ละเอียดยิบ! คำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีที่สอง ‘นริศร ทองธิราช’ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรแทนกัน ลงคะแนน ร่าง กม.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ทำผิดต่างกรรมต่างวาระ จำคุก 2 กระทง 12 เดือน แม้เปลี่ยนคำให้การรับสารภาพทำหลายใบ ชี้พฤติการณ์เรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจําคุก 12 เดือน นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีเสียบบัตรลงคะแนนเสียงแทนกัน เป็นคดีที่สอง นับโทษจําคุกต่อจากคดีแรก กรณีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 ศาลฎีกาฯจําคุก 16 เดือน ตามที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
- คุก 16 เดือน ‘นริศร ทองธิราช’ คดีเสียบบัตรแทนกันปี 56
- คำพิพากษาฉบับเต็ม คุก 16 เดือน‘นริศร ทองธิราช’เสียบบัตรแทนกัน ทุจริตออกเสียงลงคะแนน
- โดนคดีที่สอง! ศาลฎีกาฯ จำคุก ‘นริศร ทองธิราช’ อีก 12 เดือน เสียบบัตรแทนกัน
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียง คำพิพากษาฉบับเต็มในคดีที่สองมารายงาน
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายนริศร ทองธิราช จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
@เปิดคำฟ้อง ป.ป.ช.เหตุเกิดจากโหวต ร่าง กม.อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
โจทก์ฟ้องว่า จําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสกลนคร สังกัดพรรคเพื่อไทย จึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจและหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การออกเสียงลงคะแนน ขั้นรับหลักการ พิจารณาเรียงลําดับมาตรา และขั้นการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 142, 143, 146, 147 โดยจําเลยในฐานะสมาชิกคนหนึ่งย่อมมี เสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม รวมถึงมีหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้หรือตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... จําเลยกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
@เสียบแทนกัน 2 ครั้ง
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มาตรา 6 และมาตรา 20 จําเลยซึ่งลงชื่อเข้าร่วมประชุมด้วยได้ใช้อํานาจ ในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ นําบัตรประจําตัวและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจําเลยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหลายใบอันเกินกว่าจํานวนบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่จําเลยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีและใช้ได้เพียง คนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภารายอื่น โดยเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงมติคราวละหลายใบ ในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน อันเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียง ในการลงคะแนนมติในแต่ละครั้ง การกระทําของจําเลยดังกล่าวทั้งสองครั้งเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ ขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 126 วรรคสาม ที่กําหนดให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งการกระทําของจําเลย มีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตบิดเบือนขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาโดยชัดแจ้ง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทําการในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมิอาจถือได้ว่ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยที่ 15-18/2556 คดีระหว่าง พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม กับ คณะผู้ร้องที่ 1 นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ร้องที่ 2 นายสาย กังกเวคิน กับคณะผู้ร้องที่ 3 และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับคณะ ผู้ร้องที่ 4 กับ ประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 รองประธาน รัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 3 ถึงที่ 312 ว่า การกระทําของจําเลยดังกล่าวเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือ ใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวม ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิก รัฐสภาอื่น ประชาชน ผู้มีชื่ออื่น และเป็นการกระทําโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จําเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อม.36/2562 ของศาลนี้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 192 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจําเลย ต่อจากโทษของจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อม.36/2562 ของศาลนี้
@ถอนคําให้การเดิม ให้การใหม่เป็นรับสารภาพเสียบบัตรแทนคนอื่นหลายคน
จําเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจําเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนตรวจพยานหลักฐาน จําเลยขอถอนคําให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องทั้งสองครั้ง จําเลยนําบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นจํานวนหลายใบมาใช้ทําการแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียง ในการลงมติแต่ละครั้งอันเป็นการกระทําความผิดตามฟ้อง โดยสละข้อต่อสู้ในปัญหา ข้อกฎหมายทั้งสิ้น
@ ผลจากทุจริต ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กระบวนการตรา กม. ออกโดยไม่ถูกต้อง
พิเคราะห์คําฟ้อง เอกสารท้ายคําฟ้อง รายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คําให้การรับสารภาพ และคําแถลงประกอบคํารับสารภาพของจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรออกบัตรลงคะแนนให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) บัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ซึ่งมีรูปสมาชิกปรากฏอยู่ด้านหน้าของบัตรและมีข้อมูล ชื่อ นามสกุล เลขที่ประจําตัว และพรรคที่สังกัด สมาชิกเป็นผู้เก็บรักษาเอง (2) บัตรลงคะแนนสํารอง ซึ่งไม่มีรูปสมาชิกปรากฏอยู่ด้านหน้าของบัตร แต่มีรหัสและข้อมูลอื่นเช่นเดียวกับบัตรจริง และ (3) บัตรลงคะแนนพิเศษ (SP) ซึ่งบัตรประเภทที่สองและที่สาม กลุ่มงานบริหารทั่วไป สํานักการประชุม เป็นผู้เก็บรักษา สมาชิกที่ไม่ได้นําบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) มา สามารถขอยืมบัตรลงคะแนน สํารองไปใช้ในวันนั้นได้ หากสมาชิกไม่มีทั้งบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) และบัตรลงคะแนนสํารอง สามารถขอยืมบัตรลงคะแนนพิเศษ (SP) จากเจ้าหน้าที่สํานักการประชุมเพื่อใช้ลงคะแนนได้ โดยสมาชิกจะต้องลงลายมือชื่อยืมในแบบพิมพ์ขอใช้บัตรลงคะแนนสํารอง พร้อมกรอกข้อมูลสมาชิก ประกอบด้วยชื่อ นามสกุล เลขที่ประจําตัว และพรรคที่สังกัด เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบ การลงคะแนนของสมาชิกให้สํานักการประชุมและชวเลข ขั้นตอนการลงคะแนนเริ่มจากประธาน ในที่ประชุมแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ผู้รับผิดชอบดูแลระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์จะเปิดระบบการลงคะแนน เมื่อระบบการลงคะแนนทํางานจะมีไฟกะพริบบนเครื่องอ่านบัตรพร้อมกัน 5 ดวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องกดปุ่มแสดงตน หลังจากนั้นประธานในที่ประชุมจะแจ้งปิดการแสดงตน เมื่อปิดระบบการลงคะแนนแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดึงบัตรลงคะแนนออกไฟที่กะพริบนั้นจะดับ จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลเสดสารารแสดงตนต่อที่ประชุม เมื่อแสดงตนเสร็จแล้ว ประธานในที่ประชุมจะแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนน ซึ่งจะมีการเปิดระบบ การลงคะแนน เมื่อมีการเสียบบัตรแล้วต้องกดปุ่มแสดงตนและกดปุ่มลงคะแนนเพื่อแสดงว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง เครื่องอ่านบัตรแต่ละเครื่องสามารถใช้บัตรลงคะแนนของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดและจํานวนเท่าใดก็ได้ ทําให้สามารถใช้บัตรลงคะแนนของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนหลายใบใส่ลงในช่องเครื่องอ่านบัตรเครื่องเดียวกันได้ในช่วง ระยะเวลาที่ยังไม่ปิดระบบการลงคะแนน แต่หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บัตรลงคะแนน (บัตรจริง) และบัตรลงคะแนนสํารองของตนต่อเนื่องกัน ระบบการลงคะแนนจะบันทึกผลการลงคะแนนเฉพาะบัตรลงคะแนนที่ใช้ครั้งแรกเท่านั้น เพราะบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) และ บัตรลงคะแนนสํารองมีรหัสและข้อมูลเหมือนกัน ระบบการลงคะแนนจะบันทึกข้อมูลจากฐานข้อมูล แล้วแสดงผลในรายงานการออกเสียงลงคะแนนเฉพาะชื่อ นามสกุล เลขที่สมาชิก พรรคที่สังกัด และเวลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ได้ประชุมเพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขณะนั้นจําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัด สกลนคร สังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นด้วย โดยจําเลยในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ครั้นเวลา 18.29 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...มาตรา 6 จําเลยนํา บัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหลายใบมาใช้แสดงตนและออกเสียง ลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น โดยเสียบบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ดังกล่าว หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรแล้วกดปุ่มแสดงตนและลงมติในการลงคะแนนคราวเดียวกัน ต่อมาเวลา 22.17 นาฬิกา ประธานในที่ประชุมแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของ ประเทศ พ.ศ.มาตรา 20 จําเลยนําบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหลายใบมาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น โดยเสียบบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ดังกล่าว หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรแล้วกดปุ่มแสดงตนและลงมติในการลงคะแนนคราวเดียวกัน วันที่ 12 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญมีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม
@ นริศร ทองธิราช
@ ป.ป.ช.ชี้มูลใช้อํานาจโดยมิชอบ
วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทําของจําเลยมีมูลความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบมาตรา 192 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 172 ประกอบมาตรา 198 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบมาตรา 91 ประมวลกฎหมายอาญา
@เจตนากระทำผิด ต่างกรรมต่างวาระ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุมีการแสดงตนและออกเสียง ลงคะแนนร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มาตรา 6 และมาตรา 20 จําเลยนําบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหลายใบมาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น โดยเสียบบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรแล้วกดปุ่มแสดงตนและลงมติในการลงคะแนนคราวเดียวกัน การกระทําของจําเลยเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย อันจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือการครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทั้งเป็นการขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ตามมาตรา 123 และ ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมนั้น ๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงเป็นการกระทําทุจริตต่อหน้าที่ตามบทนิยามของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 เช่นนี้ การกระทําของจําเลยจึงเป็นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน และผู้มีชื่ออื่น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็น ความผิดตามฟ้อง และแม้ว่าลักษณะการกระทําความผิดเป็นอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันก็ตาม แต่จําเลยกระทําความผิดแต่ละครั้ง ต่างเวลา มิได้กระทําต่อเนื่องกัน ทั้งเจตนาของจําเลยที่นําบัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นมาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มาตรา 20 ก็เป็นเจตนาขึ้นใหม่แยกต่างหากจากเจตนาแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มาตรา 6 ในตอนแรกซึ่งสําเร็จไปแล้ว แสดงว่าจําเลยมีเจตนากระทําความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน รวม 2 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และองค์คณะผู้พิพากษา เห็นว่าเมื่อจําเลย เป็นผู้ใช้บัตรลงคะแนน (บัตรจริง) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหลายใบมาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น ซึ่งเป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-4/2557 พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จําเลยไม่เคยได้รับโทษจําคุกมาก่อนหรือมีเหตุอื่นตามคําแถลงประกอบคํารับสารภาพของจําเลย ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการกําหนดโทษ หรือรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยได้ แต่เห็นควรลงโทษจําเลยในอัตราโทษจําคุกขั้นต่ำตามที่กฎหมายกําหนด
อนึ่ง ภายหลังการกระทําความผิด มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐองยการผูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ยังคงบัญญัติให้การกระทําตามฟ้องเป็นความผิดและมีระวางโทษเท่าเดิม จึงต้องลงโทษจําเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จําเลยกระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
@ สารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจําคุก กระทงละ 6 เดือน
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 การกระทําของจําเลยเป็น ความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 1 ปี
คําให้การรับสารภาพของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 12 เดือน
นับโทษจําคุกของจําเลยคดีนี้ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 22/2565 ของศาลนี้