เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! คดีเสียบบัตรแทนกัน ‘ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์’ ส.ส.กทม. พปชร. ศาลฎีกาฯ จำคุก 1 ปี ปรับหนัก 2 เเสนบาท รอการลงโทษ 2 ปี พยานหลายปากตรงกัน บัตรลงคะแนนอยู่ในสภาฯถูกใช้หลายครั้ง แต่ตัวไปร่วมงานเสวนาข้างนอก ข้ออ้างเลื่อยลอย พฤติการณ์ไม่ร้ายแรงมากนัก มีเหตุสมควรปรานี เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 19/2564 คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ กรณี เสียบบัตรแทนกัน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อม.15/2565)
หลายคนอาจไม่ทราบ ข้อเท็จจริง ที่มาที่ไป และพฤติการณ์ในคดีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษาฉบับเต็ม เรียบเรียงมารายงาน
โจทก์ฟ้องว่า จําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 7 (บางซื่อ - ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีหน้าที่และอํานาจเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลากลางวัน จําเลยลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภา ผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... โดยไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม
ระหว่างเวลาประมาณ 13.30 ถึง 15 นาฬิกา จําเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรของจําเลยอยู่ในความครอบครองของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจําเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้น ใช้บัตรของจําเลยกดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนจําเลยในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญ ราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ....วาระที่ 1 เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่ 3 เวลา 14.01 นาฬิกา โดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน
ทั้งที่ทราบดีว่าสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งการออกเสียงลงคะแนนจะกระทําแทนกันมิได้ ส่งผลให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทยและถือเป็นมติที่มิชอบ อันเป็นการกระทําโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎรปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย รวมทั้งกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้รับความ เสียหาย เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
จําเลยให้การปฏิเสธ
ศาลใช้ระบบไต่สวนค้นหาความจริง ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยนําสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ตามมาตรา 6 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 เช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีภาระพิสูจน์ถึงการกระทําความผิดและเจตนาของจําเลยดังที่จําเลยแถลงปิดคดี แต่เป็นหน้าที่และอํานาจของศาลที่จะไต่สวนค้นหาความจริงแล้วใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงว่าความจริงรับฟังได้หรือไม่ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดตามฟ้อง
บัตรลงคะแนนอยู่ในสภาฯถูกใช้หลายครั้งแต่ตัวไม่อยู่
เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ประกอบสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และแถลงปิดคดีของจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 7 (บางซื่อ - ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าพนักงานของรัฐ มีหน้าที่และอํานาจเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา สภาผู้แทนราษฎรประชุมสมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง ที่ห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา (ห้องจันทรา) อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ชั้น 2 ซึ่งมีที่นั่งและช่องเสียบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน 500 คน จําเลยลงลายมือชื่อเข้าร่วม ประชุมด้วยโดยไม่ได้ลาประชุม ต่อมาก่อนเวลา 13.41 นาฬิกา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... โดยพิจารณา 3 วาระ วาระที่ 1 รับหลักการ ที่ประชุมลงมติ เวลา 13.41 นาฬิกา โดยมีการนําบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปใช้ลงมติ ลําดับที่ 143 เลขที่บัตร 150 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 489 เอกสารหมาย จ. 11 วาระที่ 2 มีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา
และวาระที่ 3 ที่ ประชุมลงมติ เวลา 14.01 นาฬิกา โดยมีการนําบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปใช้ลงมติ ลําดับที่ 143 เลขที่บัตร 150 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 513 เอกสารหมาย จ. 11
ต่อมาเวลา 14.34 นาฬิกา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... เวลา 15.05 นาฬิกา มีการตรวจสอบองค์ประชุม แต่จําเลยไม่ได้แสดงตน ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 624 ถึง 636 เอกสารหมาย จ. 11 เวลา 15.09 นาฬิกา
ที่ประชุมลงมติร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ....ข้อ 3 โดยจําเลยเป็นผู้ลงมติลําดับที่ 131 เลขที่บัตร 150 ตามรายงาน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 643 เอกสารหมาย จ. 11
หลังจากนั้นจําเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... อีกหลายครั้ง ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 หน้า 669 หน้า 683 หน้า 746 หน้า 761 หน้า 781 และหน้า 796 เอกสารหมาย จ. 11
ครั้นเวลา 17.50 นาฬิกา ประธานสั่งเลิกประชุม ซึ่งวันเดียวกันนั้น เวลา 13 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกา มีการจัดงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัล ที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการ กิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล โดยมีจําเลย พันเอกอดิสรณ์ ลําเพาพงศ์ และนางสาวทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ เป็น วิทยากร ซึ่งระหว่างประชุมสภาผู้แทนราษฎรจําเลยออกจาก ห้องประชุมไปร่วมงานเสวนาดังกล่าวด้วย
โผล่ร่วมงานเสวนาบทบาทของสตรีอีกสถานที่หนึ่ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัย ตามลําดับในปัญหาข้อแรกว่า จําเลยร่วมประชุมและลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาล ที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 หรือไม่
ทางไต่สวน พันเอกอดิสรณ์ เบิกความว่า พยานเดินทางไปถึงสถานที่จัดงานเวลา 12.29 นาฬิกา ตามที่ Google Map ส่วนตัวบันทึกไว้ เมื่อถึงเวลา 13 นาฬิกา งานยังไม่เริ่มเนื่องจากมีคนแจ้งว่าจําเลยจะมาช้า หลังจากนั้นอีกสักพักจําเลยมาถึงงาน และพูดคุยเตรียมงานก่อนขึ้นเวทีเสวนา เมื่อเตรียมตัวเสร็จเวลา 13.30 นาฬิกา พิธีกรเชิญขึ้นเวที เสวนาแล้วมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 15 นาที
จากนั้น พยาน จําเลย และนางสาวทักษอร ถ่ายรูปร่วมกันบนเวทีและถ่ายรูปร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมงานด้วย พยานออกจากสถานที่จัดงานเวลา 15 นาฬิกา ซึ่งคําเบิกความดังกล่าวตรงกับข้อมูลใน แอปพลิเคชั่น Google Map เอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 824 ที่ระบุว่า พันเอกอดิสรณ์อยู่ที่อาคารจัดงานเสวนาช่วงเวลา 12.29 ถึง 15 นาฬิกา
ทั้งจําเลยเบิกความรับว่า จําเลยอยู่ในงานเสวนานาน ประมาณ 30 นาที โดยพูดชักชวนให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาเข้าใจการมีส่วนร่วมของชุมชน บทบาทของสตรีในทุกช่วงวัย ความสําคัญของการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล ร่วมถ่ายรูปและแจกของที่ระลึก สอดคล้องกับคําเบิกความของพันเอกอดิสรณ์ และ นางสาวอัจฉรา ชินนิยมพาณิชย์ ผู้จัดงานโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน เบิกความว่า จําเลยมาถึงงานเสวนาหลังเวลา 13.30 นาฬิกา จําเลยอยู่ที่งานเสวนานานประมาณ 20 นาที โดยลงจากเวที ประมาณ 14 นาฬิกา
บ่งชี้ให้เห็นว่าจําเลยขึ้นเวทีเสวนากับพันเอกอดิสรณ์และนางสาวทักษอร เมื่อเสวนาเสร็จแล้วจําเลยร่วมถ่ายรูปและแจกของที่ระลึก เช่นนี้ แม้ทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ถึงเวลาแน่นอนที่จําเลยไปร่วมงานงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลและออกจากงานเสวนาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่จําเลยมาถึงงานเสวนาและเสวนาอยู่บนเวทีจนถึงเวลาที่จําเลยลงจากเวทีดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับรายงานประจําวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เอกสารหมาย ล. 19 ที่จําเลยแจ้งต่อร้อยตํารวจเอกชัชวาลย์ นิยมชาติ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาล บางโพ ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 มีผลการแสดงตนและลงมติในวาระที่ 1 เวลา 13.41 นาฬิกา และวาระที่ 3 เวลา 14.01 นาฬิกา เป็นชื่อจําเลย การประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... จําเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติดังกล่าว เพราะจําเลยเร่งรีบออกไปร่วมงานเสวนาเนื่องจากล่วงเลยกําหนดเวลาการจัดงานและถูกติดตามตัวแล้ว
เชื่อว่าช่วงเวลา 13.41 นาฬิกา ถึงเวลา 14.01 นาฬิกา จําเลยร่วมงานเสวนาแบ่งปันความรู้ บทบาทแม่ยุคดิจิทัล ที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล แล้วร่วมถ่ายรูปและแจกของที่ระลึก ที่จําเลยเบิกความอ้างว่า จําเลยจํารายละเอียดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันเกิดเหตุไม่ได้ เพราะระยะเวลาผ่านมานานแล้ว และจําเวลาที่ออกจากงานเสวนาไม่ได้นั้น เป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้างจึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยไม่ได้ร่วมประชุม และลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3
พยานยันระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไม่ผิดพลาด บกพร่อง
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติ เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 มีความผิดพลาดหรือบกพร่องหรือไม่
ทางไต่สวนนายชัยรัตน์ ทาริยา นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สํานักงานประชาสัมพันธ์ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบเสียงและ ระบบลงคะแนนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เบิกความว่า ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ภายในห้องประชุมรัฐสภาเป็นระบบลงคะแนนแบบดิจิทัลที่ต้องใช้ การทํางานร่วมกันระหว่างระบบ Hardware ได้แก่ เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แผงปุ่มลงคะแนน กับระบบ Software ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมคําสั่งคอมพิวเตอร์ในการเปิดปิดการลงคะแนน การคํานวณ และประมวลผลคะแนนโดยมีบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์หรือ Chip Card ที่บรรจุฐานข้อมูล หมายเลขประจําตัว ชื่อ-สกุล พรรคสังกัดของผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับระบบ ฐานข้อมูลกลางของชุดโปรแกรมคอมพิวเตอร์บริหารจัดการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารรับส่งข้อมูล ระหว่างระบบ Hardware และ Software
ซึ่งขั้นตอนการทํางานระบบการแสดงตน ประธาน สั่งให้แสดงตนเพื่อตรวจสอบจํานวนผู้เข้าร่วมประชุม/เสียบบัตร/แสดงผลจํานวนผู้เข้าร่วมประชุม และขั้นตอนการทํางานระบบการลงคะแนน ประธานสั่งให้สมาชิกลงคะแนนเสียง/เสียบบัตร/กดปุ่ม แสดงตน(อีกครั้ง)/กดปุ่มเพื่อลงมติเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง (สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงมติ ของตนเองได้)/ประธานสั่งปิดการลงคะแนนเสียง/แสดงผลการลงคะแนนเสียง/รายงานผลมติ เมื่อประธานที่ประชุมแจ้งปิดการลงมติ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมระบบปิดโปรแกรมฟังก์ชั่นการลงมติ พร้อมทั้งเข้าฟังก์ชั่นการแสดงผลการลงคะแนนผ่านระบบจอแสดงภาพภายในห้องประชุมและพิมพ์ ต้นฉบับเอกสารรายงานการลงมติของระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ให้เจ้าหน้าที่ของสํานักรายงาน การประชุมและชวเลขดําเนินการต่อไป ซึ่งเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบองค์ประชุมและ การลงมติของที่ประชุมสภา
เมื่อลงมติจบแต่ละครั้งหรือแต่ละมาตรา ระบบเครื่องลงคะแนนจะมีการล้างข้อมูล โดยระบบ Software จะเปิดและปิด ข้อมูลเก่าจะไม่ค้างในระบบ กล่าวคือ เมื่อประธานในที่ประชุมเปิดให้แสดงตนและสั่งให้ปิดการแสดงตน ระบบแสดงตนก็จะปิดโดยระบบ จะประมวลผลส่งผลไปยังหน้าจอ จากนั้นจะเริ่มการลงมติต่อไป (Start Vote) ซึ่งการกด Start Vote แต่ละครั้งจะทําให้ผลใด ๆ ก่อนหน้าจะล้างข้อมูลออกทันที โดยสรุปการทํางานของเครื่องลงคะแนน เกิดจากระบบ Software กล่าวคือ ระบบควบคุมเปิดและปิดของเจ้าหน้าที่ที่จะเปิดปิดตามคําสั่ง ของประธานในที่ประชุม ส่วนระบบ Hardware คือ เครื่องลงคะแนนและบัตรลงคะแนน เป็นการดําเนินการของสมาชิกแต่ละคน โดยหากยังไม่เปิดระบบ Software ตามคําสั่งของประธานใน ที่ประชุม ระบบ Hardware ก็ไม่สามารถใช้งานและประมวลผลได้ แต่สามารถใช้ได้เฉพาะระบบ ไมโครโฟนในการอภิปรายเท่านั้น
แม้เสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือกดปุ่มใดในขณะที่ยังไม่เปิดระบบ Software ก็จะไม่มีการประมวลผลการแสดงตนและลงมติ ก่อนประชุมสภาทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ กลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ติดตั้งจะต้องตรวจสอบการทํางานของระบบทั้ง Software และ Hardware กล่าวคือ ตรวจสอบทุกฟังก์ชั่นของระบบ Software และเครื่องลงคะแนนทุกเครื่อง ระบบไมโครโฟน ไฟสถานะของเครื่องอ่านบัตร โดยใช้บัตรฐานข้อมูลทดสอบ ที่ไม่ใช่ฐานข้อมูลของสมาชิก (Hardware) ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ร้อยละร้อย
ซึ่งการตรวจสอบ ทุกครั้งอุปกรณ์ทุกหน่วยทั้งบนบัลลังก์และแถวที่นั่งของสมาชิกไม่เคยมีปัญหาของระบบ นายชัยรัตน์ มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการควบคุมระบบเสียงและระบบลงคะแนนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เบิกความตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็นจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ คําเบิกความของนายชัยรัตน์ จึงมีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงได้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงการแสดงตนและลงมติ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรของจําเลยก่อนและหลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 เอกสาร หมาย จ. 11 ที่ไม่ปรากฏว่าการแสดงตนและลงมติของจําเลยมีความผิดพลาดหรือบกพร่องเกี่ยวกับระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์หรือจําเลยได้ทักท้วงเกี่ยวกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยในการแสดงตนและลงมติแต่อย่างใด
และข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 เอกสารหมาย จ. 11 ได้ความว่า วันเกิดเหตุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แจ้งเหตุขัดข้องในการแสดงตนและประมวลผลต่อประธานในที่ประชุม ได้แก่ เครื่องเสียบบัตรค้าง กดลงคะแนนแล้ว แต่เครื่องเสียบบัตรขึ้นสถานะว่ายังไม่ได้ลงคะแนน เสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนแล้ว แต่เครื่องเสียบบัตรแสดงสถานะว่าบัตรใช้ไม่ได้ กดออกเสียงลงคะแนนว่าเห็นด้วย แต่เครื่องเสียบบัตรแจ้งว่างดออกเสียง ซึ่งเหตุขัดข้องดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าระบบลงคะแนน อิเล็กทรอนิกส์ทํางานครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว แต่อาจเกิดความผิดพลาดหรือบกพร่องของการประมวลผลเท่านั้น
ทั้งความผิดพลาดหรือบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ในห้องประชุมได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์และทักท้วงทันที่ที่พบข้อผิดพลาดหรือบกพร่องนั้น ทําให้ ข้ออ้างที่ปรากฏตามทางไต่สวนของจําเลยเกี่ยวกับความผิดพลาดหรือบกพร่องของระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์รับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 ไม่มีความผิดพลาดหรือบกพร่อง
ข้ออ้าง จําไม่ได้ว่าขณะร่วมเสวนาฯ บัตรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ใด เลื่อนลอยรับฟังไม่ได้
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จําเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจําเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตร อิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .. วาระที่ 1 และวาระที่ 3 แทนจําเลยหรือไม่
เห็นว่า แม้ห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา (ห้องจันทรา) อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ชั้น 2 มีที่นั่งและช่องเสียบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงพอต่อการ ใช้งานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน 500 คนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคําเบิกความ ของนายชัยรัตน์ว่า เมื่อสมาชิกใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงมติเข้ากับเครื่องอ่านบัตรเครื่องใดแล้วสามารถ ดึงบัตรหน่วยนั้นออกจากเครื่องอ่านบัตรได้ โดยเผื่อเวลาการส่งข้อมูลไปยังระบบคอมพิวเตอร์ ประมาณ 2 ถึง 5 วินาที เนื่องจากระบบเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ภายในห้องประชุมรัฐสภา มีจํานวนหลายร้อยหน่วยจึงต้องใช้เวลารับส่งข้อมูลระหว่างเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์แต่ละหน่วยกับระบบประมวลผลส่วนกลาง
ข้อมูลที่ลงมติจะเข้าสู่ฟังก์ชันการคํานวณและประมวลผลคะแนนของระบบคอมพิวเตอร์สั่งการโดยอัตโนมัติและข้อมูลจะไม่สูญหาย สมาชิกยังสามารถใช้ บัตรอิเล็กทรอนิกส์หน่วยอื่นมาเสียบและกดลงมติในเครื่องอ่านบัตรเครื่องเดิมได้ทันที โดยระบบจะคํานวณและประมวลผลข้อมูลของบัตรที่สมาชิกเสียบและกดปุ่มลงคะแนนเข้ามาใหม่โดยอัตโนมัติ
เช่นนี้ ระหว่างที่ประธานในที่ประชุมยังไม่ได้สั่งปิดการลงคะแนน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ช่องเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนเสียงได้ ซึ่งเป็นช่องทางให้นําบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นมาลงคะแนนเสียงได้โดยง่ายและไม่มีผู้ใดรู้เห็น
เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์จะปรากฏชื่อจําเลยแสดง ตนและลงคะแนนเมื่อมีการเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยเข้าเครื่องเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนแล้ว จึงเชื่อว่าขณะที่มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระ ที่ 1 และวาระที่ 3 นั้น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยต้องอยู่ในห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา (ห้องจันทรา)
ทั้งทางไต่สวนที่จําเลยอ้างว่า จําเลยจําไม่ได้ว่าขณะที่จําเลยไปร่วมเสวนานั้น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยอยู่ที่ใด จําเลยจําไม่ได้ว่าลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเบิกบัตรสํารองหรือไม่ จําไม่ได้ว่าเมื่อกลับจากงานเสวนาพบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยที่ใด และบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นบัตรชั่วคราวที่ไม่มีรูปและพิมพ์ชื่อที่ชัดเจน ทําให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น อาจนําไปใช้โดยหลงผิดนั้น เป็นการเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงได้
พฤติการณ์ทำให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฝากไว้กับ ส.ส.รายอื่นโดยยินยอมให้นำบัตรฯไปใช้
และที่จําเลย อ้างว่าจําเลยไม่จําต้องฝากบัตรอิเล็กทรอกนิกส์เพื่อลงมติให้ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาล ที่ 10 พ.ศ. . ผ่านความเห็นชอบนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคําเบิกความนายวิเชียร ชวลิต ผู้ควบคุมเสียงฝ่ายรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ว่า ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... เป็นร่างพระราชบัญญัติสําคัญที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบและจําเลยเบิกความว่า ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน่าจะต้องเห็นชอบทั้งหมด
แต่จําเลยกลับไม่อยู่ในที่ประชุมเพื่อลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แสดงถึงการไม่ให้ความสําคัญต่อร่างพระราชบัญญัตินั้น ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบอันเป็นการขัดแย้งกันในตัวเอง จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจําเลยต้องการแสดงให้เห็นว่าจําเลยลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... ด้วย ข้ออ้างของจําเลยดังกล่าวรับฟังเป็นความจริงไม่ได้เช่นกัน
ดังนี้ เมื่อจําเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรขณะที่มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระ ที่ 1 และวาระที่ 3 แต่มีการนําบัตรอิเล็กทรอกนิกส์ของจําเลยไปใช้ลงมติ ประกอบกับระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีความผิดพลาดหรือบกพร่อง และช่องเสียบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นช่องทางให้สามารถนําบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นมาลงมติได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว
แม้ทางไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจําเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจําเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทําให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจําเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยแสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 แทนจําเลย
การออกเสียงลงคะแนนพิจารณาร่าง กม. เป็นสิทธิเฉพาะตัว ส.ส. ให้ใครทำแทนไม่ได้
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือไม่
เห็นว่า การออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเข้าประชุมและอยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีการออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น การกระทําใดเพื่อให้มีการออกเสียงลงคะแนนแทนกันจึงเป็นการขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 120 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน
และไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 72 วรรคสาม ที่กําหนดว่า การออกเสียงลงคะแนนจะกระทําแทนกันไม่ได้ อันเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต มีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย การกระทําของจําเลยจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นองค์กรที่ทําหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว แม้จะไม่ทําให้กระบวนการตรากฎหมายเสียไป
ส่วนที่จําเลยมีเอกสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนโดยเด็ดขาดผู้ใดจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวจําเลย ในทางใด ๆ มิได้นั้น การใช้เอกสิทธิ์ดังกล่าวย่อมต้องชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ภายใต้คําปฏิญาณว่าตนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วย ทั้งเอกสิทธิ์ดังกล่าวมิได้หมายความรวมถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมอบหมายให้ผู้อื่นลงมติแทนตนได้ เพราะจะเป็นการใช้เอกสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ความคุ้มครองมากระทําการละเมิดหรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียเอง
เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
องค์คณะเสียงเอกฉันท์เห็นว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
และองค์คณะเสียงข้างมาก เห็นว่า การที่จําเลยซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ แต่กลับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจําเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจําเลยแสดงตนและลงมติร่าง พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... วาระที่ 1 และวาระที่ 3 แทนจําเลยดังวินิจฉัยข้างต้น เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรณีที่จําเลยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเอง ถือได้ว่าเป็นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย ดังนี้ จําเลยจึงกระทําความผิดตามฟ้อง
มูลเหตุกระทำผิด ไปร่วมงานเสวนา พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เพื่อให้หลาบจํา ลงโทษปรับในสถานหนัก
อย่างไรก็ตามองค์คณะเสียงข้างมาก เห็นว่า มูลเหตุที่ทําให้จําเลยกระทําความผิดครั้งนี้เกิดจากจําเลยต้องไปเป็นวิทยากรในงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนน นครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่อง การเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่จัดขึ้นใน ช่วงเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .ซึ่งเป็นกฎหมายที่สําคัญ
ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยกระทําผิดหรือได้รับโทษจําคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จําเลยเพื่อให้โอกาสจําเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จําเลยหลาบจําเห็นควรลงโทษปรับจําเลยในสถานหนัก
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จําคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษ ไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจําเลยไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี