"...พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกันมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น การออกเสียงลงคะแนนของผู้คัดค้านจึงเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ทั้งขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 ศาลฎีกา สนามหลวง มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ คมจ. 2/2564 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ ผู้คัดค้าน ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตร สส.แทนกันในการประชุมสภาพิจารณา ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า ให้ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ พ้นตำแหน่งตั้งแต่ 11 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งหยุดปฏิหน้าที่ ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป และถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินในคดีนี้ฉบับเต็ม ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2564 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลากลางวัน ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 7 (บางชื่อ - ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ....โดยไม่ได้ลาประชุม
แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมระหว่างเวลาประมาณ 13.30 ถึง 15 นาฬิกา
ผู้คัดค้านฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรของผู้คัดค้านอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของผู้คัดค้าน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น ใช้บัตรของผู้คัดค้านกดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ.... วาระที่ 1 เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่ 3 เวลา 14.01 นาฬิกา ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
มีผลกระทบต่อกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ กระทบต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย การกระทำของผู้คัดค้านเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภา แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร
ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 89
ผู้คัดค้านให้การปฏิเสธ
@ ข้ออ้างผู้คัดค้านเลื่อนลอย
องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานตามทางไต่สวนรับฟังได้ว่า ในช่วงเวลาที่มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ.... วาระที่ 1 เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่ 3 เวลา 14.01 นาฬิกา ผู้คัดค้านไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการที่ปรากฎชื่อผู้คัดค้านแสดงตนและลงมติทั้งสองครั้งมิได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผู้คัดค้านเป็นผู้เก็บรักษาบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติไว้กับตนเองและได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์นั้นลงมติมาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่องทั้งวัน โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในช่วงเกิดเหตุซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมง
กรณีจึงเป็นการยากที่จะมีผู้อื่นลักลอบเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของผู้คัดค้านไปและส่งกลับคืนให้โดยผู้คัดค้านไม่รู้เห็นได้
หากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงลงมติของผู้คัดค้านไปใช้แสดงตนและลงมติในเวลาเกิดเหตุโดยผิดหลงดังที่ผู้คัดค้านอ้าง การที่ผู้คัดค้านได้รับบัตรอิเล็กทรอนิกส์คืนมาก็แสดงว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นได้ทราบถึงความผิดหลงแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวน่าจะต้องตรวจสอบและแจ้งให้มีการแก้ไขผลการลงมติ แต่ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเกิดเหตุกลับไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายใดใช้บัตรผิดหลง ข้ออ้างของผู้คัดค้านจึงเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังได้
หากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติไม่ได้อยู่กับผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านกลับเข้ามาที่ห้องประชุมก็น่าจะต้องค้นหาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนให้ได้คืนมาก่อนจะลงคะแนนหลังเกิดเหตุ ซึ่งย่อมจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านและผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นรับรู้และจดจำเหตุการณ์ได้บ้าง แต่ผู้คัดค้านกลับกล่าวอ้างลอยๆ ว่าไม่ทราบว่าพบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใดและไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดเลย นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง ส่อแสดงว่าจะเป็นการบ่ายเบี่ยงเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนพร้อมทั้งปกปิดชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของผู้คัดค้าน
@ ไปเสวนาที่มีกำหนดการล่วงหน้าไม่ถือว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกันมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น การออกเสียงลงคะแนนของผู้คัดค้านจึงเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ทั้งขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่
โดยเฉพาะการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของผู้คัดค้านเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่สภาผู้แทนราษฎรและปวงชนชาวไทยแล้ว การกระทำของผู้คัดค้านถือได้ว่าเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฐานไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ฐานไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง
นอกจากนั้น การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวยังเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมโปร่งใสและตรวจสอบได้ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่มูลเหตุที่ทำให้ผู้คัดค้านกระทำการการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมส่วนนี้เกิดจากผู้คัดค้านได้เตรียมจัดงานเสวนาหัวข้อ "การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล" ซึ่งเป็นโครงการกิจกรรมวันแม่ประจำปี 2562 โดยกำหนดวันจัดงานไว้ล่วงหน้าและนัดหมายวิทยากรรวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์แก่ผู้มาร่วมงานไปก่อนแล้วประกอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว การกระทำในส่วนนี้จึงยังไม่พอถือได้ว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีลักษณะร้ายแรง
@ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ / ภาพจาก อุ๋ม ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ - Thanikan Pornpongsaroj
@ ไม่ถือเป็นการกระทำขัดขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
ส่วนข้อที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านมิได้กระทำไปในลักษณะที่เข้ามีส่วนได้เสียในการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่หรือมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบ หรือได้เข้าไปมีส่วนได้เสียหรือทำงานกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้คัดค้านให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเพื่อทำการแสดงตนและลงมติแทนนั้นก็ไม่ปรากฎว่าอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงำใด ๆ ของบุคคลอื่น กรณียังถือไม่ได้ว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมตามคำร้อง
พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่ากรตรวจเงินเผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 89 ประกอบมาตรา 81
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อนึ่ง สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นจำเลย กรณีเสียบบัตร สส.แทนกันในการประชุมสภาพิจารณา ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไปแล้ว
ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินลงโทษ 'ธณิกานต์' อดีตสส.พปชร. คดีฝ่าฝืนจริยธรรมเสียบบัตรแทนกัน ที่ให้พ้นตำแหน่งตั้งแต่ 11 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งหยุดปฏิหน้าที่ ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป และถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ปิดฉากชีวิตการเมืองเป็นทางการ!
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: