกสารหมาย จ.68 แล้ว จำเลยมีหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงข้อกล่าวหา โดยมีข้อความระบุว่า จำเลยได้รับทราบข้อกล่าวหาและได้รับสำเนาข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และมีความประสงค์จะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป ต่อมาจำเลยมีหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงข้อกล่าวหาอีกหลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.72 ซึ่งในแต่ละฉบับต่างอ้างถึงบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตามเอกสารหมาย จ.68 ทั้งสิ้น
อีกทั้งจำเลยชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าจำเลยรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองครั้ง การแจ้งข้อกล่าวหาชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ ‘รังสิมา’พยานประกอบคลิป
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เนื่องจากคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 ตรงกับคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.2 รายการที่ 2 รวมถึงคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.9 รายการที่ 3 เป็นคลิปวีดิทัศน์ที่มีการถ่ายไว้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดอื่น มิใช่ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ในวันที่ 10 กันยายน 2556 เวลา 17.33 นาฬิกา และการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 ในวันที่ 11 กันยายน 2556 เวลา 16.43 นาฬิกา ตามฟ้องพยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่น่ารับฟังและคำให้การของนางสาวรังสิมา รอดรัศมี ที่ให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และในชั้นไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปลี่ยนไปมาในข้อเท็จจริงเดียวกัน ขัดแย้งกับพยานปาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ดังที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามาหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าโดยมิชอบ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่
ทางไต่สวนได้ความจากนางสาวรังสิมา ประจักษ์พยานให้ถ้อยคำยืนยันประกอบคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 1 และที่ 2 คลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.9 รายการที่ 3 ว่า บุคคลในภาพเคลื่อนไหวคือจำเลย ชั้นไต่สวน จำเลยดูภาพจากคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 และหมาย วจ.9 รายการที่ 3 แล้วเบิกความรับว่าบุคคลในภาพเคลื่อนไหวตามคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 และหมาย วจ.9 รายการที่ 3 เป็นจำเลย จึงสนับสนุนคำเบิกความพยานปากนางสาวรังสิมาให้มีน้ำหนัก
@ส่งตร.พิสูจน์หลักฐาน ‘ไม่ตัดต่อ’
ประกอบกับในชั้นไต่สวน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 วจ.9 และ จ.114 ไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามคำแถลงของโจทก์และจำเลย โดยมีพันตำรวจโทนิติ อินทุลักษณ์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ.1) กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ถ้อยคำประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย ศ.1 ยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ว่าไม่พบร่องรอยการตัดต่อของคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 และหมาย วจ.9 รายการที่ 3
และยังมีนางอัจฉรา จูยืนยง เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบโสตทัศนูปกรณ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เสียงที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 ตรงกับข้อความที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ.59 แผ่นที่ 3068 และแผ่นที่ 3069 ส่วนเสียงที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.9 รายการที่ 3 และหมาย วจ.6 รายการที่ 1 ตรงกับข้อความที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ.60 แผ่นที่ 3243 ถึงแผ่นที่ 3245 เป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 9 และมาตรา 10 ตามฟ้อง
ทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดคลิปวีดิทัศน์ให้พยานหลายปากดูต่อหน้าโจทก์และจำเลยด้วยแล้ว พยานหลักฐานตามทางไต่สวนล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ทำให้เชื่อได้ว่า คลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.6 รายการที่ 2 เป็นภาพเหตุการณ์ลงคะแนนระหว่างที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ส่วนคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.9 รายการที่ 3 เป็นเหตุการณ์ลงมติปิดการอภิปรายที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 10 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 โดยมีภาพจำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนที่เป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น
ที่จำเลยกล่าวอ้างว่าวัตถุพยานหมาย วจ.6 รายการที่ 2 และหมาย วจ.9 รายการที่ 3 เป็นภาพการประชุมร่างพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดอื่น ที่ถูกนำมาตัดต่อไม่น่าเชื่อถือนั้น
เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้พยานปาก นางสาวรังสิมาให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากถ้อยคำในชั้นไต่สวนไปบ้าง ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างเกี่ยวกับบุคคลผู้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวในขณะเกิดเหตุ และการส่งมอบภาพเคลื่อนไหวให้แก่นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยมิใช่สาระสำคัญ เพราะพฤติการณ์ที่จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนที่เป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรัฐสภารายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่นได้ถูกบันทึกไว้จริง แม้คลิปวีดิทัศน์หมาย วจ. 2 รายการที่ 3 ปรากฎภาพบางส่วนเช่นเดียวกับคลิปวีดิทัศน์หมาย วจ.9 รายการที่ 3 แต่มีเสียงแตกต่างกันและเป็นการแอบถ่าย ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานที่ถูกตรวจพิสูจน์แล้วไม่พบร่องรอยการตัดต่อนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด
@พยานหลักฐานมัดแน่นใช้บัตรตนเองคนอื่นหลายใบเสียบลงคะแนนแทนกัน-ละเมิดหลักการพื้นฐาน สส.
ด้วยเหตุนี้ พยานหลักฐานตามทางไต่สวนจึงรับฟังได้ว่า จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและ ลงคะแนนที่เป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรัฐสภารายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทน ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 และการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในมาตรา 10 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 122 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งเป็นการขัดต่อหลักความชื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ตามมาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม
จำเลยกระทำโดยมีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ตามบทนิยามของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 เป็นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน และผู้มีชื่ออื่น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯใช้ดุลยพินิจวางโทษ ‘เหมาะสม’ แก่พฤติการณ์
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุให้ลงโทษ สถานเบา รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ หรือไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เคยมีประวัติในการกระทำความผิดมาก่อน เป็นผู้ที่มีความประพฤติตนเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังเกิดเหตุไม่มีบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยนำบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้แทนตนนั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ดุลยพินิจวางโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้หนึ่งในสามนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำผิดเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน. (คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 2/2566 คดีหมายเลขแดง อม.อธ.10/2566 วันที่ 25 ก.ค.2566)
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- โดนคดีที่สอง! ศาลฎีกาฯ จำคุก ‘นริศร ทองธิราช’ อีก 12 เดือน เสียบบัตรแทนกัน
- เปิดคำพิพากษาคดีที่สอง ‘นริศร ทองธิราช’ เสียบบัตรแทนคนอื่นหลายใบ คุกเพิ่ม 12 เดือน
- คดีถึงที่สุดแล้ว! ยืนโทษคุก 12 ด. ‘นริศร ทองธิราช’ อดีต สส.เพื่อไทย เสียบบัตรแทนกัน
- คุก 16 เดือน ‘นริศร ทองธิราช’ คดีเสียบบัตรแทนกันปี 56
- คำพิพากษาฉบับเต็ม คุก 16 เดือน‘นริศร ทองธิราช’เสียบบัตรแทนกัน ทุจริตออกเสียงลงคะแนน