'...ละเอียดยิบ 15 หน้า คำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธณ์ในศาลฎีกา คดี‘ธณิกานต์’ อดีต สส. พปชร.เสียบบัตรลงคะแนน แทนกัน ยืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขัดต่อหลักการออกเสียง ไม่ซื่อสัตย์ กระทำผิดตาม กม.ป.ป.ช. มาตรา 172 จำคุก 1 ปี ปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษ 2 ปี...'
นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลพิพากษากระทำความผิดกรณี เสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัว สส. ลงคะแนนแทนกันในการประชุมสภาพิจารณา ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ… จำนวน 2 คดี
1.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อม.15/2565) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้ว
(ข่าวเกี่ยวข้อง:ศาลฎีกาฯสั่งคุก 1 ปีรอลงโทษ 2 ปี 'ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์' ส.ส.พปชร.คดีเสียบบัตรแทนกัน , คำพิพากษาฉบับเต็ม!คดีเสียบบัตรแทนกัน ตัวอยู่นอกสภาฯ คุก 1 ปี ส.ส.'ธณิกานต์' รอลงโทษ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 องค์คณะวินิจฉัยอุทธณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.1 /2566 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.9 /2566 วันที่ 20 ก.ค.2566 (ข่าวเกี่ยวข้อง: ที่ประชุมศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสน 'ธณิกานต์' คดีเสียบบัตรแทนกัน)
2.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่ากรตรวจเงินเผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง วันที่ 3 ส.ค. 2566 ศาลฎีกาพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 89 ประกอบมาตรา 81 สำนักข่าวอิศรารายงานแล้ว
(ข่าวเกี่ยวข้อง: ถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดไป! ศาลฎีกาลงโทษ'ธณิกานต์' อดีตสส.พปชร.คดีจริยธรรมเสียบบัตรแทน,ปิดฉากชีวิตการเมือง! ฉบับเต็มคำพิพากษาศาลฎีกาลงโทษ 'ธณิกานต์' คดีจริยธรรมเสียบบัตรแทน )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำคำพิพากษาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธณ์ในศาลฎีกาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ในคดีแรก ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ เนื้อหาจำนวน 15 หน้า มารายงาน
องค์คณะวินิจฉัยอุทธณ์พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เรียบเรียงรายละเอียดดังนี้
วันที่ 20 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2566
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ กับ นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 3 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2565
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับวันที่ 25 เดือน เมษายน พุทธศักราช 2566
@เปิดคำฟ้อง เหตุเกิด 8 ส.ค. 2562 ลงมติ ร่าง กม.ฉบับสำคัญ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 7 (บางชื่อ-ดุสิต) กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลากลางวัน จำเลยลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...โดยไม่ได้ลาประชุม แต่ระหว่างเวลา 13.30 ถึง 15 นาฬิกา จำเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุมและได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของจำเลยไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น
หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรของจำเลยแสดงตนและลงมติแทนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว วาระที่หนึ่ง เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่สาม เวลา 14.01 นาฬิกา โดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น
หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน ที่จำเลยทราบดีว่าไม่อาจกระทำการแทนกันได้ ส่งผลให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย ถือเป็นมติที่ไม่ชอบ เป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎรและกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
จำเลยให้การปฏิเสธ
@ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก 1 ปี และปรับ 2 แสน บาท รอการลงโทษ 2 ปี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
@ ใช้บัตรฯลงมติช่วงเดียวกับมีงานสัมมนาภายนอกสภาฯ
พิเคราะห์คำฟ้องและเอกสารประกอบคำฟ้อง คำให้การ สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พยานหลักฐานที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวน ตลอดจนอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 7 (บางชื่อ-ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 จำเลยซึ่งจัดทำโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลา 13 ถึง 15 นาฬิกา ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เชิญพันเอกอดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ เป็นวิทยากร ตามสำเนาบันทึกข้อความและหนังสือเอกสารหมาย จ.14
ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ณ ห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา (ห้องจันทรา อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ชั้น 2 ซึ่งมีที่นั่งและช่องเสียบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน จำเลยลงลายมือชื่อเข้าร่วมประชุมโดยไม่ได้ลาประชุม ในวันดังกล่าวที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... วาระที่หนึ่ง และลงมติเวลา 13.41 นาฬิกา โดยมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยในการลงมติ ลำดับที่ 143 เลขที่บัตร 150 ตามรายงาน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 489 เอกสารหมาย จ.11 วาระที่สอง มีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา และวาระที่ 3 ที่ประชุมลงมติเวลา 14.01 นาฬิกา โดยมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยในการลงมติ ลำดับที่ 143 เลขที่บัตร 150 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 513 เอกสารหมาย จ.11
หลังจากนั้นเวลา 14.34 นาฬิกา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร พ.ศ... ซึ่งมีการตรวจสอบองค์ประชุมเวลา 15.05 นาฬิกา แต่จำเลยไม่แสดงตน ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 624 ถึง 636 เอกสารหมาย จ.11 ต่อมาเวลา 15.19 นาฬิกา ที่ประชุมลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ข้อ 3 โดยจำเลยลงมติ ลำดับที่ 131 เลขที่บัตร 150 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 643 เอกสารหมาย จ.11 จากนั้นจำเลยก็ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ...อีกหลายครั้งจนกระทั่งเสร็จสิ้นการประชุมในเวลา 17.50 นาฬิกา
ในวันดังกล่าวระหว่างเวลา 13 ถึง 15 นาฬิกา มีการจัดงานเสวนาตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง การเลี้ยง ดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีจำเลย พันเอกอดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ และนางสาวทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ เป็นวิทยากร
@ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้ความตามทางไต่สวนประกอบกัน หาใช่ดูเพียงสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่อยู่ในห้องประชุมในช่วงเวลาตามฟ้อง การวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลย โดยผลักภาระการพิสูจน์ให้จำเลยไม่ได้นั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีศาลต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 วรรคแรกที่บัญญัติว่า
“การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น ...”
และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือของคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณาและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้...”
กับวรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้...”
อันจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ใช้ระบบไต่สวนโดยยึดสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดแนวทางการแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้นตามที่ปรากฎในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
นอกจากนี้ในการพิพากษาคดีนั้นศาลต้องยึดถือหลักการสำคัญในคดีอาญาที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227
ซึ่งในการรับฟังพยานหลักฐานนั้นหากทางไต่สวนปรากฎว่า มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย ศาลย่อมต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากประจักษ์พยานเป็นสำคัญ แต่หากไม่มีประจักษ์พยาน ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานอื่นและพฤติการณ์แวดล้อมในคดี รวมถึงเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอและมีความเชื่อมโยงถึงตัวจำเลย ประกอบการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลยได้ มิใช่ว่าหากไม่มีประจักษ์พยานแล้วจะไม่สามารถลงโทษจำเลยได้เสมอไป
ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้โอกาสโจทก์และจำเลยนำพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยแล้ว และยังได้เรียกพยานบุคคลมาไต่สวนเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรด้วย
ฉะนั้น การที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้ความตามทางไต่สวนทั้งหมดประกอบกัน หาใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฟังแต่เพียงสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
@พยาน 2 คนให้การ เป็นวิทยากรอยู่นอกสภาฯร่วม ‘แอฟ-ทักษอร’ สอดคล้อง Google Maps
เมื่อทางไต่สวนได้ความจากคำเบิกความของพันเอกอดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ ประจักษ์พยานโจทก์ว่า จำเลยมีหนังสือ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เชิญพยานให้เป็นวิทยากร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เนื่องจากจำเลยได้จัดทำโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง “การเลี้ยง ดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล” ในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลา 13 ถึง 16 นาฬิกา ตามเอกสาร หมาย จ.14 พยานเดินทางถึงสถานที่จัดงานเวลา 12.29 นาฬิกา และออกจากงานในเวลา 15 นาฬิกา ตามบันทึกไทม์ไลน์ส่วนตัวใน Google Maps เอกสารหมาย จ.16 ได้บันทึกไว้
พยานจำได้ว่าเมื่อถึงเวลา 1 นาฬิกา งานยังไม่เริ่มเนื่องจากมีคนมาแจ้งว่าขอเลท (late) จากนั้นอีกสักพักจำเลยมาถึงงานและได้มีการพูดคุยเตรียมงานก่อนขึ้นเวทีเสวนากับพยานและนางสาวทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ ต่อมาพิธีกรได้เชิญขึ้นเวทีเสวนาขณะนั้นเวลาประมาณ 13.30นาฬิกา โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 15 นาที ก่อนออกจากสถานที่จัดงานพยานกับจำเลยและนางสาวทักษอรได้ถ่ายรูปร่วมกันบนเวที เมื่อลงจากเวทียังได้พูดคุยกับจำเลยและนางสาวทักษอรเป็นเวลาสั้น ๆ จากนั้นพยานใช้เวลาอีกประมาณ 15 นาที ในการพูดคุยกับผู้มาร่วมงานจนถึงเวลา 15 นาฬิกา พยานจึงออกจากสถานที่จัดงาน
โดยมีบันทึกไทม์ไลน์ใน Google Maps ยืนยันว่า พยานออกจากสถานที่จัดงานเวลา 15 นาฬิกา พยานเบิกความในชั้นไต่สวนของศาลและในชั้นขี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงตรงกันตามลำดับเหตุการณ์ที่พยานมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และพยานเดินทางเข้าร่วมงานเสวนาตามที่นัดหมายไว้โดยมาถึงก่อนเวลา
แสดงให้เห็นว่าพยานให้ความสำคัญกับงานดังกล่าว และมิได้มีความรีบร้อนหรือเร่งรีบ ย่อมมีเวลาเพียงพอในการสังเกตเหตุการณ์และขั้นตอนการดำเนินงานเสวนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ช่วงเวลาตามคำเบิกความของพยานสัมพันธ์กับข้อมูลตามที่ Google Maps ส่วนตัวบันทึกไว้ อันเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่น่าเชื่อถืออย่างไร
ทั้งยังสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับขั้นตอนและใกล้เคียงกับเวลาการจัดงานเสวนา ประกอบกับข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ได้จากการลงทะเบียนใน Google Maps ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อใช้ในการหาไทม์ไลน์หรือช่วงเวลาการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและติดตามกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เชื่อว่าเป็นข้อมูลตามความเป็นจริงที่เชื่อถือได้ หาใช่เป็นเพียงการคาดคะเนของพยานอย่างเลื่อนลอยดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
พันเอกอดิสรณ์ ยังเบิกความยืนยันว่าพบจำเลยก่อนเวลา 13.30 นาฬิกา การเสวนาบนเวที่ใช้เวลาไม่เกิน 14.30 นาฬิกา หลังจากนั้นพยานยังได้รับมอบของที่ระลึกจากจำเลยด้วย สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความรับว่า เดินทางไปร่วมงานเสวนาดังกล่าว ร่วมถ่ายรูปและแจกของที่ระลึกให้วิทยากรอื่นหลังเสร็จงานเสวนา
@ น่าเชื่อ ไม่มีเหตุโกรธเคือง ต้องปรักปรำจำเลย
นอกจากนี้นางสาวอัจฉรา ชินนิยมพาณิชย์ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดงาน (ออแกไนเซอร์) เบิกความว่า จำเลยมาถึงงานเสวนาเวลาประมาณ 13.30 นาฬิกา และทุกคนลงจากเวทีเวลาประมาณ 14 นาฬิกา สอดคล้องกับที่ให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือลงวันที่ 1 เมษายน 2563 เอกสารหมาย จ.24 เจือสมกับคำเบิกความของพันเอกอดิสรณ์ ประจักษ์ พยานโจทก์ อันทำให้คำเบิกความและบันทึกถ้อยคำของพันเอกอดิสรณ์มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยพยานทั้งสองไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีเหตุที่ต้องเบิกความและให้การปรักปรำจำเลย คำเบิกความและคำให้การของพยานทั้งสองปากนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้
@ บักทึกประจำวันแจ้งความ สน.มัดตัวเอง วันลงมติไม่อยู่ในสภา
ประกอบกับจำเลยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาลงวันที่ 22 มกราคม 2564 เอกสารหมาย จ.33 หน้า 955 ข้อ 2 ว่าในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ....ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยได้มีกิจธุระสำคัญต้องออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ โครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่แม่และเด็กในชุมชน
อีกทั้งจำเลยยังไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลากลางวัน มีผลการแสดงตนและลงมติในวาระที่หนึ่ง เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่สาม เวลา 14.01 นาฬิกา เป็นชื่อจำเลย ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... โดยจำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติดังกล่าว และจำเลยมิได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิส์ของตนไว้ให้แก่ผู้ใดและมิได้ยอมให้ผู้ใดแสดงตนหรือลงมติแทนแต่อย่างใด เพราะวันดังกล่าวจำเลยเร่งรีบออกไปร่วมงานเสวนา ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.19
แม้จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า จำเลยแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้ฝากบัตรไว้กับบุคคลอื่น ไม่อาจนำมารับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุม แต่เมื่อพิจารณาบันทึกประจำวันดังกล่าวแล้ว ปรากฎว่าจำเลยได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าในวันดังกล่าวจำเลยออกไปร่วมงานเสวนาและไม่ได้เป็นผู้ลงมติ ทั้งจำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยจำเลยได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว เป็นเวลานานถึงหนึ่งปีเศษ จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าตนอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและลงมติด้วยตนเองหรือไม่
@ข้อเท็จจริงชัด ออกไปร่วมงานเสวนาช่วงบ่าย
การที่จำเลยคงยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้งไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงเชื่อว่าข้อความที่จำเลยได้แจ้งความไว้นั้นเป็นความจริง อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาที่เกิดเหตุ เจือสมกับพยานหลักฐานอื่นตามทางไต่สวนของโจทก์ รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.19 ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟัง
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยได้เดินทางไปร่วมงานเสวนาก่อนเวลา 13.30 นาฬิกา และอยู่ร่วมงานเสวนาประมาณ 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะอยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรขณะที่มีการลงมติวาระที่หนึ่งเมื่อเวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่สาม เมื่อเวลา 14.01 นาฬิกา
@ บัตรฯมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการยากที่บุคคลอื่นนำไปใช้โดยผิดหลง
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ฝากหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยเพื่อให้บุคคลอื่นลงมติแทน ในวันเกิดเหตุเป็นวันแรกที่มีการใช้เครื่องลงมติและอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ มีปัญหาในการใช้งานห้องประชุมหลายประการ รวมถึงระบบลงคะแนนเกิดข้อผิดพลาดนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสดงตนและลงมติในเรื่องต่าง ๆเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัตรอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้ด้วยตนเอง และต้องมีความระมัดระวังในการเก็บรักษามากกว่าปกติ แต่กลับปรากฏว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปใช้เพื่อลงมติแทนในระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ในห้องประชุม ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของบัตรอิเล็กทรอนิกส์
ตามที่นางสาวสายฝน ไกรสมเลิศ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักการประชุมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เบิกความว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์จริงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 จะติดสติกเกอร์เลขที่และชื่อสกุลสมาชิกบนพื้นสติกเกอร์สีขาว อักษรสีดำ วิธีใช้คือ เสียบบัตรให้ชิปคว่ำลงไปในช่องเสียบบัตร เมื่อชิปคว่ำจะปรากฎชื่อสกุลของสมาชิกอยู่บนหัวบัตร ผู้ที่พบเห็นสามารถทราบว่าบัตรนั้นเป็นของผู้ใด จึงเป็นการยากที่จะมีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปใช้โดยผิดหลง
ซึ่งการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำหลายขั้นตอน แต่กลับมีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการระบุชื่อสกุลของจำเลยไว้ชัดเจนมาใช้ลงมติในระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ในห้องประชุม
@พฤติการณ์บ่งชี้ว่าต้องมีการคบคิดปรึกษากัน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าช่วงเวลา 13.41 นาฬิกา ถึง 14.01 นาฬิกา จำเลยไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจำเลยลงมติด้วยตนเองครั้งสุดท้ายเวลา 13.22 นาฬิกา ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 448 เอกสารหมาย จ.11 ก่อนออกไปงานเสวนา หลังจากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ....ต่อไปโดยมีการลงมติในการพิจารณาร่างฉบับดังกล่าว 2 ครั้ง คือเวลา 13.41 นาฬิกา และ 14.01 นาฬิกา อันเป็นการลงมติต่อเนื่องมาจากเวลา 13.22 นาฬิกา
ซึ่งการลงมติแทนจำเลยโดยมีเวลาต่อเนื่องกันเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าต้องมีบุคคลรู้ว่าจำเลยออกจากห้องประชุมเมื่อใด และจะกลับเข้ามาประชุมอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยมาเพื่อลงมติแทนได้ ทั้งเมื่อจำเลยกลับมาจากงานเสวนาได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงมติในการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ... อีก พฤติการณ์บ่งชี้ว่าต้องมีการคบคิดปรึกษากันมาก่อน
@ พิจารณา ร่าง กม.ฉบับสำคัญ ตัวเองมีงานข้างนอก แรงจูงใจจำเป็นต้องฝากบัตรลงคะแนน
ที่จำเลยอ้างว่าร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...ไม่มีการอภิปรายความเห็นที่แตกต่าง แม้จำเลยไม่อยู่ในห้องประชุมและไม่ได้ลงมติ ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายวิเชียร ชวลิต
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พยานจำเลยว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติสำคัญที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดต้องให้ความเห็นชอบ และต้องการที่จะแสดงออกว่าเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ กรณีจึงย่อมเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกต้องฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นใช้ลงมติแทนในขณะที่จำเลยไม่อยู่ในที่ประชุม
@ให้การ ขัดแย้งกัน กลับไปกลับมา
สำหรับข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยลงมติด้วยตนเองนั้น เห็นว่า จำเลยเคยมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาลงวันที่ 22 มกราคม 2564 เอกสารหมาย จ.33 ว่า ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ....จำเลยมีกิจธุระสำคัญต้องออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปร่วมงานเสวนาวิชาการ อันเป็นการให้ข้อเท็จจริงยอมรับทำนองว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุม แต่ต่อมาจำเลยกลับมีหนังสือเรื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เอกสารหมาย จ.37 ข้อ 1 อ้างว่า เนื่องจากวันนั้นมีการขอเปลี่ยนวาระการประชุม ให้นำร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...ขึ้นมาพิจารณาก่อน
จำเลยอยู่ลงมติด้วยตนเอง จนกระทั่งเลยกำหนดเวลาการจัดงานและมีการตามตัว จำเลยจึงรีบนั่งรถจักรยานยนต์ของทีมงานออกไป โดยใช้เวลาอยู่ที่งานประมาณ ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง อันเป็นการให้ข้อเท็จจริงยืนยันว่าจำเลยลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... ด้วยตนเอง ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยเคยให้การไว้ตามหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.33 ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.19 ว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติดังกล่าว เพราะในวันดังกล่าวจำเลยเร่งรีบออกไปร่วมงานเสวนา และจำเลยเบิกความต่อศาลในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565
สรุปความได้ว่า จำเลยไปร่วมงานเสวนาร่วมถ่ายภาพ และแจกของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมงานการแสดงผลลงมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ทั้งสองครั้งที่ถูกฟ้องนั้น น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของระบบ หรืออาจมีผู้อื่นกดปุ่มลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ลงมติด้วยตนเองสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามที่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและที่เคยให้การไว้ตามหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.33 ซึ่งแตกต่างจากข้ออ้างตามหนังสือเรื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.37 การให้การของจำเลยจึงมีลักษณะกลับไปกลับมา ไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยอยู่ลงมติด้วยตนเองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
@เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ขัดข้อง-ผิดพลาด
ส่วนที่จำเลยอ้างเกี่ยวกับความผิดพลาดของระบบลงคะแนนนั้น ได้ความจากพยานโจทก์ปากนายชัยรัตน์ ทาริยา เบิกความเกี่ยวกับการทำงานของระบบลงคะแนนว่า การจะปรากฎผลแสดงตนหรือลงมติว่ามีชื่อสมาชิกคนใดลงคะแนนอย่างไร จะต้องเริ่มจากประธานในที่ประชุมมีคำสั่งให้เปีดระบบชอฟแวร์ (Software) ซึ่งจะมีการล้างข้อมูลเก่าออกก่อน จากนั้นจะต้องเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของสมาชิกเข้าเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง กับต้องกดปุ่มลงคะแนนด้วย หากขาดขั้นตอนอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่ปรากฎชื่อหรือผลใด ๆ
โดยการทำงานของเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มีการทำงานร่วมกับระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) ได้แก่ เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แผงปุ่มลงคะแนน กับระบบซอฟแวร์ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ ในการเปิดปิดการลงคะแนน การคำนวณและประมวลผลคะแนน โดยมีบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลาง ทั้งปัญหาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแจ้งเหตุขัดข้อง ได้แก่ เครื่องเสียบบัตรค้าง กดลงคะแนนแล้วแต่เครื่องขึ้นว่ายังไม่ได้ลงคะแนน ออกเสียงว่าเห็นด้วยแต่เครื่องแจ้งว่างดออกเสียง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งทักท้วงต่อประธานในที่ประชุม และมีการบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.11
และเป็นกรณีที่สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับต้องกดปุ่มแสดงตนหรือลงมติด้วย ดังนั้น หากไม่มีการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์และกดปุ่มแล้ว หรือมีการเสียบบัตรค้างไว้แต่ไม่ได้กดปุ่มใดย่อมไม่อาจเกิดการประมวลผลใด ๆ ขึ้นได้ สำหรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการประมวลผลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 จำเลยได้ใช้บัตรเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติก่อนและหลังเวลาเกิดเหตุจำนวนหลายครั้ง
โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาว่ามีข้อผิดพลาดแต่อย่างใด แต่จำเลยกลับโต้แย้งเฉพาะเวลา 13.41 และ 14.01 นาฬิกาว่าระบบขัดข้องหรือผิดพลาด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นโดยจำเลยอยู่ในที่ประชุม หรือลงมติด้วยตนเองจริงจำเลยย่อมต้องแจ้งต่อที่ประชุมสภาถึงข้อผิดพลาดนั้นในทันที แต่ก็มิได้มีการแจ้งข้อขัดข้องเกี่ยวเนื่องกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแต่อย่างใด
นายชัยรัตน์ เป็นนักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการควบคุมระบบเสียงและระบบการลงคะแนนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นพยานคนกลางที่เบิกความ ตามข้อเท็จจริงจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ โดยไม่ปรากฎว่านายชัยรัตน์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนคำเบิกความของนายชัยรัตน์มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงเชื่อว่าระบบการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติไม่เกิดข้อขัดข้องหรือผิดพลาดดังที่จำเลยอ้าง
@พฤติการณ์แห่งคดีพยานหลักฐานแวดล้อม ฝากบัตรไว้กับ ส.ส.คนอื่น -อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีและพยานหลักฐานแวดล้อมมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นโดยความยินยอมของจำเลยเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยลงมติแทน เมื่อการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการกระทำใดเพื่อให้มีการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน
จึงเป็นการขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 120 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน และไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 72 วรรคสาม ที่การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้
อันถือเป็นการลงคะแนนที่ไม่สุจริต มีผลให้การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย และขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 115 ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และส่วนราชการ
ทั้งการที่จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยจำเลยยินยอมให้แสดงตนและลงมติแทน เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ... ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.1 /2566 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.9 /2566 วันที่ 20 ก.ค.2566)