"...กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตาย สามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม 'ตามลำดับ' ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากมีทายาทผู้มีสิทธิหลายคน ให้ที่ดินดังกล่าว ‘ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกัน’ ของ ‘ทายาททุกคน’..."
.......................................
สืบเนื่องจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการตกทอดทางมรดก และการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ที่ ครม. มีมติอนุมัติในหลักการไปเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@กำหนดเกณฑ์‘ที่ดิน ส.ป.ก.’ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม'ทุกคน'
หมวด 1 บททั่วไป (ร่างข้อ 1 ถึงร่างข้อ 2) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คำว่า “ส.ป.ก.” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคำว่า “ส.ป.ก.จังหวัด” หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
2.กำหนดให้ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ หรือในกรณีที่มีปัญหาไม่อาจตกลงกันได้เกี่ยวกับการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม และการโอนสิทธิในที่ดินตามกฎกระทรวงนี้ ให้ ส.ป.ก. เสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณา เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้ปฏิบัติไปตามนั้น
หมวด 2 การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม (ร่างข้อ 3 ถึงข้อ 6) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตาย สามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม 'ตามลำดับ' ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากมีทายาทผู้มีสิทธิหลายคน ให้ที่ดินดังกล่าว ‘ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกัน’ ของ ‘ทายาททุกคน’
เว้นแต่ทายาทตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ตัดสิทธิทายาทอื่น ในการที่จะเรียกร้องค่าที่ดินจากทายาทที่ได้รับการตกทอดทางมรดกที่ดินตามส่วนแห่งสิทธิของตนที่พึงมีตามกฎหมาย และทายาทอาจตกลงกันโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินไม่มีทายาท ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของ ส.ป.ก.
ทั้งนี้ เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรา 1745 มาตรา 1750 มาตรา 1751 และมาตรา 1753 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่าที่ไม่ขัดกับการคุ้มครองที่ดินเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
2.กำหนดให้ทายาทผู้รับที่ดินมรดก ต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตาย ซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก. อันเนื่องมาจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3.กำหนดให้ทายาทผู้รับที่ดินมรดก ใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก. ทั้งนี้ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองที่ดินตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
ให้สอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 1347/2563 เรื่อง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรณีที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
4.กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ ส.ป.ก.จังหวัด ทราบถึงการจดทะเบียนสิทธิ์ในที่ดินซึ่งได้มาโดยทางมรดกดังกล่าว
@ให้‘สถาบันเกษตรกร’รับโอนสิทธิ‘ที่ดิน ส.ป.ก.’เพื่อชำระหนี้ได้
หมวด 3 การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร (ร่างข้อ 7 ถึงข้อ 12) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมี 'หนี้สินค้างชำระ' กับสถาบันเกษตรกร โดยให้สถาบันเกษตรกรยื่นคำร้องพร้อมเอกสารและหลักฐาน ณ ส.ป.ก.จังหวัด หรือโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2.กำหนดให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดิน ต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด
โดยมีแผนงานและโครงการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งยินยอมรับสิทธิหน้าที่ และความรับผิดที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น อันเนื่องมาจากการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
3.กำหนดให้ ส.ป.ก.จังหวัด ออกหนังสือรับรองให้แก่สถาบันเกษตรกร ที่มีลักษณะตามที่กำหนดภายใน 30 วันนับแต่ได้รับคำร้อง
4.กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน ในฐานะผู้โอน กับสถาบันเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองจาก ส.ป.ก. ในฐานะผู้รับโอน และให้เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ ส.ป.ก.จังหวัด ทราบถึงการจดทะเบียนสิทธิในที่ดินดังกล่าว
5.กำหนดให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก. ทั้งนี้ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองที่ดินตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
ให้สอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 1347/2563 เรื่อง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรณีที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
@สำนักงานฯมีสิทธิรับโอน‘ที่ดิน ส.ป.ก.’คืน แลกจ่ายค่าตอบแทน
หมวด 4 การโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. (ร่างข้อ 13 ถึงข้อ 17) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน ที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทน หรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล โดยให้ผู้ได้รับสิทธิ์ในที่ดินยื่นคำร้องพร้อมเอกสารและหลักฐาน ณ ส.ป.ก.จังหวัด หรือโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2.กำหนดให้ ส.ป.ก.จังหวัด จัดส่งคำร้องพร้อมทั้งความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดินให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความหมาะสมทางการเกษตร ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก.
ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินเสนอ (หากมี)
3.กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้ เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น เว้นแต่กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน ซึ่งใช้สอยที่ดินนั้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการรับโอนสิทธิในที่ดินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
4.กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิในที่ดินได้ โดย
1) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดิน จะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็น แต่ไม่เกินกว่า ‘หนึ่งเท่าครึ่ง’ ของราคาประเมินดังกล่าว
2) กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน ซึ่งใช้สอยที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดิน จะต้อง ‘ไม่เกินกว่า’ ราคาค่าเช่าซื้อที่ดิน ที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ ‘หักกลบลบหนี้’ ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคำสั่งรับการโอนสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวด้วย
5.กำหนดให้ ส.ป.ก. แจ้งผลการพิจารณาให้ ส.ป.ก.จังหวัด ทราบโดยเร็วและให้ ส.ป.ก.จังหวัด แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินทราบภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของ ส.ป.ก. พร้อมกำหนดวันเวลาเข้าทำสัญญาและจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา
@ครม.รับความเห็น‘มหาดไทย’ไปปรับปรุงร่างกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ให้ส่ง ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย ที่เห็นว่าควรเพิ่มเติมความในข้อ 6 ที่ระบุว่า
“ในกรณีผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตาย และ ส.ป.ก.จังหวัด พิจารณาให้ทายาทโดยธรรมเป็นผู้รับมรดกในที่ดินนั้นแล้ว ให้ ส.ป.ก.จังหวัดท้องที่แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนสิทธิในที่ดินซึ่งได้มาโดยทางมรดกให้แก่ทายาทโดยชอบธรรม
เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเสร็จแล้ว ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ ส.ป.ก.จังหวัดท้องที่ อันเป็นที่ตั้งของที่ดินนั้นทราบรายละเอียดการจดทะเบียนสิทธิดังกล่าว” ไปประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ด้วย แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ‘คณะกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบ’ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 และครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 นั้น
ที่ประชุมได้พิจารณา ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... (เดิม คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไจการตกทอดทางมรดก และการโอนที่ดินที่บุคคลได้รับโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ...) และมีความเห็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น คือ
1.กรณีเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงได้กำหนดเกี่ยวกับการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมนั้น เห็นว่า เป็นการกำหนดสิทธิแก่ทายาททุกคน จึงไม่ขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2.กรณีการกำหนด ‘ค่าตอบแทน’ การโอนสิทธิในที่ดิน ให้แก่ผู้โอนสิทธิในที่ดิน คือ ส.ป.ก. ตามร่างกฎกระทรวงฯ ไม่ใช่เป็นการจัดซื้อที่ดินตาม มาตรา 19 (2) และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
แต่เป็นการโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ตามนัยมาตรา 39 เพื่อนำที่ดินมาหมุนเวียนให้เกษตรกรตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งสามารถใช้จ่ายเงินจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
อนึ่ง จากข้อมูลรายงานประจำปี 2566 ของสำนักงาน ส.ป.ก. ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค.2566 พบว่า ณ วันที่ 2 ต.ค.2565 สำนักงาน ส.ป.ก. มีการมอบสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. (ส.ป.ก.4-01) ให้เกษตรกรทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 2,066,200 ราย จำนวน 2,787,833 แปลง เนื้อที่รวม 31,892,597 ไร่
อ่านประกอบ :
ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงใหม่ โอนที่ดิน ส.ป.ก.ถึงทายาทได้
ต้องเยียวยาผลกระทบ! รัฐรับข้อเสนอ‘กสม.’แนะแก้ปมไล่ชาวบ้านพ้น‘ที่ดิน ส.ป.ก.’ทับซ้อนผืนป่า